จับตา กกพ. เคาะสูตรค่าเอฟทีใหม่ในสัปดาห์นี้ เอกชนขู่ขึ้นราคาสินค้า

กกพ.มึน เร่งพิจารณาเคาะสูตรค่าเอฟทีใหม่ คาดชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ ด้านเอกชนขู่พร้อมปรับราคาสินค้าขึ้น 5-12%

14 ธ.ค. 2565 – รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าภายในสัปดาห์นี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะสรุปสูตรอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) งวดใหม่เดือนม.ค.-เม.ย.2566 อย่างเป็นทางการ เบื้องต้นอัตราเอฟทีงวดใหม่ ในส่วนของภาคครัวเรือน คาดว่า เป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้นโยบายช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 500 หน่วยต่อเดือนให้จ่ายค่าไฟราคาเดิมเท่างวดปัจจุบัน 4.72 บาทต่อหน่วย

ส่วนของภาคอุตสาหกรรม อาจต้องปรับขึ้นสูงเกินกว่า 5 บาท/หน่วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุตัวเลขอย่างชัดเจนได้ เนื่องจาก กกพ.อยู่ระหว่างรอ ปตท. สรุปตัวเลขการคิดราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) สำหรับโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (เอสพีพี) รวมทั้งการพิจารณาจ่ายหนี้ให้กับ กฟผ. จำนวน 1.2 แสนล้านบาทว่า จะมีแนวทางการจ่ายอย่างไร

“หากได้ข้อสรุป 2 ประเด็นนี้ จึงจะประกาศค่าเอฟทีงวดใหม่อย่างเป็นทางการได้ ส่วนอีกแนวทางหนึ่งจะขอความร่วมมือให้ ปตท.ลดการจ่ายก๊าซเข้าโรงแยกก๊าซให้มาป้อนในโรงไฟฟ้าก่อน ยังไม่รู้ว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่”แหล่งข่าว กล่าว

อย่างไรก็ตามขณะนี้ กฟผ.แบกรับภาระไว้นานแล้ว จะให้เจ๊งไม่ได้ ต้องดูว่าจะทำอย่างไร ส่วนเรื่องอื่นนิ่งแล้ว ซึ่งเท่าที่ทราบทาง กกพ.หนักใจมากในการพิจารณาค่าเอฟทีงวดใหม่ว่า จะทำอย่างไรให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด ซึ่งในที่ประชุมเคยหารือกันว่า ถ้าตรึงเฉพาะครัวเรือน แล้วไปโป่งเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ทางภาคอุตสาหกรรม ต้นทุนขึ้น ก็ต้องผลักภาระขึ้นราคาสินค้าให้กับผู้บริโภคอยู่ดี สุดท้ายทางผู้บริโภคก็ได้รับผลกระทบอยู่ดี จึงต้องพิจารณาทุกอย่างอย่างรอบด้านให้รอบคอบ

ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าหากรัฐพิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที)งวดเดือนม.ค.-เม.ย.2566 ที่ปัจจุบันส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนอยู่ที่ 4.72 บาท/หน่วย จะกดดันให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าโดยเฉลี่ยราว 5-12% ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ) ที่กำลังย้ายฐานท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย

“ต้องยอมรับว่าปี 2566 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกถดถอยแต่ละประเทศมีการแข่งขันกันสูงขึ้น ทั้งการส่งออก และการดึงดูดการลงทุนที่กำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียน ซึ่งไทยมีจุดเด่นหลายอย่าง แต่ค่าไฟที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับเวียดนามที่มีค่าไฟเพียง 2.88 บาท/หน่วย ส่งผลต่อขีดแข่งขันของไทยยิ่งลดต่ำลงไปอีก โดยจากการพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติพบว่าค่าไฟฟ้าของไทยค่อนข้างสูงและเมื่อต้องเสนอเข้าบอร์ดบริษัทแม่มักจะไม่ผ่านในประเด็นนี้ เป็นปัจจัยบั่นทอนการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติ”นายเกรียงไกร กล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวว่าดังนั้น ภาครัฐต้องทบทวนโครงสร้างพลังงานของไทยใหม่ เพื่อดูแลค่าพลังงานในระยะยาวให้อยู่ในทิศทางที่เหมาะสม ไม่ผลักภาระค่าไฟให้กับภาคอุตสาหกรรมและส่งเสริมให้ครัวเรือนประหยัดไฟฟ้าซึ่งตรงกันข้ามกับไทย

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าส.อ.ท.ขอเสนอให้ภาครัฐชะลอการปรับค่าเอฟทีงวดเดือนม.ค.-เม.ย.2566 ออกไปก่อน และปลดล็อกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินการ เช่น การขอใบอนุญาต รง.4 (กรณีมีการจำหน่ายไฟฟ้าให้ภาครัฐ) การขอใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งโซล่าร์เซลล์ในโรงงานอุตสาหกรรมและภาคบริการ การส่งเสริมการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้รวดเร็วและครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และการเพิ่มสัดส่วนเอทานอลด้วยน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วผสมกับเอทานอล (E20) เป็นต้น

เพิ่มเพื่อน