'แบงก์ชาติ' รับโควิดป่วน-เงินเฟ้อสูงฉุดศักยภาพเศรษฐกิจไทย

“แบงก์ชาติ” รับโควิด-19 ป่วนหนักทำศักยภาพเศรษฐกิจไทยลดลง มองปี 2565 สุดท้าทาย เงินเฟ้อทะยานแรงสุดรอบ 30-40 ปี ดอกเบี้ยขึ้นเร็ว-แรงสุดในรอบ 50 ปี การเงินตึงตัวทั่วโลก ทุบเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ชี้ภาคการท่องเที่ยว-บริโภคยังแกร่ง ช่วยหนุนจีดีพีไทยโตฝ่ามรสุม เคาะปีนี้ที่ 3.2% ส่วนปี 2566 โตแตะ 3.7% ประเมินครึ่งหลังปีหน้าเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่

20 ธ.ค. 2565 – นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าในช่วงหลังศักยภาพของเศรษฐกิจไทยมีการลดลง จากปัจจัยหลักเรื่องโครงสร้างแรงงานและประชากรที่สูงวัย ขณะเดียวกันที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้มีการลงทุนมากเท่าที่ควร ทำให้การยกระดับประสิทธิภาพเศรษฐกิจทำได้ไม่เต็มที่ และยังมีหลายปัจจัยที่เป็นเชิงโครงสร้างที่ต้องจับตาดู และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดช็อกรุนแรง และถือว่ากระทบกับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงนั้น และยังอาจส่งผลระยะยาวต่อศักยภาพในอนาคต

“ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะหลังชะลอลงจากปัจจัยดังกล่าว แต่ภาพรวม ณ ตอนนี้ การขยายตัวยังอยู่ในกรอบ 3-4% ถือว่าเป็นธรรมชาติ โดยปีนี้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 3.2% และปี 2566 ที่ 3.7% ส่วนปี 2567 ที่ 3.9% เป็นช่วงที่ถือวาเติบโตได้เร็วกว่าศักยภาพ แต่ก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับศักยภาพ แต่หลังจากนั้นการเร่งตัวจากปัจจัยสนับสนุนในระยะสั้นจะเริ่มแผ่วลง โดยมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อจะยังไม่ได้เต็มที่จนถึงครึ่งหลังปีหน้า” นายปิติ กล่าว

โดยปี 2565 ถือว่าเป็นปีที่ท้าทายสำหรับเศรษฐกิจโลกและไทย จากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงสุดในรอบ 30-40 ปี และราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัญหาความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นแรงกระแทกด้านอุปทานมาซ้ำเติมเงินเฟ้อ อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยโลกที่ขึ้นเร็วและแรง พร้อมเพียงกันมากสุดในรอบ 50 ปี ควบคู่ไปกับการแข็งค่าของเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่ค่อนข้างเยอะในปีนี้ ก่อนจะอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการตึงตัวของภาวะการเงินทั่วโลก ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกเทียบกับราคานำเข้าลดลงในหลายประเทศ เป็นผลให้อำนาจซื้อลดลง เป็นผลพวงทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากที่สุดตั้งแต่ปี 2550

ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวเป็นบริบทที่ท้าทายสำหรับประเทศไทยที่เพิ่งฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การฟื้นตัวยังเปราะบาง ไม่ทั่วถึง แต่เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง อ่อนไหวค่อนข้างน้อย ปัจจัยทั้งหมดส่งผลให้มีการดำนินนโยบายการเงิน ด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้มาตรการที่เฉพาะเจาะจง และมีการเข้าไปดูแลค่าเงินบ้างบางช่วย ถือเป็นการทำนโยบายการเงินแบบบูรณาการ ประคับประคองให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไปข้างหน้า

นายปิติ กล่าวอีกว่า การจะกลับมาเห็นการดำเนินนโยบายการเงินแบบภาวะปกติ (Policy Normalization) ได้ในช่วงใดนั้น คงยังไม่สามารถเจาะจงได้ เพราะต้องขึ้นกับสถานการณ์ในปี 2566 ด้วย โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า อาจจะเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเข้าใกล้กับจุดที่มีศักยภาพแล้วหรือยัง และเงินเฟ้อไม่ได้สร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจจริงหรือไม่ ซึ่งหากทุกอย่างเข้าสู่ภาวะ Smooth take off ก็ไม่จำเป็นที่แนวนโยบายจะต้องปรับแบบกระชาก หรือเปลี่ยนทิศทาง

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า แรงส่งที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้า คือ ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน หลังจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การจ้างงาน และรายได้ฟื้นตัวดีขึ้น และทั่วถึงมากขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 10.5 ล้านคน ซึ่งเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา เข้ามาแล้ว 9.5 ล้านคน ส่วนปี 2566 เพิ่มเป็น 22 ล้านคน และปี 2567 อยู่ที่ 31.5 ล้านคน โดยภาพรวมอุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวได้ดี ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

“การฟื้นตัวของจีดีพีแทบจะไม่ได้เปลี่ยนจากประมาณการในครั้งก่อน โดยยังคงมองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นกลับไปสู่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปี 2566 และในแง่ของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนนั้น จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดผลกระทบของการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก” นายสักกะภพ กล่าว

นายสักกะภพ กล่าวอีกว่า ในปีนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะอยู่ที่ 6.3% และปี 2566 อยู่ที่ 3% และปี 2567 จะลดลงมาอยู่ที่ 2.1% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 2.6% ส่วนปี 2566 อยู่ที่ 2.5% และปี 2567 ลดลงมาอยู่ที่ 2% โดยอัตราเงินเฟ้อไทยนั้น ได้ผ่านจุดสูงสุดในไตรมาส 3/2565 ไปแล้ว ดังนั้นจะได้เห็นแรงกดดันที่มาจากต้นทุนทยอยลดลง ราคาสินค้าต่าง ๆ ในโลกจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงตลาดแรงงานปรับดีขึ้น ดังนั้นเรื่องแรงกดดันด้านค่าจ้างจึงอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก ขณะที่การกระจายตัวของราคาสินค้าจะแคบลง สะท้อนว่าจำนวนสินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้นจะแคบลง โดยพบว่าในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาราคาสินค้ามีการคงที่ และปรับเพิ่มขึ้นน้อยลง

ด้านนายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ภาพรวมทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อเป็นไปตามที่คาด โดอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะยาวยังยึดเหนี่ยวในกรอบเป้าหมาย ส่วนการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อ โดยทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไป ยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก

ขณะที่ภาพรวมหนี้เสีย (NPL) ในไตรมาส 3/2565 ลดลงทั้งในส่วนของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน โดยในภาคธุรกิจ หนี้เสียลดลงจากทั้งวงเงินสินเชื่อขนาดใหญ่เหลือ 1.9% ขณะที่วงเงินสินเชื่อน้อยกว่า 500 ล้านบาทก็ปรับลดลงมาอยู่ที่ 6% จากเดิมที่ 7% ส่วนรายย่อยและครัวเรือน หนี้เสียลดลงเหลือ 2.6% จากเดิมที่ 2.7% แม้ว่าความเปราะบางจะยังมีอยู่ แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นเป็นลำดับ สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

เพิ่มเพื่อน