'คลัง' ฟุ้งเศรษฐกิจเดือนพ.ย.แจ่มอานิสงส์ท่องเที่ยวหนุน

“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย. 2565 ยังแจ่ม อานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้นช่วยดันสุดพลัง ต่างชาติแห่เข้าไทยพุ่งทะยาน 1,815.9% ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคขยับต่อเนื่อง 6 เดือนติด หลังมั่นใจเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง-ทิศทางราคาสินค้าและค่าครองชีพลดลง ส่งออกโตแผ่ว -6% เหตุอุปสงค์ประเทศคู่ค้าชะลอ

30 ธ.ค. 2565 – นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ย. 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทย กว่า 1.75 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัว 1,815.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย อินเดีย รัสเซีย สิงคโปร์และเกาหลีใต้ และผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย กว่า 19.1 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัว 69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 47.9 จากระดับ 46.1 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงทิศทางราคาสินค้าและค่าครองชีพมีแนวโน้มลดลง

สำหรับภาพรวมการลงทุนภาคเอกชน ยังทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชน ในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -2.2% ส่วนหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -3.9% ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 5.4% สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 22,308.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -6.0% เนื่องจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าชะลอลง ส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยลดลง
ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่ยังขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัว 43.4%, ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป ขยายตัว 20.9% และเครื่องดื่ม ขยายตัว7.1% รวมทั้งสินค้าเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบที่ขยายตัว และเมื่อจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงตามอุปสงค์ที่ชะลอตัวของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี ตลาดที่ยังคงขยายตัว ได้แก่ สหราชอาณาจักร ขยายตัว 22.2%, ตะวันออกกลาง ขยายตัว 13.8%, ลาตินอเมริกา ขยายตัว 7.1% สหภาพยุโรป ขยายตัว 3.2% และสหรัฐฯ ขยายตัว 1.2%

ในส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่2.4% ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 93.5 จากระดับ 93.1 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศตามการขยายตัวของการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อการผลิตและส่งออกสินค้าในระยะต่อไป ขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -5.6%

นายวุฒิพงศ์ กล่าวอีกว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยปัจจัยกดดันจากระดับราคาสินค้าเริ่มปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย. 2565 อยู่ที่ 5.55% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 3.22% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2565 อยู่ที่ 60.60% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ ในเดือน พ.ย. 2565 อยู่ที่ 0.62% ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด ขณะที่เสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2565 อยู่ในระดับสูงที่ 210.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เพิ่มเพื่อน