‘เอ็กซิมแบงก์’ อวดผลงานไตรมาส 1 กำไร 305 ล้าน ปล่อยกู้ใหม่กระฉูด

“เอ็กซิมแบงก์” อวดผลดำเนินงานไตรมาส 1/2566 กวาดกำไร 305 ล้านบาท ฟุ้งอนุมัติสินเชื่อใหม่แตะ 1 หมื่นล้านบาท ลุยอุ้มเอสเอ็มอีเต็มสูบ สำรองแน่นปึ๊ก 1.3 หมื่นล้านบาท

3 พ.ค. 2566 – นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในช่วง 3 เดือนแรกปี 2566 (ม.ค.-มี.ค.) ว่า มีวงเงินอนุมัติสินเชื่อใหม่ 10,252 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) 4,022 ล้านบาท และมีสินเชื่อคงค้าง 161,568 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  10,947 ล้านบาท หรือ 7.27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการลงทุน 119,018 ล้านบาท และยอดคงค้างสินเชื่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 42,992 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 27% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด

นอกจากนี้ ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2566 เอ็กซิมแบงก์มียอดคงค้างสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศทั้งสิ้น 60,759 ล้านบาท โดยจำแนกเป็นสินเชื่อคงค้างในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) และ New Frontiers ซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่เอ็กซิมแบงก์ให้การสนับสนุน จำนวน 50,182 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 31% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด ขณะเดียวกันยังมีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 50,342 ล้านบาท

ทั้งนี้จากการมุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการไทยทั้งด้านสินเชื่อและประกัน ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2566 เอ็กซิมแบงก์มีจำนวนลูกค้า 6,191 ราย เพิ่มขึ้นถึง 23.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นลูกค้าเอสเอ็มอีมากถึง 83.91% โดยธนาคารได้ร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดตัวสินเชื่อ One SMEs เงินทุนหมุนเวียนทั้งก่อนและหลังการส่งออก เพื่อลดระยะเวลาการทำสินเชื่อเอสเอ็มอี และคลินิก EXIM เพื่อคนตัวเล็ก โดยมีผู้เข้ารับคำปรึกษาจำนวน 670 ราย และยังออกสินเชื่อ EXIM Green Start พัฒนาธุรกิจที่เป็นมิตรและใส่ใจในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2566 เอ็กซิมแบงก์ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการ 24,000 ราย ด้วยวงเงินรวมกว่า 91,200 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ธนาคารมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) จำนวน 5,168 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2566 เท่ากับ 3.20% และมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) 13,151 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 254.45% ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2566 เอ็กซิมแบงก์มีกำไรก่อนสำรอง 678 ล้านบาท และกำไรสุทธิเท่ากับ 305 ล้านบาท

“ในปี 2566 เอ็กซิมแบงก์ยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve และ BCG Economy) สอดรับกับนโยบายรัฐบาลและมาตรฐานสากล ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการและขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนต่อไป” นายรักษ์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เอ็กซิมแบงก์' โชว์ปล่อยกู้ทุบสถิติ

“เอ็กซิมแบงก์” อวดผลงานปี 66 ปล่อยสินเชื่อใหม่พุ่ง 7 หมื่นล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โกยกำไร456 ล้านบาท ปี 67ปักธงภารกิจพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน เดินหน้า Green Development Bank

'วัชระ 'จี้ 'เศรษฐา' ทวงหนี้ 'ทักษิณ' ตามคำพิพากษาคดีเอ็กซิมแบงก์ 4,000 ล้าน

นายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่าได้ส่งหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เรื่อง ขอทราบผลการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

EXIM BANK แกร่ง ฟิทช์ คงอันดับเรทติ้งส์ในประเทศที่ AAA

EXIM BANK โชว์สถานะทางการเงินแข็งแกร่ง คงอันดับเครดิตภายในประเทศระดับ AAA(tha) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 18 และคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BBB+’ เท่ากับประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 11

EXIM BANK ชะลอปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ถึง 17 เม.ย. นี้

EXIM BANK ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นของขวัญปีใหม่ไทยแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs โดยมีกำหนดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าทั่วไปและ SMEs เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR ของธนาคารพาณิชย์ จาก 6.00% ต่อปี เป็น 6.25% ต่อปี ซึ่งยังคงเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ มีผลตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2566 เป็นต้นไป