รถไฟฟ้า “แอร์พอร์ตลิงก์” ขาดทุนเดือนละ 70 ล้าน ผู้โดยสารกลับมา 1.8 ล้านคน/เดือน ชี้ยังไม่ได้โอนสิทธิให้เอกชน แค่เข้ามาบริหาร เก็บรายได้ส่ง รฟท. พร้อมจ่ายดอกเบี้ยค่าโอนสิทธิฯ จนกว่าจะแก้สัญญาร่วมลงทุน จี้ “เอเชีย เอรา วัน” แก้ไขงานบริการ
26 พ.ค. 2566 – นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟท. ยังไม่ได้โอนสิทธิบริหารโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ให้กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด(กลุ่มซีพี) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) เนื่องจากต้องรอให้แก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ และชำระค่าสิทธิโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ประมาณ 10,671 ล้านบาทให้ รฟท. ก่อน ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทฯ เข้ามาเป็นผู้เดินรถรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และเก็บรายได้ที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว ส่งให้ รฟท. ตามบันทึกความเข้าใจ(MOU) ระหว่าง รฟท. และบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯ ได้ยื่นข้อเสนอขอเยียวยาไว้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า เดิมบริษัทฯ ต้องชำระค่าสิทธิบริหารโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ทั้งหมดประมาณ 10,671 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ต.ค.2564 แต่บริษัทฯ ได้ยื่นข้อเสนอขอผ่อนผันการชำระเงินค่าสิทธิบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และปรับรูปแบบการชำระจากเดิมต้องชำระทั้งหมด เป็นแบ่งจ่ายรายงวด ซึ่งหากจะจ่ายตามนี้ได้ก็ต้องให้มีการแก้ไขสัญญาก่อน อย่างไรก็ตามทุกวันนี้แม้บริษัทฯ จะยังไม่ได้ชำระค่าสิทธิฯ ให้กับ รฟท. แต่บริษัทฯ ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยของค่าสิทธิฯ 10,671 ล้านบาทที่ รฟท. ต้องได้รับทุกเดือนให้กับ รฟท. ด้วย ซึ่งบริษัทฯ ก็จ่ายให้อยู่
นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ขาดทุนอยู่เดือนละประมาณ 70 ล้านบาท ซึ่งเอกชนก็ต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ไป เช่น ได้รายได้ 100 บาท แต่มีต้นทุน 170 บาท ทางเอกชนก็ต้องจ่ายส่วนที่เกินไป 70 บาทเอง แต่หากมีกำไรก็ต้องส่งให้ รฟท. อย่างไรก็ตามขณะนี้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ อยู่ที่เดือนละประมาณ 1.87 ล้านคน ขณะที่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ปี 2562 ผู้โดยสารอยู่ที่เดือนละประมาณ 2.5 ล้านคน อย่างไรก็ตามยอมรับว่าในช่วงที่ยังไม่ได้โอนสิทธิรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้เอกชน ได้รับเสียงร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับงานบริการค่อนข้างมาก อาทิ แอร์ไม่เย็น ผู้โดยสารหนาแน่น และรอรถไฟฟ้านาน ซึ่งได้มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องของ รฟท. ลงไปตรวจสอบ และหารือกับทางบริษัทฯ เพื่อให้เร่งปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ
รายงานข่าวแจ้งว่า รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดให้บริการมาแล้วเป็นปีที่ 13 ให้บริการเดินรถตั้งแต่เวลา 05.30 – 24.00 น. วันจันทร์-ศุกร์ ให้บริการ 4,729 เที่ยวต่อเดือน และวันเสาร์-อาทิตย์ ให้บริการ 1,564 เที่ยวต่อเดือน โดยสถานีพญาไท มีผู้ใช้บริการสูงสุด 4.12 แสนคนต่อเดือน รองลงมาคือ สถานีมักกะสัน 3.47 แสนคนต่อเดือน, สถานีสุวรรณภูมิ 3.08 แสนคนต่อเดือน, สถานีลาดกระบัง 2.82 แสนคนต่อเดือน, สถานีรามคำแหง 1.81 แสนคนต่อเดือน, สถานีหัวหมาก 1.47 แสนคนต่อเดือน, สถานีราชปรารภ 1.08 แสนคนต่อเดือน และสถานีบ้านทับช้าง 9.13 หมื่นคนต่อเดือน
ทั้งนี้เมื่อปี 2563 ถือเป็นปีแรกที่ผลการดำเนินงานไม่ขาดทุน จากปกติจะขาดทุนประมาณปีละ 100-200 ล้านบาท จนกระทั่งปลายปี 2564 บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้เข้ามาทำหน้าที่เดินรถแทนบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด(รฟฟท.) ที่ไปเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง และในปี 2565 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ขาดทุนเดือนละประมาณ 70 ล้านบาท หรือประมาณ 840 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บีเจซี เผยผลประกอบการไตรมาส 2/67 ดันรายได้รวมเติบโตทะลุ 43,085 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานเติบโตกว่า 15%
บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยรายได้รวมในไตรมาส 2/67 เท่ากับ 43,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 257 ล้านบาทจากปีก่อน
บจ. มีผลประกอบการในไตรมาส 2 ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและธุรกิจน้ำมัน
บริษัทจดทะเบียน (บจ.) รายงานผลการดำเนินงานงวดหกเดือนแรกปี 2567 มีรายได้และกำไรสุทธิเติบโต ขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยวที่สร้างมูลค่าเพิ่มไปสู่ธุรกิจภาคบริการ อุปโภคบริโภค อีกทั้งกลุ่มธุรกิจน้ำมันได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น
ปตท.โกยกำไรครึ่งปี 6.4 หมื่นล้านบาท โต 34%
ปตท.โกยกำไรครึ่งปี 6.4 หมื่นล้านบาท โต 34% สะท้อนกลุ่มปิโตรเคมี-การกลั่นน้ำมันโต จับตาปรับแผนธุรกิจ ส่งอินโนบิก หาพาทเนอร์ร่วมทุน พร้อมเขย่ากลุ่มอีวี มุ่งเน้นการพัฒนาสถานีชาร์จเป็นหลัก ลั่นสิ้นปีนี้เห็นเงินลงทุน 5 ปี
'ถิรไทย' โตสวนกระแส กำไรสุทธิพุ่ง 247.14%
ถิรไทย เผยผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2567 มีกำไรสุทธิสำหรับผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 149.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 210 ล้านบาท หรือร้อยละ 247.14%