ธ.ก.ส.ปักธงกดหนี้เน่าไม่เกิน 5.5% เตรียมชงรัฐบาลใหม่อุ้มเกษตรกร

“ธ.ก.ส.” เร่งสางหนี้เสีย ปักธงปีนี้กดเหลือไม่เกิน 5.5% พร้อมชงรัฐบาลใหม่ดูแลเกษตรกรอ่วมภัยแล้ง-น้ำท่วม ผุดคาร์บอนเครดิตฟาร์มขนาดใหญ่ของประเทศ

2 ก.ค. 2566 – นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า สถานการณ์หนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ของธนาคารในปัจจุบันมีแนวโน้มทรงตัว โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการธนาคารและฝ่ายจัดการหนี้ มีเป้าหมายร่วมกันว่าจะดูแลหนี้เสียสิ้นปี 2566 ได้ในระดับไม่เกิน 5.5% จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 8% โดยจะพยายามบริหารจัดการในแต่ละเดือนให้อยู่ในระดับ บวกลบ 0.5% โดยหนี้เสียในระดับ 5.5% ถือว่าปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ที่ระดับ 7% และดีกว่าช่วงกลางปี 2565 ที่ขึ้นไปสูงเกิน 10%

ทั้งนี้ หนี้เสียของธนาคารสอดรับกับลูกค้า ที่เมื่อมีการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว จะมีการชำระหนี้คืนเป็นรอบการผลิต ทำให้หนี้เสียมาเป็นคลื่น โดยปี 2565 หนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลมาจากนโยบายการพักหนี้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยการจะทำให้หนี้เสียปรับลดลงมาได้ ก็มีทั้งการเร่งปล่อยสินเชื่อเพิ่ม และแก้ปัญหาหนี้เสียที่มีอยู่เดิมไม่ให้เพิ่มขึ้นอีก

นายฉัตรชัย กล่าวถึงแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้นว่า ธนาคารเพิ่งมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้เป็นครั้งแรก เนื่องจากดอกเบี้ยของธนาคาร มีความห่างกับธนาคารพาณิชย์ ทำให้ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลสภาพคล่อง ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้กระทบลูกค้า เนื่องจากวงเงินกู้ลูกค้าไม่ได้สูงมากเฉลี่ยอยู่ที่ 3- 5 แสนบาทต่อราย ภาระการผ่อนชำระเงินงวดขึ้นไม่ได้ปรับสูงมาก ก็จะพยายามตรึงดอกเบี้ยไว้ให้ได้นานที่สุด ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยก็ถือว่าต่ำที่สุดในระบบแล้ว

อย่างไรก็ดี ธนาคารเตรียมเสนอมาตรการให้รัฐบาลใหม่ ในการดูแลเกษตรกรทั้งจากปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วม ซึ่งต้องเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า ทั้งเรื่องประกันราคาพืชผล และมาตรการช่วยเหลือซึ่งอยู่ในมาตรการปกติของธนาคาร แต่อาจจะต้องส่งเสริมภาคเกษตรในโรงเรือนปิด และสนับสนุนให้เกิดการใช้โซลาร์เซลล์ เป็นมาตรการเสริมเข้าไป

นอกจากนี้ ยังเตรียมมาตรการส่งเสริมเกษตรกร ผ่านสินเชื่อคาร์บอนเครดิต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมรวบรวมลูกค้าที่ดูแล เป็นไปตามแผน net zero carbon ของธนาคาร โดยล็อตแรกจะผลิตได้เดือน ส.ค.นี้ จำนวน 150 ตัน รายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต 70-80% เป็นรายได้เกษตรกร อีก 20-30% เป็นรายได้ของธนาคาร ถือเป็นช่องทางการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรนอกเหนือจากรายได้จากการเพาะปลูกผลผลิต ซึ่งตามแผนมีจำนวน 2 ชุมชน 450 ตันที่จะเข้าโครงการก่อน และมีอีก 17 ชุมชน กำลังผลิต 2,500 ตันต่อปี เมื่อรวมกับธนาคารต้นไม้ ก็จะเป็นคาร์บอนเครดิตฟาร์มขนาดใหญ่ของประเทศ

สำหรับผลการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ปีบัญชี 2565 (1 เม.ย.65 ถึง 31 มี.ค.66) ธนาคารได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคชนบทระหว่างปี 878,338 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อสะสมคงเหลือ 1,636,778 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชี 30,509 ล้านบาท ยอดเงินฝากสะสม 1,829,549 ล้านบาท มีสินทรัพย์ 2,262,121 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.15% หนี้สินรวม 2,109,120 ล้านบาท และส่วนของเจ้าของ 153,001 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.15% และมีกำไรสุทธิ 7,989 ล้านบาท ขณะที่หนี้เสียอยู่ที่ 7.68%

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดิจิทัลวอลเล็ตส่อขัดรธน.! อดีตรมว.คลังแนะกฤษฎีกาตีความ รัฐบาลล้วงงบฯจากปี67ด้วย

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์

มือปราบโกงจำนำข้าว ปล่อยคลิปเตือน 'ผู้บริหาร ธ.ก.ส.' เสี่ยงคุกเซ่นดิจิทัลวอลเล็ต!

ผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

'ธ.ก.ส.' ขยับ! ประกาศชี้แจง แหล่งที่มางบประมาณ 'โครงการดิจิทัลวอลเล็ต'

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกคำประกาศชี้แจงว่า ธ.ก.ส. เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีวัตถุประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตร ภายใต้กรอบ พ.ร.บ. ธ.ก.ส.