“ธปท.” กางผลงานแบงก์พาณิชย์ไตรมาส 2/2566 โกยกำไร 7.4 หมื่นล้านบาท เฮ! รายได้จากดอกเบี้ยพุ่ง โอดสินเชื่ออืด ติดลบ 0.4% หนี้เสียลดลงเหลือ 4.9 แสนล้านบาท ชี้หนี้ stage 2 ขยับ จับตาหนี้เสียสินเชื่อรถยนต์ปะทุ
23 ส.ค. 2566 – นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/2566 หดตัวเล็กน้อยที่ ติดลบ 0.4% โดยเป็นการขยายตัวติดลบครั้งแรกหลังจากวิกฤติโควิด-19 จากการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจ หลังเร่งขยายตัวต่อเนื่องในช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะสินเชื่อเอสเอ็มอี รวมซอฟท์โลน และภาครัฐ ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนหนึ่งระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ ประกอบกับมีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์ โดยสินเชื่อยังขยายตัวได้จากธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่ม holding รวมถึงสินเชื่อรายย่อยพอร์ตที่อยู่อาศัยและพอร์ตส่วนบุคคลเป็นสำคัญ อีกส่วนหนึ่งเป็นการโอนพอร์ตสินเชื่อไปยังบริษัทลูกในกลุ่มตามแผนการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์บางแห่ง หากบวกกลับส่วนที่โอนออก สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ยังขยายตัว 0.4% ขณะที่การปล่อยสินเชื่อใหม่ยังปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ด้านคุณภาพสินเชื่อด้อยลงเล็กน้อย ในสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยธนาคารพาณิชย์บริหารจัดการคุณภาพหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan: NPL หรือ stage 3) ไตรมาส 2/2566 ลดลงมาอยู่ที่ 4.92 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.67%ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (significant increase in credit risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 6.08%ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 6.00% จากสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อเอสเอ็มอีที่เพิ่มขึ้น และสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ ที่เพิ่มขึ้นเป็น 14.39% จากก่อนหน้านี้ที่ 13.85% ขณะที่สินเชื่ออื่น ๆ เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลมีการปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ จะมีการทยอยปรับมาตรการ minimum payment ของบัตรเครดิตเข้าสู่ภาวะปกติ โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 ลูกหนี้บัตรเครดิตจะต้องผ่อนชำระค่างวดเพิ่มขึ้นเป็น 8% จากปัจจุบันมีการปรับลดลงมาอยู่ที่ 5% และในปี 2568 จะปรับเพิ่มเป็น 10% ตามลำดับ แม้ลูกหนี้ต้องผ่อนชำระค่างวดมากขึ้น แต่สามารถนำค่างวดไปตัดชำระเงินต้นได้มากขึ้น จึงทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและสามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น
โดย ธปท. ได้ให้สถาบันการเงินเร่งสื่อสารการปรับเกณฑ์ดังกล่าวกับลูกค้า และเตรียมการดูแลลูกหนี้ที่ไม่สามารถปรับเพิ่มอัตราการจ่ายได้ เช่น การโอนเปลี่ยนประเภทหนี้เป็นเทอมโลน และกำหนดงวดการจ่ายให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ ส่วนลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนุบคคลที่ไม่มีหลักประกันและเป็นหนี้เสียค้างชำระเกินกว่า 120 วัน ก็สามารถเข้าร่วมคลินิกแก้หนี้ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้ภาระรายเดือนอยู่ในระดับที่สามารถชำระคืนได้
นางสาวอัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2566ของธนาคารพาณิชย์ปรับดีขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่7.4 หมื่นล้านบาทเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น แม้ต้นทุนทางการเงินปรับเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินรับฝากและ FIDF Fee กลับสู่ระดับปกติ รวมถึงค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายสำรองที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากเทียบไตรมาสก่อน กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้น จากรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาล และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเป็นสำคัญ
สำหรับอัตราการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจ หดตัว 1.5% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภค ขยายตัวที่ 1.9% ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลยังขยายตัวได้ดี ที่ 4.1% สินเชื่อที่อยู่อาศัย ขยายตัว 2.8% อยู่ในระดับทรงตัว ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิต ขยายตัวชะลอลงที่ 4.4% และสินเชื่อรถยนต์ ยังมีการขยายตัวในระดับต่ำ ที่ 1.6% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
“สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อในไตรมาส 2/2566 ที่ 2.67% นั้น หลัก ๆ มาจากหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอี และหนี้เสียของสินเชื่อรถยนต์ที่ปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.89% เป็น 2.05% ขณะที่หนี้เสียในสินเชื่อบัตรเครดิตปรับลดลงมาระดับหนึ่ง จาก 3.11% เหลือ 2.98%” นางสาวอัจจนา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของเอสเอ็มอีและครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ฟื้นตัวช้า โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในไตรมาส 1/2566 ลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ 90.6% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อจีดีพีปรับลดลงต่อเนื่อง และความสามารถในการทำกำไรปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากภาคการผลิต โดยต้องติดตามความเสี่ยงจากภาคการส่งออกที่ชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก ภาคการท่องเที่ยวที่ต้องมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และภาคก่อสร้างที่ต้องติดตามนโยบายของภาครัฐ
อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง แม้มาตรการแก้หนี้ระยะยาวในช่วงโควิด-19จะสิ้นสุดในสิ้นปี 2566 ลูกหนี้ที่มีปัญหายังสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนที่สิ้นสุดเป็นเรื่องการผ่อนปรนหลักเกณฑ์กำกับดูแลเพื่อลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงินเท่านั้น
โดย ธปท. จะเร่งออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำอย่างครบวงจรและถูกหลักการไม่เพิ่มภาระลูกหนี้ในระยะยาวโดยมาตรการที่จะบังคับใช้ในปี 2567 คือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม(responsible lending) ซึ่งภายในสิ้นเดือนหนี้ หรือต้นเดือนหน้าจะมีการออกหลักเกณฑ์เต็มรูปแบบเพื่อขอรับฟังความคิดเห็นที่รวมถึงการดูแลหนี้เรื้อรัง (persistent debt) ตลอดจนมาตรการอื่น ๆ ที่ ธปท. จะดำเนินการในระยะต่อไปทั้งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk-based pricing: RBP) และการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) ซึ่งจะทยอยรับฟังความคิดเห็นในไตรมาส 3/2566
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เชิญชวนประชาชน ร่วมโครงการ 'คุณสู้ เราช่วย' เปิด 5 ขั้นตอนง่ายๆ ลงทะเบียน
รัฐบาล เชิญชวนประชาชน ร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” พร้อมเปิด 5 ขั้นตอนง่ายๆ เพื่อลงทะเบียน ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ
'ธีระชัย' ไขปมคุณสมบัติ 'กิตติรัตน์'
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)