หนาวทั้งบาง! ดร.นงนุชเผยผู้ผลิตรถ EV จำนวนมากกำลังล้มละลาย

ดร.นงนุชเผยผู้ผลิตรถ EV ในจีนกำลังล้มละลาย คาดจะส่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอื่นๆ และอาจกระทบถึงแผนการพัฒนาธุรกิจภายในเขตอีอีซีที่ตั้งความหวังว่าผู้ผลิตจากจีนจะมาสร้างฐานการผลิตในไทย

24 ส.ค.2566 - รศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลังและภาษี มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม เทรนต์ ประเทศอังกฤษ และ Visiting Academic, School of Electronics & Computer Science, University of Southampton ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ทีมยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารกรุงไทย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “ผู้ผลิต EV จำนวนมากกำลังทยอยล้มละลาย” พร้อมรูประบุว่า ประเทศจีนเป็นตลาดยานพาหนะไฟฟ้า (Electrical vehicles: EV) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มียอดขาย 5.9 ล้านคัน ในปี 2565 (คิดเป็นร้อยละ 59 ของยอดขาย EV รวมทั่วโลก)

และจีนยังมีตลาด EV ที่มีการเติบโตสูง โดยมีการคาดว่าจะมีรถยนต์ในจีนที่เป็น EV เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 25% ภายในปี 2568

ที่จีนกลายเป็นเจ้าตลาด ไม่ใช่เรื่องบังเอิญค่ะ แต่เพราะผู้ผลิตได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในช่วงปี 2553-2563 (รวม 11 ปี) เม็ดเงินสนับสนุนรวมกว่า 152 พันล้านหยวน ทำให้ในปี 2561 มีผู้ผลิตถึง 487 ราย
ดูเหมือนว่าจะดีนะคะ รัฐสนับสนุน ผู้ผลิตเยอะขึ้น แต่.....แทนที่เม็ดเงินนี้จะถูกนำไปพัฒนาเทคโนโลยีและคุณภาพสินค้า กลับเป็นการทำให้ผู้ผลิตจำนวนมากผลิตเอาปริมาณด้วยต้นทุนต่ำ

เมื่อมีผู้ผลิตผู้ขายมากขึ้นในตลาด การแข่งขันย่อมเกิดขึ้น แต่แทนที่จะแข่งกันพัฒนาคุณภาพ กลับแข่งกันด้วยการลดราคาลง เพื่อทำกำไรจากปริมาณขาย ส่งผลให้ธุรกิจและตลาดในจีนขาดความยั่งยืน

เมื่อรัฐบาลจีนยกเลิกการสนับสนุน ผู้ผลิต EV ร่วม 400 รายในจีนก็ทยอยล้มละลาย เพราะต้นทุนที่สูงขึ้น ดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาที่ต่ำ ทำให้หลายบริษัทเลือกที่จะหยุดการผลิตเพื่อ stop loss หรือหยุดการขาดทุน

เมื่อหยุดการผลิต order สั่งซื้อรถยนต์ไฟฟ้าหลายพันคันก็ไม่สามารถจัดส่งได้ กลายเป็นรถที่ประกอบไม่เสร็จวางเรียงกัน เงินรายได้ที่จะได้จากการขายก็ไม่มี .... ก็ไม่น่าแปลกใจ ที่จะทยอยกันล้มหายตายจากไป โดยเฉพาะผู้ผลิตที่ไม่ใช่ top 10

ผู้ผลิตที่ยื่นล้มละลายไปแล้วในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีจำนวนมาก ขอยกมาเฉพาะที่ออกข่าวนะคะ
- เดือนสิงหาคม 2565 Yangtze River Automobile Group ผู้ผลิตรถ EV และบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท DIDi และบริษัท Li Auto ยื่นล้มละลาย
- เดือนมีนาคม 2566 บริษัท Letin ผู้ผลิตรถ EV ในจีนล้มละลาย
- เดือนพฤษภาคม 2566 มีข่าวว่าบริษัท WM Motor, Aiways Holdings และ Enovate Motors ต่างหยุดการผลิต มีการจ่ายเงินเดือนพนักงานล่าช้า และปิดโชว์รูม
- เดือนมิถุนายน 2566 ผู้ผลิตอีกหลายรายยื่นล้มละลาย ได้แก่ Nanjing Zhixing New Energy Vehicle Technology Development Co., Ltd., และ Nanjing Zhixing Electric Vehicle Co., Ltd.) และ Byton (โดย Byton มีสัญญาณว่าประสบปัญหาทางการเงินตั้งแต่ที่มีการจ่ายเงินเดือนพนักงานล่าช้าเมื่อปลายปี 2564)
- เดือนกรกฎาคม 2566 Singulato Motor ยื่นล้มละลาย

สาเหตุสำคัญของการขาดทุนของผู้ผลิต คืออะไร???
1.ตลาดนี้มีผู้ผลิตมากขึ้น แค่ภายในประเทศจีนเอง ก็มีผู้ผลิตราว 500 ราย ทำให้มีการแข่งขันมากขึ้น เกิดสงครามราคาทั้งจากบริษัทคู่แข่งร่วมชาติ อย่าง BYD, Nio และ Li Auto และคู่แข่งต่างชาติ เช่น Tesla

2.เศรษฐกิจแม้จะมีการฟื้นตัวหลังการระบาดของโควิด-19 แต่ก็มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำและมีความผันผวน ทำให้ผู้บริโภคลังเลที่จะใช้จ่ายเงินไปกับสินค้าราคาสูงอย่างรถยนต์ไฟฟ้า

3.ธุรกิจนี้ต้องใข้เม็ดเงินลงทุนที่สูง เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและคุณภาพของรถ เมื่อผู้ผลิตส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก คุณภาพของสินค้าที่พัฒนาได้อย่างจำกัดและภาวะการแข่งขันทางราคาในตลาดจีน ทำให้เกิดการเร่งขายสินค้าด้วยราคาต่ำ ส่งผลให้ผู้ผลิตที่มีความสามารถในการแข่งขันต่ำกว่าประสบกับภาวะขาดทุน และสำหรับผู้ผลิตที่มีความสามารถในการแข่งขันพอสมควรเอง ก็ผลกำไรที่ทำได้ในปี 2562 – 2565 ต่ำกว่า Tesla

4.ผู้ผลิตขนาดเล็กจำนวนมากต้องอาศัยเงินทุนจากการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์หรือการกู้ยืม รวมไปถึงการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ ธุรกิจจึงขาดความยั่งยืน

5.ผู้ผลิตมีกำลังการผลิตที่จำกัด ทำให้มีการส่งรถไม่ได้ตามออเดอร์ ทำให้สูญเสียความมั่นใจจากผู้ซื้อ

ล่าสุด ผู้ผลิต EV ในอเมริกาเองก็มีการยื่นล้มละลายในเดือนสิงหาคม 2566 เช่น Proterra และ Lordstown Motors

การล้มละลายของผู้ผลิต EV ในจีน และอเมริกา ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอื่นๆ ที่อยู่บน supply chain ความระส่ำระสายทยอยกันล้มละลายของผู้ผลิต EV ในจีน อาจกระทบถึงแผนการพัฒนาธุรกิจภายในเขต EEC ที่ตั้งความหวังว่าผู้ผลิต EV จีนจะมาสร้างฐานการผลิตในไทย

เพราะหากผู้ผลิตรายใหญ่ในจีนเห็นลู่ทางเก็บผู้ผลิตที่ล้มไปมาเป็นฐานการผลิต ก็อาจจะทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่เหล่านี้มีต้นทุนในการขยายการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตของความต้องการในตลาดที่ต่ำกว่า การออกมาสร้างฐานใหม่ ลงทุนสร้างโรงงานใหม่

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อัครเดช' โวนักลงทุนจีนรายใหญ่ด้านพลังงานทางเลือกสนใจลงทุนในไทย

ประธานกมธ.อุตสาหกรรมเผยนักลงทุนจีนรายใหญ่ด้านพลังงานทางเลือกขอเข้าพบ กมธ.แจ้งความประสงค์อยากเข้ามาลงทุนด้านพลังงานทางเลือก ย้ำเป็นโอกาสดีของไทย