เศรษฐกิจโลกกระทบส่งออก ก.ค.ทรุด ติดลบ 6.2%

การส่งออกไทยในเดือนกรกฎาคม 2566 หดตัวมากกว่าคาดการณ์ที่ -6.2%(YoY) โดยเป็นผลจากความต้องการสินค้าของตลาดคู่ค้าสำคัญลดลงเกือบทั้งหมดยกเว้นสหรัฐฯ ที่ขยายตัวได้เล็กน้อย โดยตลาดจีนที่ดูเหมือนว่าการส่งออกผลไม้ยังคงขยายตัว

27 ส.ค. 2566 – ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า แม้ในช่วงที่เหลือของปี 2566 จะมีปัจจัยฐานของปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ แต่จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะตลาดจีนที่เศรษฐกิจอ่อนแอมากกว่าที่คาดการณ์อีกทั้งยังมีปัจจัยท้าทายอื่น ๆ ที่อาจเข้ามากดดันภาพรวมการส่งออกไทย ได้แก่ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ ภัยแล้งที่อาจรุนแรงและยืดเยื้ออาจกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรให้ลดลง และค่าเงินที่ผันผวน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นถึงความเป็นไปได้ที่ภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2566 จะหดตัวเพิ่มขึ้นจาก -1.2% ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า

การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงตอกย้ำแรงกดดันที่มีต่อภาคการส่งออกไทยในเดือนกรกฎาคม 2566 ให้หดตัวมากกว่าคาดการณ์ที่ -6.2%(YoY) โดยเป็นการหดตัว 10 เดือนติดต่อกัน ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกไทยในเดือนนี้มาจากการส่งออกสินค้าในหมวดหมู่เกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมหดตัวทั้งหมด

นอกจากนี้ การส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าสำคัญก็ลดลงเกือบทั้งหมด โดยตลาดจีนแม้การส่งออกสินค้าเกษตรอย่างผลไม้ยังคงขยายตัวได้แต่ก็ชะลอลงจากที่เร่งตัวในเดือนก่อนหน้าขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนมากกว่ายังคงหดตัวลึก เช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าอิเล็ทรอนิกส์ไปตลาดยูโรโซนและญี่ปุ่น เช่น คอมพิวเตอร์ที่หดตัวตามปริมาณความต้องการที่ลดลง และการส่งออกไปตลาดอาเซียนที่หดตัวตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงจากปีก่อนหน้า ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวได้เล็กน้อยโดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอดที่ยังคงเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเซมิคอนดักเตอร์และกระแสลดโลกร้อนอย่างโซลาเซลล์ยังเป็นที่ต้องการ ดังนั้น จึงส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกไทยในช่วง 7 เดือนแรกยังคงหดตัวที่ -5.5%(YoY) และนำเข้าหดตัว -11.1%(YoY) ส่งประเทศไทยยังคงเผชิญกับการขาดดุลทางการค้าที่ -8,285.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้ สำหรับเศรษฐกิจจีนที่เคยถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกในปีนี้ กลับเริ่มส่งสัญญาณสูญเสียโมเมนตัมในการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2566 จนถึงขณะนี้ โดยตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของจีนในเดือนกรกฎาคม 2566 ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตยังคงอยู่ในภาวะหดตัว รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อที่อยู่ในภาวะเงินฝืดต่างสะท้อนภาพเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแรงลง โดยจีนยังคงเผชิญกับหลายปัจจัยท้าทายทั้งภายในประเทศ อาทิ วิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาระหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น และปัจจัยภายนอกประเทศจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจอื่น ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนที่มีการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนในระดับค่อนข้างสูงผ่านทางภาคท่องเที่ยวและการส่งออก โดยข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรของจีน (GACC) เปิดเผยข้อมูลการนำเข้าสินค้าจากภูมิภาคอาเซียนใน 7 เดือนแรกของปี 2566 หดตัว -6.3% เนื่องจากการนำเข้าสินค้าจากตลาดคู่ค้าสำคัญในอาเซียนลดลงเกือบทั้งหมด เช่น ฟิลลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม รวมถึงไทยที่หดตัว -12.7%(YoY) ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2566 การส่งออกไปยังตลาดจีนยังคงมีความท้าทาย ถึงแม้ก่อนหน้านี้มีมุมมองว่าจีนจะเป็นตลาดหลักเดียวที่มีภาพรวมการส่งออกจากไทยเป็นบวกเนื่องจากปัจจัยฐานที่ค่อนข้างต่ำของปีที่แล้วโดยเฉพาะในไตรมาสุดท้ายของปี แต่ด้วยเศรษฐกิจจีนอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับการส่งออกสินค้าในกลุ่มเกษตรโดยเฉพาะผลไม้อย่างทุเรียน มังคุดที่อาจยังเติบโตได้แต่จะชะลอลงเนื่องจากผลผลิตที่อาจลดลงตามฤดูกาลเพาะปลูก จึงทำให้การส่งออกจากไทยไปจีนในปี 2566 มีความเสี่ยงว่าจะหดตัว

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า แม้ในช่วงที่เหลือของปี 2566 จะมีปัจจัยฐานของปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ แต่จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะตลาดจีนที่อุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอมากกว่าที่คาดการณ์ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยท้าทายอื่น ๆ ที่อาจเข้ามากดดันภาพรวมการส่งออกไทย ได้แก่ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ ภัยแล้งที่อาจรุนแรงและยืดเยื้ออาจกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรให้ลดลง และค่าเงินที่ผันผวน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นถึงความเป็นไปได้ที่ภาพรวมการส่งออกไทยในปี 25666 จะหดตัวเพิ่มขึ้นจาก -1.2% ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์วิจัยกสิกร คาดดิจิทัลวอลเล็ต ดันยอดขายค้าปลีกโต 1%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยแพร่บทวิเคราะห์ โครงการ Digital Wallet โดยชี้ จะส่งผลต่อยอดค้าปลีกมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดพื้นที่ และประเภทร้านค้า นอกเหนือจากประเด็นทางด้านกฎหมาย รวมถึงระบบใช้งานของแอปพลิเคชัน ที่ยังต้องรอติดตามว่า จะใช้ที่ไหน อย่างไร? ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ อาจส่งผลต่อร้านค้าปลีก และพฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภคที่ต่างกัน ดังนี้