ธ.ก.ส. เดินหน้าแก้หนี้ให้ลูกค้า ผุดมาตรการมีมากจ่ายมาก มีน้อยจ่ายน้อย

ธ.ก.ส. มุ่งแก้หนี้ครัวเรือนทั้งระบบ ผ่านมาตรการมีน้อยจ่ายน้อย มีมากจ่ายมาก จูงใจการชำระหนี้ด้วยโครงการชำระดีมีโชค การให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการหนี้ผ่านโครงการมีหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. พร้อมเติมทุนผ่านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เผยผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปีบัญชี 66 เติมทุนสู่ภาคชนบทไปแล้วกว่า 7.4 หมื่นล้านบาท

27 ส.ค. 2566 – นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ได้วางนโยบายการขับเคลื่อนงาน ธ.ก.ส. ในการสานต่อเจตนารมณ์ “ธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน” ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและการปรับทิศทางสู่อุตสาหกรรมเกษตร เพื่อสร้างการเติบโตในทุกมิติ พร้อมนำทัพพนักงานกว่า 23,000 คนทั่วประเทศ ก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่เพื่อขับเคลื่อนภารกิจในด้านต่าง ๆ ทำให้ ธ.ก.ส. เป็น Essence of Agriculture [แกนกลางการเกษตร] โดยเริ่มจากการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนในภาคเกษตร ทำให้พี่น้องเกษตรกรก้าวพ้นกับดักหนี้และสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างมั่นคง ผ่านมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในกลุ่มหนี้ที่มีปัญหา โดยใช้ฐานข้อมูลและเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูล การจัดกลุ่มลูกค้า การพัฒนาเครื่องมือและช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น เช่น การชำระหนี้ผ่านแอปพลิเคชัน A-Mobile Plus และ Banking Agent เป็นต้น การจัดทำมาตรการมีมากจ่ายมาก มีน้อยจ่ายน้อย เพื่อรักษาวินัยในการชำระหนี้ ซึ่งภาพรวมจากการใช้มาตรการต่าง ๆ ทำให้อัตราหนี้ที่มีปัญหาลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย ณ 30 มิถุนายน 2566 สามารถลด NPL ได้ 5,105 ล้านบาท โดยมีเกษตรกรที่ได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้ ไปแล้ว จำนวน 184,697 ราย จำนวนต้นเงินคงเป็นหนี้ 78,931 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังจูงใจลูกค้าที่ชำระหนี้ดีด้วยโครงการชำระดีมีโชค โดยลูกค้าที่ชำระหนี้ตรงตามกำหนดเวลา ธนาคารจะนำจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระจริงทุก ๆ 1,000 บาท มอบเป็นสิทธิประโยชน์ในการชิงโชค รางวัลรวมมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 มิถุนายน 2567 จับรางวัลรวม 4 ครั้ง การให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ ทั้งหนี้ในและนอกระบบผ่านโครงการมีหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. โดยสามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้เกษตรกรลูกค้าและบุคคลในครัวเรือนให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบของ ธ.ก.ส. ไปแล้วกว่า 710,123 ราย เป็นเงินกว่า 59,000 ล้านบาท

ในด้านเงินทุน ธ.ก.ส. พร้อมเติมสินเชื่อใหม่ภายใต้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการผลิต พัฒนาคุณภาพและยกระดับผลิตภัณฑ์สู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เช่น สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี สินเชื่อ SME เสริมแกร่ง และสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี เป็นต้น การเข้าไปแก้ไขปัญหา Aging ลูกค้า ธ.ก.ส. ซึ่งมีจำนวนประมาณ 35% ของลูกค้าทั้งหมด โดยจัดทำโครงการสินเชื่อแทนคุณ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่มีหนี้อันเป็นภาระและมีความประสงค์จะโอนทรัพย์สินหลักประกันให้กับทายาท โดยเปิดโอกาสให้ทายาทเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืนและร่วมรักษาทรัพย์สินให้คงอยู่กับครอบครัว ตั้งเป้าทายาทเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 42,000 คน พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ย MRR ให้อยู่ที่ร้อยละ 6.975 ต่อปี ต่อไป แม้ภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาดจะปรับเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากดอกเบี้ยให้กับลูกค้าและสนับสนุนการฟื้นตัวของเกษตรกรรายย่อยหลังสถานการณ์ Covid-19 และวิกฤตเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ในการพัฒนาอาชีพให้กับลูกค้า โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาในการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม การตลาด รวมไปถึงการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการดีไซน์ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับสินค้าทางการเกษตร ควบคู่ไปกับการสร้างวินัยทางการเงินอย่างเป็นระบบด้วยการเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรผู้สูงอายุได้เกษียณอายุอย่างมีคุณภาพ ผ่านการสนับสนุนการออมเงินที่มีคุ้มครองอุบัติเหตุ เช่น เงินฝากสงเคราะห์ชีวิต ธกส รักคุณ เป็นต้น อันเป็นการลดความเสี่ยงในกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันที่อาจส่งผลกระทบต่อรายได้

นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีบัญชี 2566 (เมษายน – มิถุนายน 2566) ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อในภาคการเกษตรไปแล้วจำนวน 74,048 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อสะสมคงเหลือ จำนวน 1,631,268 ล้านบาท ยอดเงินฝากสะสม 1,825,943 ล้านบาท มีสินทรัพย์จำนวน 2,232,021 ล้านบาท หนี้สินรวม 2,080,919 ล้านบาท และส่วนของเจ้าของ 151,102 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ จำนวน 2,065 ล้านบาท ขณะที่ NPL อยู่ที่ร้อยละ 8.07 โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ร้อยละ 12.95 สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด โดยตั้งเป้าในปีบัญชี 2566 ปล่อยสินเชื่อภาคการเกษตรเติบโตเพิ่มขึ้น 85,000 ล้านบาท เงินฝากเพิ่มขึ้น 12,000 ล้านบาท และ ลดหนี้ NPL ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.5 โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงธุรกิจเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต การนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงกระบวนการทำงานแบบ Agile ร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจและเครือข่ายการเกษตร รองรับการเติบโตใหม่ในกลุ่ม Smart Farmer AgriTech และ Startup พร้อมนำจุดแข็งขององค์กรคือ “คนของเรารักลูกค้า” มาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการสร้างคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น (Better Life) สร้างชุมชนไทยให้เข้มแข็ง (Better Community) และสร้างความภาคภูมิใจในอาชีพการเกษตรให้มากยิ่งขึ้น (Better Pride) เพื่อยกระดับชีวิตเกษตรกรไทยสู่สังคมที่ภาคภูมิ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สมชัย' จับตา 'ซุปเปอร์แอป' ถ้าใช้งบทำแล้ว หาแหล่งเงินไม่ได้ จะรับผิดชอบอย่างไร

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต. และอดีต รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ ซุปเปอร์ แอ๊ป นับหนึ่งหรือยัง ว่า

อดีตคน ธกส. เคยร่วมแก้กฎหมาย อธิบายชัดเจน 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์มาตรา 9

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า #เศรษฐาซื้อเวลาเงินหมื่นสุดท้ายทำไม่ได้ แปลกใจไหมครับ ทำไมวันที่นายเศรษฐาแถลงเรื่องดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท

พรรคร่วมฯ เพียงเห็นชอบเชิงหลักการ รัฐบาลเล่นกลแจกเงินหมื่น หาเสียงนิยมให้พท.

'จตุพร' ซัดรัฐบาลเล่นกลซ่อนเจตนากู้เงินแจกหมื่น เชื่อปั่นความหวังเคลมดิจิทัลหาเสียงนิยมให้เพื่อไทย แต่ ปท.ชิบหายแบกหนี้ก้อนโต ชี้พรรคร่วมฯ เพียงเห็นชอบเชิงหลักการเท่านั้น

เย้ยพรรคร่วมรัฐบาล ยืนแถลงหนุน 'ดิจิทัลวอลเล็ต' แค่ลมพัดไหว ไม่มีอะไรในกอไผ่

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต. และอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โพสต์เฟซบุ๊กว่า

'สร.ธกส.' ร่อนหนังสือจี้ 'ผจก.ธกส.' ทำตามข้อเสนอต่อนโยบาย Digital wallet 3 ข้อ

นายประหยัด ธรรมขันธ์ เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทำหนังสือที่๑๓๕/ ๒๕๖๗ ลงวันที่ 18 เมษายน 2567 ถึง ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เรื่อง ข้อเสนอต่อการดำเนินนโยบาย Digital wallet