‘ศักดิ์สยาม’ มั่นใจปี 65 อุตสาหกรรมการการบินฟื้นตัว

“ศักดิ์สยาม” มั่นใจปี65 อุตสาหกรรมการบินฟื้นตัว สั่งเตรียม Action Plan พัฒนาสนามบิน รับผู้โดยสารโตแตะ 200 ล้านในปี 74 ก้าวสู่อันดับ 9 ของโลก-ฮับการบินอาเซียน จ่อชง ครม. ไฟเขียว ทอท.บริหาร3 สนามบิน ม.ค. 65 คาดปีหน้าผู้โดยสารแห่ใช้ 6 สนามบินกว่า 62 ล้านคน

13 ธ.ค.2564-นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายในงานสัมมนาอุตสาหกรรมการบินของไทย ประจำปี 2564 เร่งขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่การบินบริบทใหม่ที่แข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืนว่า ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการบิน มีจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน ซึ่งก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 มีผู้โดยสาร 165 ล้านคนในปี 2562 อากาศยานเข้าออก 1 ล้านเที่ยวบิน และมีการขนส่งสินค้ามากถึง 1.5 ล้านตัน 

นอกจากนี้ สมาคมขนส่งทางอากาศยานระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ยังประเมินการเติบโตด้านการบินในไทย คาดว่าในปี 2574 จะมีผู้โดยสารสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยมีปริมาณการเดินทาง 200 ล้านคนต่อปี ดังนั้นหากไทยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับแนวโน้มการเดินทางที่จะเกิดขึ้นนี้ นับเป็นโอกาสที่จะทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ และเพิ่มขีดความสามารทางการแข่งขัน

“ ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมการบิน คือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางลดลงมากถึง 64% โดยแบ่งเป็นผู้โดยสารต่างชาติลดลงถึง 82% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และลดลงต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเชื่อว่าในปีนี้ไทยจะมีปริมาณผู้โดยสารลดลง 62.7% เมื่อเทียบกับปี 2562”นายศักดิ์สยาม กล่าว

ทั้งนี้ จากนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาลที่เริ่มต้นเมื่อ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยกระทรวงคมนาคมเน้นย้ำมาตรการรองรับการเดินทางควบคู่ตามมาตรฐานของสาธารณสุข ทำให้ผู้โดยสารในเดือน พ.ย.- ธ.ค.2564 เริ่มปรับตัวขึ้น และเชื่อว่าในปี 2565 ปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารจะฟื้นตัวต่อเนื่อง และอาจจะมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ เพราะมีปัจจัยในเรื่องของวัคซีนโควิด-19 ที่มีการพัฒนาอยู่ ท้ายที่สุดจะทำให้โควิดกลายเป็นไข้หวัดที่รักษาหาย และผู้โดยสารเชื่อมั่นกลับมาเดินทาง

“ปีหน้าอาจต้องมีการจัดอีเวนต์นานาชาติ เพื่อให้บุคลการด้านการบินในระดับนานาชาติเข้ามารับทราบข้อมูล ความพร้อมในด้านอุตสาหกรรมการบินของไทย เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และเชื่อมั่น ซึ่งผมอยากทำอีเวนต์ในแบบ Air Show คล้ายกับที่สิงคโปร์จัด อยากให้เห็นว่าไทยเป็นฮับการบินในภูมิภาคอาเซียน ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้”นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม เผยด้วยว่า เพื่อให้อุตสาหกรรมการบินฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ส่วนสำคัญคือผู้ประกอบการทุกภาคส่วนต้องอยู่รอด โดยที่ผ่านมาหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ได้ออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบสายการบิน อาทิ มาตรการลดค่าใช้จ่าย มาตรการทางการเงิน และมาตรการผ่อนคลายกฎระเบียบ โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้ว 3 ระยะ และอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นการจัดทำแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน ปี 2565-2568

สำหรับการพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการระยะที่ 4 นั้น กระทรวงฯ เชื่อว่าการจัดงานสัมมนาอุตสาหกรรมการบินในครั้งนี้ จะเป็นเวทีสะท้อนความต้องการของภาคเอกชนได้เป็นอย่างดี โดยของให้สำนักงานการบินพลเรือแห่งประเทศไทย (กพท.) รวบรวมความเห็นและข้อเสนอของผู้ประกอบการ นำมาเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) เป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการในทุกภาคส่วนและเตรียมความพร้อมรองรับการทำการบินอย่างเต็มรูปแบบเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ

ส่วนความคืบหน้าการให้สิทธิบริหารสนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินกระบี่, สนามบินอุดรธานี และสนามบินบุรีรัมย์ ให้แก่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. นั้นโดยกระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน ม.ค. 2565 โดยในขณะนี้ อยู่ระหว่างประสานกรมธนารักษ์​ พิจารณาเรื่องค่าเช่าพื้นที่ ซึ่งเมื่อมอบสิทธิการบริหารแล้ว ทอท.จะต้องจ่ายให้​กับกรมธนารักษ์ เพราะเดิม ทย.เป็นผู้จ่าย​ รวมถึงการหารือกับกรมบัญชีกลาง ในเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ

ทั้งนี้ คาดว่าจะให้อำนาจการมอบสิทธิบริหารสนามบินดังกล่าว พร้อมทั้งเจรจาและกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในช่วง มี.ค.-ธ.ค. 2565 โดยในระหว่างนี้จนถึง มี.ค. 2565 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ ทย. จะดำเนินการออกใบรับรองการใช้สนามบินทั้ง 3 แห่ง อย่างไรก็ตามมีความเชื่อมั่นในศักยภาพการบริหารงานของ ทอท. และจะสามารถมีผลประกอบการเป็นกำไร

สำหรับการให้สิทธิ ทอท. บริหาร 3 สนามบินของ ทย.นั้น เพื่อเป็นการสร้างโอกาสและพัฒนาศักยภาพความสามารถการเป็นศูนย์การขนส่งผู้โดยสารภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Secondary Hub) เชื่อมต่อโหมดการขนส่งและการเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ อีกทั้ง ยังเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของภาคฯ รวมถึงส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวภายในประเทศและระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน ทย. จะได้รับรายได้ชดเชย เพื่อใช้ปรับปรุงด้านความปลอดภัยและรักษาความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวก และใช้จ่ายในการบริหารจัดการสนามบิน

ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า สำหรับปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการ 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานภูเก็ต, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย โดยในปี 2564 มีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 20 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 9.51 แสนคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 19 ล้านคน ขณะที่ปี 2565 คาดการณ์ว่า จะมีผู้โดยสารใช้บริการ 62 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 26 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 35 ล้านคน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตีแสกหน้า 'ครม.สัญจร' พกข้อมูลไม่ถูกต้องเจื้อยแจ้วนักลงทุนขายฝันแลนด์บริดจ์ 'ฉบับศักดิ์สยาม'  

“ศิริกัญญา” แนะ ’รัฐบาล‘ ลองไปสบตา ปชช.ที่ต้องถูกเวรคืนที่ดินก่อน ค่อยกลับมาทบทวน ‘รื้อรายงาน-คุัมค่าจริงหรือไม่’ หากต้องการเดินหน้าต่อ 

‘ก้าวไกล’ ไม่แตะถึงขั้นยุบ ‘พรรคภูมิใจไทย’ หลัง ‘ศักดิ์สยาม’ พ้นรมต.ปมซุกหุ้น!

รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ7 ต่อ1ให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี จากการถือหุ้นหจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น

'ศักดิ์สยาม' สิ้นความเป็นรมต. 'ศาลรธน.' ชี้ให้นอมินีถือหุ้นบุรีเจริญ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ ลงมติและอ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาล

รัฐบาลฟุ้งเพิ่มขีดความสามารถ 'อุตสาหกรรมการบิน-ท่องเที่ยว'

​โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ สั่งเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว รองรับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวของประเทศตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล