ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเฟดคงดอกเบี้ยที่ 5.25-5.50%

18 ก.ย. 2566 – เฟดมีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC ในวันที่ 19-20 ก.ย. 2566 เพื่อรอดูทิศทางเงินเฟ้อและตลาดแรงงานในระยะข้างหน้า ท่ามกลางเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงแม้จะยังอยู่ในระดับสูงและตลาดแรงงานที่แม้จะค่อนข้างแข็งแกร่งอยู่แต่ก็เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงและกลับสู่จุดสมดุลมากขึ้น ทั้งนี้ ในการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้ จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจและคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า (Fed Dot Plot) ซึ่งคงเป็นประเด็นหลักที่ต้องติดตาม

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเฟดอาจยังคงเปิดโอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งภายในสิ้นปีนี้ แม้ความน่าจะเป็นจะค่อนข้างต่ำ ภายใต้เงื่อนไขหากเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าปรับลดลงช้าและยังอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งหากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงไม่ชะลอตัวลงอย่างที่คาดอย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงให้น้ำหนักมากสุดต่อกรณีเฟดสิ้นสุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในรอบวัฏจักรนี้และคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50% ไปจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย ท่ามกลางทิศทางเงินเฟ้อและตลาดแรงงานที่อ่อนแรงลง ขณะที่ เมื่อมองไปข้างหน้า มีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งปีหลังของปีหน้าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยแม้ว่าตลาดจะมองความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยนั้นลดลง หรือความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีทิศทางสู่ Soft landing นั้นจะมีมากขึ้น อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญในปีหน้าโดยอาจโตต่ำกว่า 1.0% ส่งผลให้เฟดอาจต้องเปลี่ยนมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดี ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าคงขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ออกมาเป็นสำคัญ ซึ่งท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินสหรัฐฯ ค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มที่จะยังเผชิญความผันผวนต่อไปในระยะข้างหน้า โดยหากเฟดเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าคาดหรือคงดอกเบี้ยนโยบายยาวนานกว่าคาด ค่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ฯ ได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์วิจัยกสิกร คาดดิจิทัลวอลเล็ต ดันยอดขายค้าปลีกโต 1%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยแพร่บทวิเคราะห์ โครงการ Digital Wallet โดยชี้ จะส่งผลต่อยอดค้าปลีกมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดพื้นที่ และประเภทร้านค้า นอกเหนือจากประเด็นทางด้านกฎหมาย รวมถึงระบบใช้งานของแอปพลิเคชัน ที่ยังต้องรอติดตามว่า จะใช้ที่ไหน อย่างไร? ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ อาจส่งผลต่อร้านค้าปลีก และพฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภคที่ต่างกัน ดังนี้