คลังเข็น 'ออมสิน' แก้หนี้ครัวเรือน พร้อมแจกการบ้าน กอช. เพิ่มสมาชิกออม

“คลัง” พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เข็น “ออมสิน” นำร่องแก้หนี้เสีย แจกการบ้าน กอช. ปี 2567 เดินหน้าต้อนประชาชนสมัครสมาชิกแตะ 5-6 ล้านราย

31 ต.ค. 2566 – นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.การคลัง กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ตัวเรือนของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีมูลหนี้ราว 15-16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 90 กว่า% ของจีดีพี โดยเป้าหมายของรัฐบาลคือการปรับลดหนี้ครัวเรือนให้ลงมาอยู่ในเกณฑ์วินัยการเงินการคลังที่ดี คือ ไม่ควรเกิน 80% ของจีดีพี ซึ่งแนวทางการแก้ไขเรื่องนี้จะให้ทำในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก่อน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 1.5-1.6 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 10% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด จึงได้มอบหมายให้สถาบันการเงินของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารออมสินเป็นแม่งานในการบริหารจัดการหนี้เสียในส่วนของสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งเชื่อว่าหากสามารถบริหารจัดการตรงนี้ได้ ก็จะทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนทยอยปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ธนาคารออมสิน ดำเนินเป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) กับกลุ่มลูกหนี้ของธนาคารออมสินก่อน ซึ่งพบว่ามีลูกหนี้รายย่อยของธนาคารทยอยเข้าโครงการแล้วกว่า 1.5 หมื่นราย คิดเป็นมูลหนี้ราว 5 พันล้านบาท

“ยอมรับว่าการจะลดหนี้ครัวเรือนลงมาอยู่ที่ 80% ของจีดีพี ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ก็เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลอยากทำให้เกิดเร็วที่สุด โดยการเริ่มจัดการที่กลุ่มหนี้เสียก่อนเพราะทำได้ง่าย ซึ่งได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินเป็นแม่งานหลัก เพราะหนี้เสียในหนี้ครัวเรือนในส่วนของสถาบันการเงินของรัฐนั้น อยู่ที่ออมสินน่าจะเยอะที่สุด โดยอาจจะให้ออมสินเซตเป็นเมนูง่าย ๆ เพื่อให้ลูกหนี้เสียเลือกเข้า ก็จะทำให้การบริหารจัดการทำได้ง่ายและเร็วขึ้น เช่น ถ้าจ่ายหนี้ครั้งเดียวเลยจะได้สิทธิประโยชน์อย่างไร หรือผ่อนชำระจะมีการดำเนินการได้อย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ก็สามารถเข้ามาร่วมได้ ซึ่งหากทุกคนทุกสถาบันการเงินร่วมมือกันก็เชื่อว่าจะทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนลดลงแน่นอน” นายกฤษฎา กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน เร่งหารือเพื่อออกแพคเก็จ เพื่อให้มีเงื่อนไขเดียวกันในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่กลับจากอิสราเอล ในส่วนที่มีหนี้สินกับสถาบันการเงินของรัฐ โดยหลักการของแพคเก็จคือ จะให้มีระยะเวลาปลอดหนี้ยาวนานที่สุด มีระยะเวลาในการผ่อนชำระยาวนานที่สุด และให้มีอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2566 นายกฤษฎา กล่าวภายหลังเป็นประธานในงานมอบรางวัลส่งเสริมการออมกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ยอดเยี่ยม ประจำปี 2566 ว่า ได้มอบเป้าหมายในการเพิ่มสมาชิก กอช. ในปี 2567 ให้ถึง 5-6 ล้านคน จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.5 ล้านคน เพื่อให้ประชาชนได้มีระบบการออมในการดูแลชีวิตหลังเกษียณ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการแก้ไขกฎหมาย กอช. เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เป็นการสร้างแรงจูงใจในการออม โดยสามารถออมขั้นต่ำได้เพียง 50 บาทต่อครั้ง สูงสุด 3 หมื่นบาทต่อปี พร้อมรับเงินสบทบจากรัฐ สูงสุด 100% หรือไม่กิน 1.8 พันบาทต่อปี
“ภาครัฐพยายามผลักดันนโยบายส่งเสริมการออม เพื่อทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยระบบการออมเพื่อการเกษียณในรูปแบบการออมทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ” นายกฤษฎา กล่าว

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ กอช. กล่าวว่า ขณะนี้ กอช. กำลังวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายของกองทุนในระดับจังหวัด แต่ละพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนที่มีสิทธิในการสมัครเป็นสมาชิก กอช. ได้ใช้สิทธิในการรับเงินสมทบเพิ่มเมื่อออมเงินกับ กอช. ซึ่งการดำเนินงานของกองทุน ยังสอดรับกับแผนพัฒนาทักษะทางการเงินปี 2565-2570 เพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนที่ดี ในด้านนโยบายเสริมทักษะ มาตรการทางเศรษฐกิจ “แบบเจาะจง” ตามความเหมาะสมกับปัญหาของพื้นที่ หรือกลุ่มประชาชนหรือที่เรียกว่า Tailor-Made Policy ที่อาศัยประโยชน์จากการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับก็คือ มีระดับทักษะทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างทั่วถึงมากขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'คลัง' ชี้ถึงเวลานโยบายการเงินช่วยบูมศก.

“คลัง” แจงขอไม่ก้าวล่วงหลัง กนง. ยังยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี แต่มองถึงเวลาแล้วที่นโยบายการเงินจะต้องเข้ามาช่วยกัน พร้อมเข็นแพ็คเกจกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ เปิดช่องผู้ประกอบการขอบีโอไอปักหมุดสร้างที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ระบุยังรอ ธปท. ใจอ่อนผ่อนเกณฑ์ LTV สนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์

ttb ห่วงหนี้ครัวเรือนไทยทะลัก 16.9 ล้านล้านในสิ้นปีนี้

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย ณ สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ 91.4% หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท โดยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังคงน่าเป็นห่วงทั้งในมิติของปริมาณการก่อหนี้ที่ไม่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเร็วและคุณภาพหนี้มีแนวโน้มด้อยลง

‘แบงก์ชาติ’ ปูพรมแก้หนี้ครัวเรือนขึงเกณฑ์ตรวจเข้มแบงก์ปล่อยกู้

“แบงก์ชาติ” ปูพรมแก้หนี้ครัวเรือน ปักธงปี 2567 ขึงเกณฑ์ Responsible Lending ตรวจเข้มข้นแบงก์ปล่อยสินเชื่อ ขีดเส้นต้องมีข้อมูลคำเตือนพร้อมอัตราดอกเบี้ยที่ถูกต้อง