กกร.หวั่นสงครามขยายวงกว้างกระทบราคาพลังงานดีดตัว กระทบการค้า พร้อมปรับเป้าส่งออก

1 พ.ย. 2566 – นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ร่วมเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 ว่า สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส เป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ต่อเศรษฐกิจโลก สงครามส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลก หากสงครามรุนแรงและขยายวงกว้างไปถึงประเทศที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบอาจพุ่งสูงแตะระดับ 140-150 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลได้ อย่างไรก็ตาม หากอยู่ในวงจำกัด คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะยังอยู่ต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะกระทบ 0.1-0.3% เท่านั้น

ขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากสงครามจะผ่านช่องทางการค้า การท่องเที่ยว และราคาพลังงานยังไม่มากนัก ไทยมีการค้ากับอิสราเอล ปาเลสไตน์ และประเทศรอบข้างเพียง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือต่ำกว่า 0.3% ของการค้าระหว่างประเทศ และมีนักท่องเที่ยวราว 2 แสนคนต่อปี หรือต่ำกว่า 1% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่หากขยายวงกว้าง อาจกระทบกับการค้ากับตะวันออกกลางโดยรวม ซึ่งคิดเป็น 4% ของการส่งออกของไทยและกระทบกับต้นทุนนำเข้าพลังงาน ซึ่งเป็นภาระการคลัง และค่าครองชีพของผู้บริโภค

ทั้งนี้ กกร. จึงปรับประมาณการยอดส่งออกของปี 2566 จากเดิมคาดว่ายอดส่งออกจะอยู่ที่ -2.0 ถึง 0.5% ลงไปอยู่ที่ -2.0 ถึง -1.0% แต่ยังคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจ(GDP) ไว้ที่เติบโต 2.5 ถึง 3.0% ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 1.7 ถึง 2.2% ขณะเดียวกันต้องจับตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นชะลอลง กำลังซื้อของครัวเรือนไทยเริ่มแผ่วลง ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มอยู่ที่ 28-29 ล้านคน น้อยกว่าประมาณการเดิมที่ 29-30 ล้านคน อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายมาตรการยกเว้นการขอวีซ่านักท่องเที่ยวเพิ่มเติมให้กับอินเดียและไต้หวันในช่วงไฮซีซั่น รวมทั้งแรงหนุนจากมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนของภาครัฐ จะช่วยประคองเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้

“ที่ประชุม กกร. มีความเห็นว่า ประเด็นด้านสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจโลกให้เผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งอาจมีผลต่อการส่งออกในระยะข้างหน้า ส่วนด้านสินค้าส่งออกหลักของประเทศไทย คือ สินค้าเกษตร และยานยนต์ ยังมีแนวโน้มขยายตัวในช่วงที่เหลือของปี แต่ที่ประชุม กกร. มีความกังวลต่อค่าเงินบาทที่อยู่ในทิศทางอ่อนค่า แม้ว่าสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ แต่เป็นปัจจัยกดดันให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล จากความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้น”นายสนั่น กล่าว

อย่างไรก็ตาม กกร. ขอบคุณรัฐบาลที่ได้ที่มีมาตรการลดค่าครองชีพและต้นทุน ผู้ประกอบการ ทั้งค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน ในช่วงที่ผ่านมา กกร. หวังว่ารัฐบาลจะเดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนพลังงานของประเทศในระยะยาว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติมต่อนโยบายรัฐบาล ดังนี้ 1. กกร. เห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระเป๋าเงินดิจิทัล เพื่อช่วยประคับประคองกำลังซื้อภายในประเทศ และควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายและผลลัพธ์ที่คาดหวังให้ชัดเจนในการเข้าร่วมโครงการ และควรใช้ระบบเดิมที่มีเสถียรภาพ ปลอดภัย และประชาชนมีความคุ้นชิน

2. ในส่วนของนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กกร. เห็นว่าเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง และผู้ประกอบการยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว จึงควรพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องตามสภาพเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ โดยใช้กลไกของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีของแต่ละจังหวัดเป็นหลัก รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานตามทักษะ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานควบคู่ไปกับประสิทธิภาพแรงงาน

เพิ่มเพื่อน