ตามคาด ‘กนง.’ มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย

“กนง.” เอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี ประคองเศรษฐกิจรับมือโควิด-19 ขยับจีดีพีปีนี้โตเพิ่มเป็น 0.9% แต่หั่นปี 2565 เหลือ 3.4% คาดเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะปกติได้ในปี 2566 แจงพร้อมขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อร้อนแรง

22 ธ.ค. 2564 นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากราคาพลังงานเป็นหลัก แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อโลกและการส่งผ่านต้นทุน

ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมในระยะข้างหน้า จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ประกอบกับมาตรการทางการเงินการคลังที่มีความต่อเนื่อง เน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้รายได้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง

นายปิติ กล่าวว่า กนง.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 0.9% ในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 0.7% และจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2565 ที่ 3.4% จากเดิมที่ 3.9% ส่วนปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 4.7% จากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะทยอยกลับมามากขึ้น

“เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะกลับมาได้สู่ภาวะปกติต้นปี 2566 โดยสิ้นปี 2564 การฉีดวัคซีนคาดว่าได้ 70% ส่วนต้นปี 25654 ได้บูสต์เตอร์เข็ม 3 ทำให้การแพร่ระบาดของโอมิครอนน่าจะเป็นความเสี่ยงที่ไม่ยืดเยื้อต้นในปีหน้า ซึ่งการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปี 2565 ได้คำนึงถึงมาตรการที่ทางรัฐบาลประกาศไว้แล้ว เป็นเหตุผลที่ปรับนักท่องเที่ยวลงเยอะในต้นปี 2565 แต่ประมาณการว่าฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป เทียบกับครึ่งปีหลังที่คาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเยอะ” นายปิติ กล่าว

ทั้งนี้ การฟื้นตัวในหลายสาขาธุรกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้นสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ประเมินว่าการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน จะกระทบเศรษฐกิจในช่วงแรกของปี 2565 โดยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่ผลกระทบอาจรุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดและความเข้มงวดของมาตรการควบคุม นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ยังอยู่ต่ำ

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางคาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 2565 และ 2566 จะอยู่ที่ 1.2% ,1.7% , และ 1.4% ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากปัจจัยด้านอุปทานโดยเฉพาะราคาพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 โดยประเมินว่ายังมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าคาดในบริบทที่เงินเฟ้อโลกปรับสูงขึ้นเร็ว โดยจะติดตามพัฒนาการของปัจจัยข้างต้นอย่างใกล้ชิด

“ถ้าดูแลเงินเฟ้อด้วยนโยบายการเงิน ต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งไม่ได้มีข้อจำกัดว่าขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ ขึ้นอยู่กับ กนง.เห็นว่าสมควรหรือไม่ ขณะเดียวกัน ต้องสื่อสารว่า ธนาคารกลางให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อ ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นอีกเครื่องมือ ที่ยึดเหนี่ยวให้เงินเฟ้ออยู่ในอัตราที่เหมาะสม” นายปิติ กล่าว

ส่วนสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่ความเสี่ยงด้านเครดิตยังเป็นอุปสรรคต่อการกระจายตัวของสินเชื่อ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยรวมทรงตัว สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในระดับสูง จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด ที่อาจรุนแรงขึ้นและการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักภายใต้แรงกดดันเงินเฟ้อในระดับสูง

“คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ เห็นควรให้ผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น” นายปิติ กล่าว

นายปิติ กล่าวว่า มาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด โดยเน้นการสร้างรายได้และเร่งเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง

สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการรวมหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ (debt consolidation) และปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ กนง.จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ และการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พิชัย' เซ็ง 'แบงก์ชาติ' ไม่ลดดอกเบี้ยถามสังคมแบบนี้ควรมีอิสระไหม!

'พิชัย' ผิดหวัง 'แบงก์ชาติ' ไม่ลดดอกเบี้ย ทั้งที่ภาพรวมเศรษฐกิจแย่ แต่กลับไม่เดือดร้อน ชี้ไม่ใช่หน้าที่แบงก์ชาติมากำหนดอัตราการเติบโต แนะอย่าอ้างว่าต้องอิสระบนความเดือนร้อนของประชาชน

นายกฯ ฝากบอกแบงก์ชาติเป็นองค์กรอิสระ แต่ควรคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ปชช.

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขอให้มีการปรับลดดอกเบี้ย ได้พูดคุยเรื่องดังกล่าวกับนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ หรือยัง ว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับนายดนุชา แต่ตนทราบมาก่อนแล้ว

'เศรษฐา' ย้ำลดดอกเบี้ย สลึงเดียวก็ช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนได้ แต่แบงก์ชาติไม่ยอมลด

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ทั้งปี 2566 และแนวโน้มปี 2567ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.7% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.4% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 และรวมทั้งปี เศรษฐกิจไทย ขยายตัวเพียง 1.9%