'คลัง' ตั้งแท่นขายบอนด์ 3 หมื่นล้านยันหนี้สาธารณะปูดไม่ถึง 65% ต่อจีดีพี

“คลัง” ตั้งแท่นขายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่นส่งความสุข วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ยันเงินกู้ พ.ร.ก. โควิดยังมีเพียงพอ โยนฝ่ายนโยบายตัดสินใจหากสถานการณ์รุนแรงอาจต้องกู้เงินเพิ่ม พร้อมแจงยังประเมินยากโอมิครอนกระทบเศรษฐกิจ ระบุสิ้นปีงบประมาณ 2565 หนี้สาธารณะปูดไม่ถึง 65% ต่อจีดีพี

29 ธ.ค. 2564 นางแพตริเซีย มงคลวณิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะมีการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ “รุ่นส่งความสุข” เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งกระทรวงการคลังจะนำเงินที่ได้ ไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม และบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ภายใต้โครงการมาตรการต่าง ๆ เช่น การจัดหาวัคซีน เยียวยาผู้ประกันตน

โดยจะจำหน่ายวงเงิน 30,000 ล้านบาท ให้กับประชาชนเท่านั้น ผ่านช่องทางเคาน์เตอร์ อินเตอร์เน็ต แบงก์กิ้ง และโมบาย แบงก์กิ้ง ของธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเริ่มจำหน่ายวันที่ 17-31 ม.ค. 2565 เวลา 8.30 น. รุ่นอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ย 1.90% ต่อปี (ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย1.60% ต่อปี, ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย 1.80% ต่อปี และปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 2.30% ต่อปี) ลงทุนได้ตั้งแต่ 1,000 บาท

ทั้งนี้ แบ่งการจำหน่ายเป็น 3 ช่วง โดยในสัปดาห์แรกจะเป็นการจำหน่ายแบบกำหนดอายุและจำกัดวงเงิน และในสัปดาห์ถัดไปจึงเปิดโอกาสให้ซื้อแบบไม่จำกัดวงเงิน ดังนี้ ช่วงที่ 1 (วันที่ 17-18 ม.ค. 2565) เปิดจำหน่ายให้กับบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยซื้อได้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย, ช่วงที่ 2 (วันที่ 19-23 ม.ค. 2565) เปิดจำหน่ายให้บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (รวมอายุ 60 ปีขึ้นไป) โดยซื้อได้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย และช่วงที่ 3 (วันที่ 24-31 ม.ค. 2565) เปิดจำหน่ายให้บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (รวมอายุ 60 ปีขึ้นไป) แบบไม่จำกัดวงเงินจำหน่าย โดยวงเงินการซื้อในแต่ละช่วงไม่นับรวมกัน ผู้ลงทุนสามารถซื้อพันธบัตรได้ในทุกช่วงการจำหน่ายตามเงื่อนไขอายุและวงเงินที่กำหนด และหากเป็นผู้เยาว์ต้องมีบัญชีธนาคารตัวแทนจำหน่ายและได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน

นางแพตริเซีย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังต้องรอดูก่อนว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจแค่ไหน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน ส่วนกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2565 ลงเหลือ 3.4% จากเดิมที่ 3.9% จากผลกระทบของการระบาดของโอมิครอนนั้น มองว่ายังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อ โดยต้องรอดูว่ามาตรการทั้งหลายที่ออกมาจะมีผลแค่ไหนกับการคงอยู่ของจีดีพี รวมถึงการดูแลด้านสาธารณสุขว่าจะสามารถรองรับผลกระทบได้มากแค่ไหน

ทั้งนี้ ในส่วนของวงเงินตาม พ.ร.ก. กู้เงินโควิดนั้น ปัจจุบันคิดว่าวงเงินที่มีอยู่ยังเพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ แต่ถามว่าหากสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น จำเป็นจะต้องมีการหาแหล่งเงินเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ตรงนี้เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายที่จะต้องพิจารณา
“ถามว่าในกรณีเลวร้าย สบน. จะมีการทบทวนตัวเลขหนี้สาธารณะทั้งปีอย่างไรนั้น ต้องบอกก่อนว่า ปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 58% ต่อจีดีพี และที่ผ่านมาได้มีการขยับเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ต่อจีดีพี เป็น 70% ต่อจีดีพี เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง โดยหากมีความจำเป็นจริง ๆ ก็ยังมีพื้นที่ทางการคลังให้สามารถดำเนินการได้ แต่ถ้าไม่ได้มีการตรากฎหมายกู้เงินเพิ่มเติม คาดว่า ณ สิ้นปี

ปีงบประมาณ 2565 สัดส่วนหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 62% กว่าต่อจีดีพี แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของตัวเลข หากเศรษฐกิจหดตัวมากกว่าคาด ก็เป็นไปได้ว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันถ้าเศรษฐกิจดีกว่าคาด สัดส่วนหนี้ก็เปลี่ยนได้ เรื่องนี้ในมุมมองของ สบน. คือการสร้างพื้นที่ทางการคลังไว้ และตามแผนการกู้เงินในปีงบประมาณ 2565 ยังไงสัดส่วนหนี้สาธารณะก็ไม่ถึง 65% ต่อจีดีพี เว้นแต่มีการตรากฎหมายกู้เงินเพิ่มเติมเท่านั้น” นางแพตริเซีย กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ถกประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งให้ไทยเป็นฮับตลาดทุนในภูมิภาค

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เพื่อก้าวสู่อันดับ 1 ของภูมิภาค

โถ! อ้างเลื่อนแจกเงินดิจิทัล เหตุมีคนดักตีหัวรัฐบาล

'จุลพันธ์' แจงชาวอุดรฯ ยังเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล ขออดทนรอ อ้อนให้เห็นใจต้องเลื่อน อ้างโดนสกัด เปรียบรัฐบาลเปิดประตูบ้านแล้วมีคนดักตีหัว

'กิตติรัตน์' ปลอบ ปชช. ตั้งอนุฯศึกษาเงินดิจิทัล ไม่ย้อนกลับจุดเริ่มต้น

'กิตติรัตน์' เชื่อตั้งอนุฯศึกษาดิจิทัลวอลเล็ต ไม่กลับไปสู่จุดเริ่มต้น ชี้เพื่อความรอบคอบ ขอประชาชนสบายใจได้

'จุลพันธ์' ได้ฤกษ์! ส่งกฤษฎีกาตีความ 'พ.ร.บ.เงินกู้' สัปดาห์หน้า

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

'ศิริกัญญา' ไล่บี้ 'เศรษฐา' เปิดข้อมูล 'กู้มาแจก' ชัดๆ ทำไมไม่ผิด กม.

'ศิริกัญญา' จี้นายกฯ เปิดข้อมูลกู้มาแจกเงินดิจิทัลถูกกฎหมายอย่างไร ไม่เชื่อ 'ผู้ว่าแบงก์ชาติ' เสนอแนะ รับเคยเห็นด้วยนโยบายนี้จริง แต่รายละเอียดเปลี่ยนไปไกลแล้ว