'การเคหะแห่งชาติ' เปิดที่อยู่อาศัยในราคาสบายกระเป๋า

ปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบาง ถูกนำขึ้นมาทบทวนเพื่อแก้ปัญหาอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ จะต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและเกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดหรือควบคุมได้เมื่อใด

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก ส่งผลให้คนตกงาน รายได้ลดลง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้หน่วยงานของภาครัฐช่วยเหลือประชาชนตามภารกิจเป็นการเร่งด่วน เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงมอบหมายให้การเคหะแห่งชาติเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการรับคืนอาคารเช่าจากภาคเอกชนมาบริหารจัดการเอง โดยมีเป้าหมายช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้พักอาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบาง

นายจุติ ไกรฤกษ์ กล่าวว่า การรับคืนอาคารเช่าเหมาจากภาคเอกชนมีเป้าหมายช่วยเหลือประชาชนให้ลดภาระทางการเงิน ด้วยการให้เช่าที่อยู่อาศัยในราคาถูกลง ขณะเดียวกันต้องการให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ มีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
เมื่อการเคหะแห่งชาติบริหารอาคารเช่าเองจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ทั้งยังสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย พร้อมกับการแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ที่สำคัญจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2564-2580) ด้วย

ด้านนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติมีเป้าหมายดำเนินการรับคืนอาคารเช่าจากบริษัทเอกชน จำนวน 60 สัญญา จำนวนรวม 32,632 หน่วย แบ่งเป็นบริษัทรายใหญ่ 35 สัญญา รวม 29,966 หน่วย และบริษัทรายเล็ก 25 สัญญา รวม 2,666 หน่วย โดยระยะแรกได้ดำเนินการโครงการนำร่อง จำนวน 2 สัญญา ได้แก่ โครงการเคหะชุมชนนวมินทร์ และโครงการเคหะชุมชนออเงิน จากนั้นได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมีการรับคืนอาคารเช่าจากภาคเอกชนแล้ว จำนวน 49 สัญญา ซึ่งอยู่ระหว่างทยอยทำสัญญากับผู้เช่ารายย่อยในโครงการและจะรับคืนอาคารเช่าจากภาคเอกชนทั้งหมดภายใน 31 ธันวาคม 2565

โดยผู้พักอาศัยในอาคารเช่าที่บริหารจัดการโดยการเคหะแห่งชาติจะลดภาระด้านการเงิน เสียค่าเช่าบ้านถูกลงกว่าเดิม 222-1,500 บาทต่อเดือน หรือเฉลี่ย 10-40 % ค่าไฟถูกลงกว่าเดิม เนื่องจากจะเป็นการเรียกเก็บจากการไฟฟ้านครหลวงโดยตรง (ปัจจุบันบริษัทเอกชนเหมาจัดเก็บค่าไฟฟ้า) (บริษัทเอกชนจัดเก็บค่าไฟฟ้ายูนิตละ 5-6 บาท ต่อหน่วยต่อเดือน แต่ กฟน. จัดเก็บยูนิตละ 3 บาท ต่อหน่วยต่อเดือน) จ่ายค่าน้ำถูกลง เพราะการเคหะแห่งชาติเป็นคู่สัญญากับการประปานครหลวงโดยตรง (บริษัทเอกชนจัดเก็บค่าน้ำประปายูนิตละ 16-30 บาท ต่อหน่วยต่อเดือน แต่การเคหะแห่งชาติ จัดเก็บยูนิตละ 13-15 บาท ต่อหน่วยต่อเดือน) และไม่ต้องจ่ายค่าเก็บขยะ เพราะการเคหะแห่งชาติให้บริการฟรี ซึ่งผู้พักอาศัยมาทำสัญญาตรงกับการเคหะแห่งชาติ จะทำให้ผู้พักอาศัยลดภาระค่าใช้จ่ายได้อย่างน้อยเดือนละ 497 บาท

ขณะเดียวกัน ผู้พักอาศัยจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งการเพิ่มพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น และสาธารณูปโภค อีกทั้งยังมีการจัดตั้งโครงการนวัตกรรมชุมชน เพื่อการสร้างอาชีพและพัฒนาชุมชน เช่น การจ้างคนในชุมชน เช่น แม่บ้าน รปภ. ธุรการ หรือช่างเทคนิค เพื่อให้ผู้พักอาศัยเกิดความรักความผูกพันในที่อยู่ของตนเอง และมีรายได้ที่มั่นคงสามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ด้วย

นอกจากนี้ จะมีการให้บริการประชาชนผ่านไลน์ OA ของชุมชน เพื่อเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์ระหว่างการเคหะแห่งชาติกับผู้พักอาศัย และผู้พักอาศัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมหรือให้ข้อเสนอแนะผ่านไลน์ และสามารถสมัครงานเพื่อทำงานในชุมชนที่อาศัยอยู่ผ่านทางไลน์ดังกล่าวได้ด้วย รวมถึงการให้บริการด้านบริหารสัญญาและติดตามหนี้ผ่านระบบบริการทางโทรศัพท์ (Telesales) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และทำงานที่บ้าน (Work from Home) การเคหะแห่งชาติจึงใช้ระบบบริการทางโทรศัพท์ (Telesales) ในการทำสัญญาแจ้งเตือนหนี้ ติดตามหนี้ เพื่อความสะดวกของผู้พักอาศัย

ทั้งนี้ ผู้เช่าสามารถชำระเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ 5 ช่องทาง ได้แก่ 1. สำนักงานเคหะชุมชนในพื้นที่ที่อยู่อาศัย 2.หักผ่านบัญชีธนาคาร 3.สแกนชำระเงินผ่าน QR Code บนใบแจ้งหนี้ 4.ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai Next ของธนาคารกรุงไทย และ 5.เคาน์เตอร์ตัวแทน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สภาทนายความฯ รับปากช่วยชาวบ้านถูกลอยแพกว่า 40 ปีตั้งแต่ยุคสงครามคอมมิวนิสต์

ที่ห้องประชุมชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นายวิโรจน์ แช่จ๊ะ ประธานกลุ่มเกษตรกรคนจน พร้อมด้วยตัวแทนกลุ่มมวลชนเกษตรกรจากอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เดินทาง มายื่นหนังสือต่อ นาย

ลูกบ้านปลื้มโครงการเคหะชุมชนฯ สุพรรณบุรี (อู่ยา1) บ้านเบอร์ 5 อยู่แล้วเย็นสบาย ช่วยประหยัดไฟได้จริง

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติส่งมอบโครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนเชิงสังคม จังหวัดสุพรรณบุรี (อู่ยา 1)

“วราวุธ” รมว.พม. วอน ช่วยกันสร้างชุมชนคุณภาพ สังคมน่าอยู่ ปลื้ม กว่า 70% ย้ายเข้าโครงการเคหะฯ (อู่ยา 1) สุพรรณบุรี

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีมอบโครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนเชิงสังคม จังหวัดสุพรรณบุรี (อู่ยา 1) โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม.