‘พิมพ์ภัทรา’ จ่อเรียก TEMU ถกแก้ปมสินค้าไร้มาตรฐาน ทะลักเข้าไทย สั่งสมอ.คุมเข้มคุณภาพ พร้อมเปิดสถิติไล่จับสินค้าไร้มาตรฐาน 10 เดือนแล้วกว่า 322 ล้านบาท ด้านเอกชนโอด 23 อุตฯ ได้รับผลกระทบ หวั่นครึ่งปีหลังไม่แก้ปัญหา กระทบมากกว่า 30 อุตฯ
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงข้อกังวลคนไทยกรณีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างชาติเข้ามาตีตลาดสินค้าไทย จนส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงความไม่ปลอดภัยของประชาชนจากการใช้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจถึงข้อกังวลดังกล่าว ล่าสุดได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อสกัดกั้นสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าที่สมอ. ควบคุม ทั้ง 144 รายการ ที่สมอ. สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายเพื่อความปลอดภัยของประชาชน อาจต้องเชิญแพลตฟอร์มข้ามชาติ เช่น TEMU (ทีมู) มาร่วมหารือ ซึ่งเป็นกติกาเดียวกับที่ก่อนหน้านี้ได้เชิญแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชต่างๆ มาหารือเช่นกัน
“การซื้อของดีราคาถูก ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ของก็ต้องมีคุณภาพด้วย อันไหนต้องมีมาตรฐาน ก็ต้องออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือมอก. ต่อไปเราอาจจะต้องเชิญ TEMU มาคุย แม้ว่า จะค่อนข้างยาก แต่เราก็ต้องพยายาม เพราะต้องช่วยเอสเอ็มอีของไทย อย่างที่เอกชนขอให้มีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ 5-20% เราก็ต้องเริ่มทำ โดยปี 67 เป็นปีที่ท้าทายและหนักมาก ด้วยสินค้าจีนมันทะลักเข้าไทย แต่เมื่อเขามา เราก็ต้องอยู่ให้ได้ และจำเป็นที่ต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไว้ด้วย เพราะเราเองก็มีส่งออกพวกผักผลไม้ไปจีนเช่นกัน ดังนั้นการจะมีมาตรการอะไรต้องไม่กระทบการค้าระหว่างกัน”น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าว
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังไม่ครอบคลุมสินค้าที่มีการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีจำนวนกว่า 1,000 รายการ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนร่วมดำเนินการควบคุมและกำกับติดตาม ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค รวมทั้ง พิจารณาให้มีการจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน โดยการกำหนดนโยบายการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมสำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ เพื่อให้บริษัทเหล่านี้เสียภาษีอย่างถูกต้อง และไม่เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ. ได้เร่งดำเนินการกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด และทางออนไลน์ ตั้งแต่เดือนก.ย. 66 – ก.ค. 67 ได้ยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานเป็นมูลค่า 322 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐานที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน มูลค่า 92.7 ล้านบาท คิดเป็น 29% จากทั้งหมด
นอกจากนี้ สมอ. ยังได้กำหนดมาตรฐานสินค้าเพิ่มในปีนี้อีกจำนวนกว่า 1,400 มาตรฐาน จากเดิมที่ประกาศใช้แล้วจำนวน 2,722 มาตรฐาน และอยู่ระหว่างดำเนินการประกาศเป็นสินค้าควบคุมอีกจำนวน 52 มาตรฐาน เพิ่มเติมจากเดิมจำนวน 144 มาตรฐาน ครอบคลุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่น ภาชนะและเครื่องใช้สแตนเลส กระทะ ตะหลิว หม้อ ช้อน ส้อม ปิ่นโต ถาดหลุม ถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร ถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟ เตาหุงต้มในครัวเรือนใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลว ท่อยางและท่อพลาสติกสำหรับใช้กับก๊าซหุงต้ม ฟิล์มติดกระจกสำหรับรถยนต์ ภาชนะพลาสติกสำหรับบรรจุน้ำบริโภค ที่รองนั่งไฟฟ้าสำหรับโถส้วมนั่งราบ ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก และแผงโซล่าร์เซลล์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการข้างต้น สมอ. ยังมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อป้องกันการเข้าถึงแพลตฟอร์มออนไลน์รายใหม่เพิ่มเติม ดังนี้ 1.เร่งทำความเข้าใจและชี้แจงข้อกฎหมายกับผู้ประกอบการที่ให้บริการขนส่งสินค้า และให้บริการดำเนินพิธีการศุลกากร เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 2.สร้างความตระหนักให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมายมาตรฐานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ 3.บูรณาการการทำงานร่วมกับกรมศุลกากร เพื่อการนำเข้าสินค้าที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานจากแพลตฟอร์มออนไลน์ 4.บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เกี่ยวกับการควบคุมแพลตฟอร์มออนไลน์ และ 5.บูรณาการการทำงานกับสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าว ยอมรับว่าขณะนี้สินค้าไทย 23 กลุ่มอุตสาหกรรม จาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าด้อยคุณภาพ ราคาถูกบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) เห็นได้จากยอดปิดโรงงาน 6 เดือนของปีนี้(ม.ค.-มิ.ย.2567) มีจำนวน 667 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเอสเอ็มอีเกือบ 100% ที่ปิดกิจการเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเร่งตัวขึ้น 86% หากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีมาตรการป้องกัน ก็เป็นห่วงว่าครึ่งหลังของปีนี้จะเห็นเอสเอ็มมากกว่า 30 กลุ่มอุตสาหกรรมจะได้รับกระทบกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พาณิชย์ ผนึกกำลัง 4 หน่วยงาน เข้มงวดสกัดสินค้าไร้คุณภาพ
“พิชัย” สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศุลกากร สคบ. อย. สคบ. ลุยมาตรการเข้มข้นต่อ หลังสถิตินำเข้าสินค้าไร้คุณภาพลดลงต่อเนื่อง และการดำเนินคดีผู้กระทำความผิดเพิ่มขึ้น ส่วนการจัดการนอมินี ดำเนินดคีไปแล้ว 747 ราย มูลค่า 11,720 ล้านบาท
'เอกนัฏ' ส่ง 'ทีมสุดซอย' บุกโรงงานศรีราชา ปราบเหล็กไม่ได้มาตรฐาน
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีการนำเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต และเหล็กข้ออ้อย ที่ไม่ได้