'เผ่าภูมิ' ลุ้นเศรษฐกิจไทยปีนี้โตทะลุ2.7% ฟุ้งแจกหมื่นช่วยปั่นพายุดันจีดีพี จ่ออัดมาตรการกระตุ้น

“เผ่าภูมิ” ลุ้นเศรษฐกิจไทยปี 67 โตทะลุเป้าหมายที่ 2.7% ชี้อานิสงส์แจก 10,000 บาท ช่วยปั่นพายุหมุนดันจีดีพี 0.3% พร้อมอัดมาตรการกระตุ้นปลายปี ปูพรมจีดีพีปี 2568 โตแตะ 3%

3 ต.ค. 2567 – นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Fitch on Thailand 2024 ว่า ปีนี้มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้สูงกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ที่ 2.7% จากการดำเนินมาตรการด้านการคลังและการเงินอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง รวมถึงผลจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งจะมีแรงส่งทางเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2/2568 และรัฐบาลได้เตรียมเครื่องมือทางการคลังและการเงินเข้ารักษาแรงส่งทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในปี 2568 เพื่อผลักดันให้จีดีพีขยายตัวได้มากกว่า 3% โดยส่วนหนึ่งจะมีเม็ดเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ใส่เข้าไป อีกทั้งยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่

นอกจากนี้ ในช่วงปลายปีนี้ รัฐบาลได้เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้แล้ว โดยยืนยันว่าไม่ใช่รูปแบบโครงการคนละครึ่ง แต่จะเป็นรูปแบบของมาตรการด้านภาษีและการกระตุ้นการใช้จ่าย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

“รัฐบาลมีมาตรการอยู่ในแผนงานที่เตรียมไว้แล้ว มีอาวุธอยู่ในมือ ซึ่งเตรียมจะออกมาในช่วงปลายปีนี้ แต่จะเป็นรูปแบบไหนขอให้รอดู เรามีไทม์ไลน์ที่ชัดเจนแล้ว โดยมองว่ามีโอกาสที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะโตได้ใกล้เคียง 2.7% ซึ่งตามประมาณการนี้ได้ใส่ผลของเม็ดเงินจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการโอนเงิน 10,000 บาทให้กลุ่มเปราะบางลงไปแล้ว ซึ่งในส่วนนี้จะมีผลต่อจีดีพีในปีนี้ให้เพิ่มขึ้นอีกราว 0.3% จากคาดการณ์เดิมที่ประมาณ 2.6%” นายเผ่าภูมิ กล่าว

นอกจากนี้ ในปี 2568 รัฐบาลมองเห็นทิศทางที่ดีของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากที่รัฐบาลได้ทำไว้ในช่วงปีนี้ โดยที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ ไปค่อนข้างมาก เป็นโมเมนตัมที่ดีต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกระจายเม็ดเงินราว 1.4 แสนล้านบาทลงไปสู่กลุ่มเปราะบาง ซึ่งทำให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อย และจะต่อเนื่องยาวไปถึงไตรมาสแรกของปี 2568 และหลังจากนั้น รัฐบาลจะทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมทั้งมาตรการระยะยาวในการดึงดูดนักลงทุน การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดี การดูแลสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งที่ทำทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างโมเมนตัมทางเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป

นายเผ่าภูมิ ยังกล่าวชี้แจงให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Rating Agency) ตลอดจนนักลงทุนต่าง ๆ ได้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในหลายด้าน ทั้งด้านการเงิน และด้านการคลัง ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญของไทย ที่ Rating Agency จะนำไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดอันดับประเทศไทย โดยดูจาก 3 ด้านหลักสำคัญ คือ 1.การเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.หนี้สาธารณะ และ 3.ความสามารถในการระดมทุน

โดยส่วนแรก เรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น เศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางการเติบโตที่ดีขึ้น และคาดว่าจะเห็นตัวเลขที่น่าพอใจในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้ รวมทั้งระยะต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ในการทำมาตรการต่าง ๆ แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องความล่าช้าของงบประมาณที่ออกมา แต่รัฐบาลก็พยายามดำเนินการเท่าที่ทำได้ ซึ่งก็เริ่มผลิดอกออกผลต่อจีดีพีในปีนี้

ส่วนที่สอง เรื่องหนี้สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทย อยู่ที่ประมาณ 63-64% ต่อจีดีพี แต่ในการคำนวณหนี้สาธารณะของไทย แตกต่างจากนิยามของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งหากใช้นิยามของ IMF จะพบว่าหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 57% ต่อจีดีพีเท่านั้น ซึ่งบริษัท Rating Agency จะใช้จากเกณฑ์ของ IMF เป็นหลักในการนำไปเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และส่วนที่สาม เรื่องความสามารถในการระดมทุนในตลาดทุน พบว่าตลาดทุนไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นตลาดชั้นนำในภูมิภาค รวมทั้งตลาดตราสารหนี้ ตลาดพันธบัตร ที่ทำได้ดีในเรื่องการระดมทุน

“วันนี้ เรามาโชว์จุดแข็งของไทย เพื่อให้เห็นภาพที่ตรงกันระหว่าง Rating Agency กับนักลงทุน ซึ่งเราเห็นทิศทางที่ดีในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีหน้า ต่อเนื่องจากโมเมนตัมที่เราได้สร้างไว้ในปีนี้” นายเผ่าภูมิ ระบุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แจกเงินหมื่น' เฟส 3 ไม่ใช้แอปเป๋าตัง กำลังจัดซื้อจัดจ้างพัฒนาระบบ คาดเสร็จ มี.ค.68

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำแอปพลิเคชันที่ใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงิน 10,000 บาท เฟส 3 หลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกมนตรี

เชิญชวนประชาชน ร่วมโครงการ 'คุณสู้ เราช่วย' เปิด 5 ขั้นตอนง่ายๆ ลงทะเบียน

รัฐบาล เชิญชวนประชาชน ร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” พร้อมเปิด 5 ขั้นตอนง่ายๆ เพื่อลงทะเบียน ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ