'ธ.ก.ส.' อ้อน ADB ขอสินเชื่อพันล้าน เล็งปล่อยกู้เกษตรต่อชูดอกเบี้ยถูกกว่าตลาด 50 สต.

‘ธ.ก.ส.’ ร่อนหนังสือถึง ADB อ้อนขอสนับสนุนสินเชื่อหลักพันล้านบาท หวังปล่อยกู้ต่อเกษตรกรในอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าตลาด 50 สตางค์ หลังต้นทุนการเงินขยับ แบงก์พาณิชย์เมินปล่อยกู้ภาคเกษตร ‘จุลพันธ์’ ยัน ไม่กระทบฐานะการคลัง

27 ม.ค. 2568 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ส่งคำขอไปยังธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เพื่อขอสนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพื่อเป็นทุนให้แก่สมาชิก (Two Step Loans) ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าหากจะได้รับเม็ดเงินสินเชื่อในหลักพันล้านบาท โดยเม็ดเงินดังกล่าวจะใช้เป็นกลไกในการช่วยสนับสนุนเกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส. ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง

ทั้งนี้ หาก ADB พิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อแล้ว อาจจะต้องมาพิจารณาจัดสรรวงเงินสินเชื่อดังกล่าวให้กับสถาบันการเงินของรัฐ โดยหลักจะพิจารณาให้กับ ธ.ก.ส. ก่อน เพื่อจะได้เอาไปปล่อยสินเชื่อต่อให้กับเกษตรกรที่มีความจำเป็นในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าราคาตลาดราว 50 สตางค์ โดยคาดว่ารายละเอียดของโครงการจะมีความชัดเจนภายในไม่กี่เดือนนี้ และยืนยันว่าวงเงินกู้ในส่วนนี้จะไม่ส่งผลกระทบกับฐานะการคลังอย่างมีนัยสำคัญแน่นอน

“ต้องยอมรับว่าปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ไม่ค่อยปล่อยสินเชื่อภาคเกษตรไม่ว่าจะเป็นรายย่อย หรือรายใหญ่ ดังนั้น ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นกลไกของภาครัฐก็ต้องขยับเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งภาระต้นทุนทางการเงินก็ขยับขึ้นด้วยเช่นกัน หากไม่ทำอะไรภาระดอกเบี้ยของเกษตรกรก็จะสูงตามไปด้วย ดังนั้นภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยในบางมิติเพื่อลดต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งการเข้ามาช่วยเหลือก็ไม่ใช่การอุดหนุนผ่านมาตรา 28 เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีกลไกอื่น ๆ ที่สามารถดำเนินการได้อีก เช่นที่ดำเนินการกับ ADB ในขณะนี้” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวยืนยันว่า การขอสินเชื่อจาก ADB ครั้งนี้ ไม่ได้สะท้อนว่ากลไกในการปล่อยสินเชื่อของ ธ.ก.ส. สะดุดหรือติดขัดแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการดำเนินการตามกลไกเพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงินของธนาคาร และของเกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส. เท่านั้น ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังอาจจะต้องมาพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้หงมดว่าไม่ควรจะลงมาเล่นในตลาดเดียวกัน หรือแข่งกันเอง โดยในส่วนของ ธ.ก.ส. แม้ว่าจะมีการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านออกมา แต่เป้าหมายและวัตถุประสงค์หลักของสินเชื่อดังกล่าว คือการลดภาระให้กับเกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส. เท่านั้น ไม่ได้มีการพุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ แต่อย่างใด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผงะ! ขุนคลัง ขอร่วมวงถก สมาคมแบงก์

“ขุนคลัง” ส่งซิกร่วมประชุมสมาคมแบงก์ หวังถกปลดล็อกปล่อยกู้ กระทุ้งหั่นดอกเบี้ย พร้อมเร่งหาข้อสรุปมาตรการ LTV ให้จบก่อนสิ้นเดือนนี้ “นักวิชาการ” หนุนหวยเกษียณ แต่แนะเพิ่มเงินรางวัล