
‘ศุลกากร’ โชว์ผลงาน 4 เดือนจับกุมสินค้าผิดกฎหมายพุ่ง 25% มูลค่ากว่า 780 ล้านบาท แจงยาเสพติดมาแรง ระบุไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งติดตามผลกระทบจากนโยบาย “ทรัมป์” ใกล้ชิด หวั่นสะเทือนเศรษฐกิจไทยทางอ้อม พร้อมโชว์ 3 กรมจัดเก็บรายได้ยังฉลุย
5 ก.พ. 2568 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยถึงผลการจับกุมสินค้าผิดกฎหมายในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (ต.ค. 67-ม.ค. 68) ว่า กรมศุลกากรได้ดำเนินการจับกุมสินค้าผิดกฎหมาย มูลค่ากว่า 780 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. บุหรี่ต่างประเทศ มีการจับกุมได้ 667 คดี ปริมาณ 17.39 ล้านมวน มูลค่า 90.32 ล้านบาท
2. บุหรี่ไฟฟ้า จับกุมได้ 234 คดี มูลค่า 28.95 ล้านบาท
3. ยาเสพติด จับกุมได้ 85 คดี มูลค่า 637.10 ล้านบาท
4. ช่อดอกกัญชา จับกุมได้ 361 คดี มูลค่า 24.75 ล้านบาท
5. ของอุปโภคที่ไม่ผ่านพิธีการศุลกากร เช่น โลชั่นบำรุงผิว และทิชชูเปียก เป็นต้น จำนวน 300,000 ชิ้น มูลค่า 7 ล้านบาท โดยเป็นสินค้าที่มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ และไม่มีเอกสารหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากร
6. ขยะอิเล็กทรอนิกส์ จับกุมได้ 19 คดี น้ำหนัก 256.64 ตัน และเศษพลาสติก 8 คดี น้ำหนัก 367.20 ตัน
7. เครื่องเล่นเกมส์ (ตู้คีบตุ๊กตา) โดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจสอบตู้สินค้าขาเข้า พบของไม่ได้แสดงข้อมูลในใบขนสินค้าเป็นเครื่องเล่นเกมส์ (ตู้คีบตุ๊กตา) โดยนำเข้าในลักษณะแยกชิ้นส่วน ซึ่งสามารถนำมาประกอบเป็นตู้คีบตุ๊กตาครบชุดสมบูรณ์ จำนวน 132 ตู้ มูลค่า 1.6 ล้านบาท ขณะที่กองสืบสวนและปราบปราม ร่วมกับ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ตรวจสอบสินค้านำเข้าจากประเทศจีน แสดงข้อมูลในใบขนสินค้าเป็นตู้ แต่เมื่อตรวจสอบ พบเป็นเครื่องเล่นเกมส์ (ตู้คีบตุ๊กตา) จำนวน 48 ตู้ มูลค่า 480,000 บาท
“กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร ได้ขานรับนโยบายและข้อสังการของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้เพิ่มมาตรการสกัดกั้นการลักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้าผิดกฎหมายที่ส่งผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เพิ่มการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าและส่งออกสินค้าผิดกฎหมายทุกช่องทาง รวมถึงบูรณากาารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 สามารถจับกุมสินค้าผิดกฎหมายมีมูลค่ากว่า 780 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 25% โดยสินค้าผิดกฎหมายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ ยาเสพติด” นายจุลพันธ์ กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ได้มีการติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับการค้าและเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด จากการดำเนินนโยบายของนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าบางมาตรการอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย แต่ก็ต้องมีการเตรียมมาตรการเพื่อรองรับ เพราะในภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังมีปัญหาเรื่องความชัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์เกิดขึ้นในหลายจุด โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ในส่วนภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี (กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร) ในปีงบประมาณ 2568 นั้น ขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่เป็นไปตามเป้าหมาย ตัวเลขที่ออกมายังไม่น่าเป็นห่วง โดยในส่วนของการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรอาจจะต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากทิศทางการค้าของตลาดโลก ที่มีการทำข้อตกลงทางการค้าต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีสินค้าที่ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีมากขึ้น ในส่วนนี้ก็เป็นหน้าที่ของกรมศุลกากรที่จะต้องเร่งปรับตัวตามทิศทางดังกล่าว ส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท นั้น พบว่า มีการจัดเก็บรายได้เฉลี่ยเดือนละ 220 ล้านบาท ซึ่งกรมศุลกากรจะจัดเก็บภาษีในส่วนนี้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568
สำหรับผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2568 (ต.ค.-ธ.ค.67) พบว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 614,557 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 14,133 ล้านบาท หรือ 2.4% แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.4% โดยในส่วนของ 3 กรมภาษี จัดเก็บรายได้รวม อยู่ที่ 622,028 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,843 ล้านบาท หรือ 1.1% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 9,963 ล้านบาท หรือ 1.6%
โดยกรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 470,348 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3,963 ล้านบาท หรือ 0.8% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 13,019 ล้านบาท หรือ 2.8%, กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 122,777 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,777 ล้านบาท หรือ 4% และกรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม28,903 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,897 ล้านบาท หรือ 6.2% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1,302 ล้านบาท หรือ 4.3%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์' รอบรรจุวาระ ครม.
'จุลพันธ์' เผยร่าง พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ส่งกลับเลขาฯครม.แล้ว