จุฬาฯคืบหน้าสร้างแพลตฟอร์มพัฒนายารักษามะเร็ง ทำยาแอนติบอดิหลายรูปแบบ ให้ผลดีกว่ายาชั้นนำต่างประเทศ

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คืบหน้าพัฒนายารักษามะเร็ง  โดยพัฒนาแพลตฟอร์มสร้างยาแอนติบอดี รักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบําบัดขึ้น โดยกระตุ้นจากหนูและมนุษย์ หลังจากนั้นคัดเลือก B-cell    และยังพัฒนายาแอนติบอดี  PD-1  ใช้รักษามะเร็ง 30 ชนิด ผลทดลองขั้นต้น ได้ผลมากกว่ายาชั้นนำในต่างประเทศ เตรียมทดสอบในมนุษย์

นพ.ไตร รักษ์ พิสิษฐ์กุล

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบําบัดมะเร็งและศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬา ฯ และโรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย  จัดเสวนาการวิจัยและพัฒนายาแอนติบอดีรักษามะเร็ง เพื่อนําเสนอความคืบหน้าของนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบําบัด  รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทย์ จุฬาฯ กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรมีศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางจํานวน 21 ศูนย์ และหน่วยปฏิบัติการวิจัยจํานวน 38 หน่วย  โดยโครงการศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบําบัดมะเร็ง เป็นหนึ่งในตัวอย่างโครงการมุ่งเป้าสําคัญขององค์กร ที่ผนึกพลังจากหลายภาควิชา ทั้งภาค ทางปรีคลินิกและทางคลินิก นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อ ร่วมกันทําวิจัยพัฒนาการรักษามะเร็ง ที่เป็นปัญหาสุขภาพสําคัญ เน้นที่แนวทางการรักษาด้านภูมิคุ้มกันบําบัดมะเร็ง ซึ่งเป็น แนวทางใหม่ที่ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งหลายชนิดได้ยาวนานขึ้น ลดการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งบางชนิด แต่ยังมีข้อจํากัดหลายประการที่จะนํามาใช้จริงได้อย่างแพร่หลาย ทั้งเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ความซับซ้อนของกระบวนการ และ ยังต้องพัฒนางานวิจัยต่อเนื่องให้ขยายผลได้ดีกับผู้ป่วยมะเร็งจํานวนมากขึ้น

รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวต่อว่า แนวทางการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบําบัดเป็นการรักษาแนวใหม่ ที่ไม่ใช่ยาสังเคราะห์จากเคมีแบบที่คุ้นเคยกัน ซึ่งแนวทางการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบําบัดนี้มีด้วยกันหลายวิธี เช่น ยาแอนติบอดี ซึ่งเป็นยาที่ต้องสร้างจากเซลล์ที่มีชีวิต หรือที่เรียกว่ายา Biologics นอกจากนี้ ยังมีวิธีการรักษาด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาว ของคนไข้เองและการออกแบบวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลอีกด้วย เนื่องจากคนไข้แต่ละคนเหมาะกับการรักษาที่ไม่เหมือนกัน จึงต้องพัฒนาวิธีการเลือกคนไข้ที่เหมาะสมกับการรักษาต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย

นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงการรักษามะเร็งด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบําบัด โดยเฉพาะการใช้ยาแอนติบอดีรักษามะเร็งซึ่งมีการใช้มากว่า 6 ปี ถือว่าเป็นวิธีการรักษามาตรฐานในปัจจุบันและเป็นที่ยอมรับทั่วโลกและในไทย มีประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งสูงและมีผลข้างเคียงต่ำ อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้ยังคงมีค่าใช้จ่ายที่สูงมมาก ประมาณ 2  แสนบาทต่อเข็ม ซึ่งต้องมีการให้ยาทุกๆ 2-3 สัปดาห์ ต่อเนื่องอาจจะหลายปี โดยประมาณค่าใช้จ่ายต่อคนอยู่ที่ประมาณ 8.5 ล้านบาท หรืออาจจะมากกว่านี้ เป็นส่วนทําให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ยาก จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มการพัฒนายาแอนติบอดี สําหรับการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบําบัดขึ้นมา เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพพัฒนายากลุ่มนี้ได้เอง ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาการ นําเข้ายาเหล่านี้จากต่างประเทศ เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศ และทําให้คนไทยทุกคนมีโอกาสเข้าถึงยากลุ่มนี้มากขึ้น

นพ.ไตรรักษ์ กล่าวว่า สําหรับแพลตฟอร์มการพัฒนายาแอนติบอดี ในขณะนี้เรามีความสามารถในการ พัฒนายาแอนติบอดีทั้งจากหนูและมนุษย์ โดยหนูทดลองจะถูกฉีดกระตุ้นเพื่อให้สร้างยา จากนั้นคัดเลือก B-cell ของหนูที่ผลิตแอนติบอดี และปรับปรุงแอนติบอดีของหนูให้คล้ายกับของมนุษย์ ส่วนมนุษย์ก็จะมีการนำเลือดจากผู้ป่วยและผู้บริจาค คัดเลือก B-cell  ของผู้ป่วยที่ผลิตแอนติบอดี และจะได้แอนติบอดี ซึ่งทั้งสองการทดลองอยู่ในหลอดทดลอง ต่อไปคือการทดลองในมนุษย์ เพื่อเป็นต้นน้ำในการพัฒนายา

การวิจัยทำยาแอนติบอดิ

อีกความก้าวหน้าคือ โครงการพัฒนายาแอนติบอดีต่อ PD-1 ซึ่งเป็นยายุคใหม่ ที่มีความสําคัญมากในการรักษามะเร็ง ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาให้ใช้สําหรับรักษามะเร็งมากกว่า 30 ชนิด อาทิ มะเร็งเต้านม มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด มะเร้งตับ มะเร็งไต มะเร็งหลอดอาหาร เป็นต้น

“โดยที่ผ่านมาเราได้เริ่มต้นพัฒนายาแอนติบอดีที่มีต้นแบบมาจากหนูทดลองจนสําเร็จ ซึ่งจากผลการทดสอบประสิทธิภาพในหนูทดลองพบว่ายาแอนติบอดีต้นแบบที่ได้ทั้ง 2 ตัว มีความสามารถในการยับยั้งก้อนมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะยาแอนติบอดีต้นแบบตัวที่ 2 มี ความสามารถในการยับยั้งก้อนมะเร็งได้เหนือกว่ายาชั้นนําของต่างประเทศ จากผลการทดลองดังกล่าวทําให้เรามีความพร้อมในการผลิตในระดับอุตสาหกรรม “
นพ.ไตรรักษ์ กล่าวอีกว่า สําหรับแผนการพัฒนายาแอนติบอดีต่อ PD-1 ในอนาคต จะประกอบไปด้วยการผลิตในระดับ อุตสาหกรรม การทดสอบความเป็นพิษเภสัชจลศาสตร์ และพลศาสตร์ในลิง ก่อนที่จะทดสอบยาแอนติบอดีในมนุษย์ต่อไป นอกเหนือจากการพัฒนายาแอนติบอดีต่อ PD-1 เพื่อรักษามะเร็งโดยตรงแล้ว ขณะนี้ทีมพัฒนาเซลล์บําบัดรักษามะเร็ง ได้นําแอนติบอดีต่อ PD-1 ที่พัฒนาขึ้นมานี้มาใส่ใน CAR-T cells เพื่อให้การรักษาด้วยเซลล์ บําบัดมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

การเพาะเลี้ยงเซลล์เพื่อผลิตแอนติบอดี

ด้านศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบําบัดมะเร็ง กล่าวว่า ในระยะเวลากว่า 4 ปี ที่เรามุ่งมั่นทําวิจัยมาทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ พื้นฐานและการวิจัยทางคลินิก โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนางานวิจัยไปสู่การรักษาจริง ที่มุ่งหวังให้ให้ประชาชนไทยทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ โดยผลงานของศูนย์ฯ ได้แก่ โครงการผลิตยาแอนติบอดีสําหรับการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบําบัด นับว่าเป็นโครงการที่ยากและใช้งบประมาณมากที่สุด เพราะเป็นการใช้แอนติบอดีที่ปลดล็อคสิ่งที่เซลล์มะเร็งสร้างขึ้น เพื่อป้องกันตัวเอง ทําให้ภูมิคุ้มกันต้านมะเร็งของผู้ป่วยกลับมาทํางานต่อสู้กับมะเร็งได้ โครงการวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล โครงการพัฒนาการรักษามะเร็งด้วยวัคซีนชนิด mRNA โครงการเซลล์บําบัดต่อมะเร็งต่อมน้ําเหลืองและมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดลิมฟอยส์ โครงการพัฒนาวิธีการเลี้ยงเซลล์มะเร็งในรูปแบบ 3 มิติ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง