สสส.-สธ.-มสช.ดึงพลังชุมชน ป้องกันปัญหาฆ่าตัวตายของคนไทย คาด 10 ปี ความสูญเสียแซงโรคไม่ติดต่อ

8 ก.ย.2565- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) จัดเวทีเสวนาโต๊ะกลมออนไลน์“พลังชุมชนท้องถิ่นร่วมส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตคนไทย”เพื่อกระตุกสังคมไทยให้ความสำคัญและร่วมแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายโดยเริ่มจากตัวเอง เนื่องในวัน “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” (World Suicide Prevention Day) ตรงกับวันที่10 กันยายน ของทุกปี หลังพบอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์โควิด ด้านแพทย์ระบุอีก 10 ปี ปัญหาสุขภาพจิตแซงหน้าโรคไม่ติดต่อทั้งหมด สร้างความสูญเสียขึ้นเป็นอันดับ 1 พร้อมชู อบต.ผักไหม จ.ศรีสะเกษชุมชน ต้นแบบการส่งเสริมสุขภาพจิต

นายชาติวุฒิ วังวล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สสส.กล่าวว่าสสส.ได้เร่งเสริมความพร้อมและขับเคลื่อนการทำงานด้านการพัฒนาสุขภาพจิตในระดับพื้นที่กับหลายหน่วยงาน เช่น กับ มสช.ภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของชุมชนท้องถิ่นในสถานการณ์วิกฤต นำร่องใน 10 พื้นที่ทั่วประเทศ ผ่านนวัตกรรมแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Dmindระบบปัญญาประดิษฐ์คัดกรองภาวะซึมเศร้า ที่คนในชุมชนสามารถคลิกเข้าไปประเมินตัวเองได้ง่าย ๆ ได้ผลแม่นยำ ทดแทนการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตในกลุ่มคนทุกเพศทุกวัยรวมถึงกลุ่มเปราะบาง หรือให้ชุมชนช่วยมอนิเตอร์ผู้ป่วยจิตเวช สนับสนุนจัดการปัญหาด้านสุขภาพจิตในพื้นที่ของตนเอง

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์การฆ่าตัวตายในประเทศไทยว่า ปัจจุบันว่าการฆ่าตัวตายทั่วโลกมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากคนมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น และคาดการณ์ว่าอีก 10 ปีข้างหน้า สุขภาพจิตจะกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพ ที่ทำให้เกิดการสูญเสียเป็นอันดับ 1 ของโรคไม่ติดต่อทั้งหมด ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 500-1,000 คนต่อปี ในปี 2564มีคนฆ่าตัวตายถึง 5,000 ราย และพบว่าอันดับ 1 หรือร้อยละ 50 ที่ทำให้คนฆ่าตัวตาย คือ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ ปัญหาในเรื่องสุขภาพกายมาเป็นอันดับ 2 หรือร้อยละ 20-30 อันดับ 3 คือปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันดับ 4คือปัญหาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งอันดับ 3 และ 4 จะสลับกันขึ้นลง ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้คนฆ่าตัวตายไม่ได้เกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง แต่ร้อยละ 90 มี 2สาเหตุร่วม โดยมีปัญหาด้านความสัมพันธ์เป็นปัจจัยหลักเสมอ

ดร.นพ.วรตม์ กล่าวต่อว่า แม้ปัญหาสุขภาพจิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงมากขึ้น แต่บุคลากรด้านสุขภาพจิตกลับมีจำนวนจำกัด จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นในประเทศไทยมีไม่ถึง 200 คน จิตแพทย์มี 1,000 กว่าคน นักจิตวิทยาอีก 1,000 กว่าคน ซึ่งการจะเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านสุขภาพจิต ให้เพียงพอต้องใช้เวลาถึง 5-10 ปี นอกจากนี้ การทำงานแบบดั้งเดิมที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาล อาจไม่ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพจิต จึงเป็นเรื่องของทุกคน กรมสุขภาพจิต สธ.จึงหันมาร่วมมือกับองค์กรภายนอก เช่น ทำงานสุขภาพจิตร่วมกับ อสม.ที่มีอยู่ 1ล้านคนทั่วประเทศ ผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ การทำงานร่วมกับ สสส. มสช.และภาคีเครือข่าย ในการฝึกให้ทุกคนในชุมชนเป็นบุคลากรด้านสุขภาพจิต และเริ่มทำงาน ตั้งแต่ระดับครอบครัว สามารถสังเกตอาการโรคพื้นฐาน เช่น โรคซึมเศร้าสัญญาณการฆ่าตัวตาย มีทักษะการรับฟัง การให้กำลังเชิงบวก ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโครงการ HOPE Task Force หรือทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตายที่กรมสุขภาพจิตร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้ช่วยชีวิตผู้ที่ต้องการฆ่าตัวตายให้รอดชีวิตได้กว่า 400 คนถือเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการวัดการช่วยเหลือให้คนไม่ฆ่าตัวตายแต่เมื่อเทียบกับอัตราการฆ่าตัวตายที่ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการส่งเสริมและป้องกันเป็นหน้าที่ทุกคนดังนั้นการสร้างความร่วมมือในระดับชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน

นางจันทรา หาญสุทธิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผักไหม อ.ห้วยทับทันจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยจิตเวชใน ต.ผักไหม จะมีไม่มากประมาณ 20กว่าคน ต่อประชากร 7,160 คน โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่แพทย์วินิจฉัยและญาติเห็นด้วย7-8 คน และที่แพทย์วินิจฉัยแต่ตัวผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยไม่ยอมรับ 10 กว่าคน แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีชาวบ้านฆ่าตัวตายในปี 2562 และ 2564 รวม 2 คน ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคจิตเวชแต่ไม่แสดงอาการ เป็นจุดที่ทางอบต.ผักไหมหันมาให้ความสำคัญและทำงานเชิงรุกมากกว่าเดิมที่ผ่านมา มีการร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วนในตำบล

“เราไม่เคยคาดคิดว่าคนปกติธรรมดาอยู่ ๆ จะลุกขึ้นมาฆ่าตัวตายซึ่งเป็นวัยแรงงานในชุมชน และภายนอกดูเป็นคนอัธยาศัยดีมีน้ำใจ แต่พอทราบสาเหตุการฆ่าตัวตายว่า มาจากความน้อยเนื้อต่ำใจในครอบครัวก็ทำให้เราคิดว่าการบวกปัญหาจิตเวช เข้าไปในกลุ่มเปราะบาง ที่ต้องดูแลตั้งแต่ปี 2560นั้นไม่เพียงพอทำให้การทำงานของเราและชุมชนเปลี่ยนเป็นเชิงรุกและอาศัยความร่วมมือสูง โดยดึงเรื่องเข้าเวทีประชาคมตำบลกับคณะกรรมการ สปสช.ระดับตำบลให้เพิ่มเรื่องจิตเวชเข้าไป แม้จะไม่มีค่าตอบแทนให้ และเรียกทีม Long Term Care อสม.สภาผู้นำชุมชน รพ.สต.ในพื้นที่ กระทั่งเจ้าหน้าที่ อบต.ทุกคน ที่ส่วนมากเป็นคนในพื้นที่เข้ามาสแกน เสริมกำลัง ดูแลคนและพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทั้งหมดแบบรายหมู่บ้าน มีการเก็บฐานข้อมูลที่ละเอียดแม่นยำ รวมถึงเชิญวิทยากรมาให้ความรู้เพิ่มเติม ยิ่งได้ มสช.และ สสส. เข้ามาช่วยกระตุ้นเมื่อปี 2564 จนถึงปี 2565ก็ยิ่งทำให้ชุมชนหันมาใส่ใจเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง จากเดิมที่มองเป็นปัญหาธรรมดา ก็กลายเป็นเข้าใจสาเหตุ รู้ปัญหา รู้โทษและใส่ใจปัญหาสุขภาพจิต” นายก อบต.ผักไหมกล่าว

ด้านนางอรพิน วิมลภูษิต เลขาธิการสมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่าตัวเลขจากกรมสุขภาพจิตระบุว่าช่วงวัยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมากที่สุดร้อยละ 74 คือ วัยแรงงานอายุ 25-59 ปี ขณะที่สถานการณ์โควิดทำให้แรงงานกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้ปานกลางถูกเลิกจ้างถึง1.4-1.7 ล้านคน หรือร้อยละ 62 ของแรงงานทั้งประเทศกลุ่มวัยแรงงานจึงกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงฆ่าตัวตายขนาดใหญ่ ที่รัฐและสังคมควรจับตามองและให้ความสำคัญและผลักดันเพิ่มองค์ความรู้หรือระบบปฏิบัติการที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพจิตและสุขภาพการเงินให้กับกลุ่มแรงงานในประเทศไทย ในรูปแบบนโยบายหรือยุทธศาสตร์ระดับประเทศที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมมือกันโดยอาจผนวกไปกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ทุกวันนี้รักษาแค่เพียงสุขภาพกาย

ด้าน นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการฯ มสช. ในฐานะผู้จัดการโครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของชุมชนท้องถิ่นในสถานการณ์วิกฤตและตลอดช่วงชีวิต กล่าวว่าทางโครงการฯ เน้นพัฒนากลไกการเฝ้าระวังและกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพจิต เพื่อลดและป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในวัยแรงงานในชุมชนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ รวมถึงผู้สูงวัย ผู้ป่วยติดเตียงและกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ มุ่งเป้าสร้างแกนนำการส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่นเสริมองค์ความรู้ไปปรับประยุกต์เพื่อผลิตเป็นเครื่องมือเสริมการทำงานให้แข็งแกร่งเข้าถึงได้ง่าย เกิดพื้นที่ต้นแบบนำไปสู่การขับเคลื่อนงานเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินงานแล้วในหลายพื้นที่ ได้แก่ อบต.วังสะพุง อ.วังสะพุง จ.เลย อบต.วังกรด อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร รพ.สต.บ้านคลองเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส. ปลื้ม ครบรอบ 4 ปี ThaiHealth Academy พัฒนานวัตกรรมหลักสูตรสุขภาวะ 82 หลักสูตร

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ที่โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth Academy

"ออมสุขภาพ” รับวัยเกษียณ เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย

สังคมไทยเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ขณะนี้มีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12 ล้านคน จากจำนวนคนไทย 66 ล้านคน และในอนาคตคืออีก 60 ปีข้างหน้า

รัฐบาล อวดผลสำเร็จ 30 บาทรักษาทุกที่ใน 8 จว.นำร่อง ลั่นลดความเหลื่อมล้ำ

โฆษกรัฐบาล อวด ความสำเร็จ 30 บาทรักษาทุกที่ ใน 8 จังหวัด ระบุ นายกฯ มุ่งมั่นดำเนินการขยายผลให้บริการด้านการสาธารณสุขต่อเนื่อง

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022