เอกซเรย์สุขภาพต้นไม้ใหญ่ อนุรักษ์พื้นที่สีเขียว

ต้นไม้ที่มีอายุเก่าแก่และมีขนาดใหญ่โต มีบทบาทสำคัญในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยิ่งไม้ใหญ่มากเท่าไหร่ก็ยิ่งสามารถเก็กกับคาร์บอนไว้ได้มากขึ้นเท่านั้น  โดยเฉพาะต้นไม้ในเมืองที่เขียวขจีทำหน้าลดอุณหภูมิของมหานครให้เย็นลง อย่างไรก็ตาม ไม้ใหญ่ที่ยืนต้นเด่นเป็นสง่า มีกิ่งก้านสาขาแผ่ขยายให้ร่มเงาที่ดูภายนอกแข็งแรงสมบูรณ์ดี แต่สุขภาพของต้นไม้อาจเสื่อมโทรมโดยเรามองไม่เห็น และอาจจะเกิดอุบัติเหตุไม้ล้มทับผู้คนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้เหมือนที่เคยเกิดเหตุต้นไม้โค่นล้มขึ้นในหลายพื้นที่  เช่น เหตุต้นหางนกยูงฝรั่งโค่นล้มในจุฬาฯ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ เหล่าวิศวะ จุฬาฯ เกรงว่าจะสูญเสียต้นไม้ใหญ่ได้พัฒนาอุปกรณ์สำหรับสแกนต้นไม้โดยใช้รังสีแกมมา (Gamma Ray) เพื่อสแกนตรวจสุขภาพของต้นไม้และวัดความหนาแน่นของเนื้อไม้ เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย เริ่มใช้อุปกรณ์สำหรับสแกนต้นไม้โดยใช้รังสีแกมมาตรวจสุขภาพต้นไม้ในโครงการ Chula Big Tree เมื่อไม่นานมานี้ โดยสแกนต้นจามจุรีทรงปลูกอายุกว่า 60 ปี จำนวน 4 ต้น  เดิมมี 5 ต้น แต่โค่นล้มไปก่อนที่จะทำการตรวจสอบจากพายุฝน ผลตรวจพบมี 2 ต้นที่มีโพรงขนาดใหญ่ แต่ทางจุฬาฯ ได้ใช้เหล็กค้ำยันต้นจามจุรีทรงปลูกไว้ก่อนหน้านี้ ต้นจามจุรีทรงปลูกใหญ่ที่สุดมีขนาดลำต้น 160 เซนติเมตร

อุปกรณ์สแกนต้นไม้ใช้รังสีแกมมาตรวจสุขภาพต้นไม้โครงการ Chula Big Tree

ทุกวันนี้ภารกิจตรวจสุขภาพต้นไม้ยังเดินหน้า  โดยได้สแกนต้นจามจุรีบริเวณด้านข้างอาคารมหาจุฬาลงกรณ์รวมทั้งลานเกียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และคณะอื่นๆ รอบรั้วจามจุรีที่มีไม้ใหญ่มากมาย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่นิสิตและบุคลากรชาวจุฬาฯ นอกจากนี้ภาควิชาฯ ยังได้รับการติดต่อจากหน่วยงานต่างๆ ให้ออกไปสแกนต้นไม้ภายนอกมหาวิทยาลัยอีกด้วย

“ รังสีแกมมาสามารถสแกนทะลุลำต้นของต้นไม้ได้เปรียบได้กับการตรวจเอกซเรย์ร่างกายคนในโรงพยาบาล อุปกรณ์นี้จะช่วยตรวจสแกนสุขภาพของต้นไม้ว่าแข็งแรงดี มีโพรงที่เกิดจากการผุของเนื้อไม้หรือจากการกัดกินของปลวกหรือไม่ มีมากน้อยเพียงใด “  รศ.นเรศร์ จันทน์ขาว ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ อธิบาย

สำหรับอุปกรณ์สแกนต้นไม้ด้วยรังสีแกมมาได้รับการออกแบบเป็นพิเศษให้แสดงผลการตรวจที่แม่นยำ รวดเร็ว โดยไม่ต้องทำลายต้นไม้ ประกอบด้วยอุปกรณ์ที่ให้รังสีแกมมา หัววัดรังสีที่มีความไวสูงกว่าหัววัดรังสีธรรมดา อุปกรณ์วัดรังสีซึ่งต่อกับคอมพิวเตอร์ ระบบขับเคลื่อนสายพานที่ควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรล ติดตั้งบนรถยกไฮดรอลิก

นอกจากนี้ พื้นที่บริเวณจะทำการสแกนต้นไม้ต้องเป็นพื้นเรียบและมีบริเวณพอสมควรเพื่อให้รถโฟร์คลิฟท์หรือรถไฮดรอลิกสามารถเข้าไปได้สะดวก

ภารกิจตรวจสุขภาพต้นไม้ในรั้วจามจุรี

รศ.นเรศร์ บอกว่า หัววัดรังสีที่ใช้มีความไวในการใช้งานมากกว่าปกติ 3-4 เท่า ทำให้ความเข้มข้นของรังสีต่ำ ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน และตรวจสอบสุขภาพต้นไม้ได้ผลถูกต้องและรวดเร็วในเวลาเพียง 10 นาทีสำหรับการสแกนต้นไม้หนึ่งตำแหน่ง หากต้องการทราบตำแหน่งและขนาดของโพรงที่ละเอียดจะต้องสแกนต้นไม้ในหลายมุม รวมทั้งสแกนซ้ำเพื่อยืนยันผลการตรวจสอบต้นไม้ เมื่อพบว่าลำต้นกลวงจะมีการจัดทำอุปกรณ์ค้ำยันต้นไม้เพิ่มความแข็งแรง หรือฉีดซีเมนต์เข้าไปบริเวณโพรงต้นไม้    ในอนาคตจะพัฒนาเครื่องมือให้ใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น มีระบบอัตโนมัติที่สามารถมองเห็นเป็นภาพตัดขวางภายในต้นไม้ได้ด้วย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้รับ

ด้าน อาจารย์ ดร.มนัสวี เลาะวิธี ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์กล่าวว่า นอกจากตรวจสุขภาพต้นไม้ในโครงการ Chula Big Tree ภาควิชาฯ ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานต่างๆ ให้ออกไปสแกนต้นไม้ภายนอกมหาวิทยาลัย ถือเป็นภารกิจการให้บริการวิชาการแก่สังคม

ตรวจวัดความหนาแน่นเนื้อไม้ต้นจามจุรี ซอยสมคิด

ล่าสุด ได้ทำการสแกนต้นจามจุรี 3 ต้น ขนาดลำต้น  80 – 95  ซม.ที่ริมคลองในซอยสมคิด ย่านชิดลม ระหว่างเซ็นทรัล เอ็มบาสซีและเซ็นทรัลชิดลม ซึ่งสำนักงานเขตปทุมวันและผู้ประกอบการมีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และมีการสร้างสะพานคนเดินข้ามคลองแสนแสบ เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนแห่งใหม่ของคนกรุง  แต่บริเวณดังกล่าวมีไม้ใหญ่และอายุมาก รวมถึงต้นไม้ค้ำยันกับพื้นที่โดยรอบ  จึงต้องตรวจสอบสุขภาพและความแข็งแรง  ด้วยพื้นที่แคบมีการออกแบบเครื่องสแกนต้นไม้ใหม่ให้มีขนาดเล็กลง เปลี่ยนวัสดุเป็นอลูมิเนียมให้มีน้ำหนักเบา ใช้เวลาในการผลิต 5 วัน

“ ไปทำการสแกน 2 ครั้ง รวม 3 ต้น พบภายในลำต้นกลวงหรือเป็นโพรงขนาดใหญ่ทั้งหมด  เมื่อได้ผลตรวจสอบแล้ว ทราบว่าทางโครงการจะมีทีมรุกขกรมาจัดทำอุปกรณ์ค้ำยันหรือฉีดวัสดุเรซิ่นเข้าไปในโพรงเพื่อทดแทนเนื้อไม้  กรณีที่ไม่สามารถค้ำยันได้ จะล้อมไม้ย้ายไปปลูกในพื้นที่อนุรักษ์หลังซอยสมคิด ป้องกันต้นไม้โค่นล้มทับคน  เพราะต้นไม้ใหญ่สวยงามเหล่านี้อยู่คู่พื้นที่มานาน “ อาจารย์ ดร.มนัสวี บอก

นอกจากนี้ อาจารย์ระบุภาควิชาฯ ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สนใจอุปกรณ์สแกนต้นไม้ด้วยรังสีแกมมา  เนื่องจากในรั้วมหาวิทยาลัยมีไม้ใหญ่จำนวนมาก อุปกรณ์ที่ใช้เป็นการเจาะเข้าไปในเนื้อไม้ ไม่ใช่การตรวจสอบต้นไม้แบบไม่ทำลายด้วยรังสีแกมมา ซึ่ง มช.สนใจอุปกรณ์นี้ช่วยอนุรักษ์ต้นไม้ในเชียงใหม่

แม้ฉีดซีเมนต์ในโพรงไม้แล้ว เมื่อสแกนพบโพรงใหญ่ด้านใน

ในการปฏิบัติงานตรวจสุขภาพต้นไม้ อาจารย์ ดร.มนัสวี อธิบายว่า ถ้าเป็นต้นไม้พื้นที่กรุงเทพฯ สามารถยกอุปกรณ์สแกนต้นไม้ไปได้  ส่วนต้นไม้ในภูมิภาคต่างๆ ก็ไม่ยาก เพราะมี How To อยู่แล้ว  อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่ติดต่อต้องมีข้อมูลชนิดและขนาดของต้นไม้ชัดเจน เพื่อสามารถออกแบบเครื่องสแกนต้นไม้ใหม่ในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ต้นไม้แต่ละชนิดมีคุณสมบัติลดทอนรังสีต่างกัน  เนื้อไม้เบา เนื้อไม้แน่น   รังสีจะทะลุได้มากน้อยต่างกัน ภาควิชาฯ ยินดีนำอุปกรณ์ที่ให้รังสีแกมมาไปทดลองตรวจวัดความหนาแน่นของเนื้อไม้

“ กทม.มีต้นไม้ใหญ่ในเมืองจำนวนมาก ทั้งบริเวณริมถนน พื้นที่สาธารณะ ไม้ใหญ่อายุเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และให้ประโยชน์กับผู้คนมากมาย แต่ผ่านกาลเวลาเนื้อไม้แตก ภายในผุพัง แม้มีการอนุรักษ์ทดแทนเนื้อไม้เดิมแต่ก็เสื่อมสภาพทุกปี  ไม้ใหญ่ในหลายพื้นที่น่ากังวล เมื่อไม่นานมานี้ เกิดต้นไม้โค่นล้มทับรถยนต์ในเขตสามย่าน   ขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบสุขภาพต้นไม้ ประชาชนร่วมดูแลต้นไม้ในพื้นที่ตนเอง  ไม่อยากให้ตัด ทำลาย หรือล้อมย้าย อยากให้ต้นไม้อยู่ในพื้นที่ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ทำให้รู้ว่าต้นไม้เสื่อมสภาพระดับไหน  ผลตรวจนำมาฟื้นฟูต้นไม้ ตัดกิ่งก้านลดน้ำหนัก ค้ำยันประคองลำต้น ช่วยให้ต้นไม้รอดตาย และสร้างทัศนียภาพสวยงาม ทั้งยังลดอุบัติเหตุท้องถนนและในชุมชน“ อาจารย์ ดร.มนัสวี กล่าวให้ทุกภาคส่วนลงมืออนุรักษ์ต้นไม้เพื่อให้สิ่งมีชีวิตนี้ได้ทำหน้าที่สำคัญอย่างที่ควรจะเป็นอีกต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดจุดดับร้อนทั่วกรุง พกขวดเติมน้ำฟรี

การใช้ขวดน้ำพกพาไปเติมน้ำดื่มเองทุกวัน เป็นวิธีการง่ายๆ ช่วยลดขยะขวดพลาสติก ถ้าใครเคยตั้งคำถามว่า คนกรุงเทพทิ้งขวดพลาสติกกันมากแค่ไหน จากการสำรวจของ Environmental Justice Foundation Thailand (EJF)  พบว่า ประชาชนร้อยละ 99

'ผึ้งหลวงหิมาลัย'ดอยผ้าห่มปก ดัชนีความหลากหลายชีวภาพ

การค้นพบผึ้งหลวงหิมาลัยครั้งแรกในประเทศไทยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่  สร้างความฮือฮาให้กับวงการชีววิทยาของไทยและสากล  นายทรงเกียรติ ตาตะยานนท์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อช.)

ร้อนยาวถึงพฤษภาคม ภาคเหนือระอุสุดในประเทศ

เข้าเมษายนคนไทยเผชิญกับสภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัดทั่วประเทศไทย ขณะที่จังหวัดในภาคเหนือของไทยระอุที่สุด จ.ตาก วัดได้เกือบ 44 องศาเซลเซียส  อีก 2 เดือนกว่าจะพ้นหน้าร้อน กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ร้อนปีนี้ลากยาวถึงเดือนพฤษภาคม นักวิชาการกรมอุตุนิยมวิทยาที่จับตาสภาพอากาศ

'สนธิสัญญาพลาสติกโลก' ไทยลงเหวมลพิษพลาสติก

ระหว่างที่ร่างสนธิสัญญาแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก ซึ่งสมาชิก 175 ประเทศลงนามร่วมกันให้จัดทำมาตรการทางกฎหมายเพื่อเป็นแนวทางการจัดการพลาสติกที่ครอบคลุมและตลอดวงจรชีวิตพลาสติก ลดการผลิตพลาสติก  เลิกผลิต เลิกใช้ ควบคุม พลาสติกบางประเภท และการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR)

ครั้งแรกพบไวรัส2สายพันธุ์ในสตรอว์เบอร์รี 80 ป้องกันแพร่ระบาด ยกระดับผลผลิตคุณภาพ

นับเป็นการค้นพบครั้งแรกในประเทศไทย คณะนักวิจัย บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ค้นพบเชื้อไวรัส strawberry latent ringspot virus (SLRSV) และ strawberry crinkle virus (SCV) ในสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 สาเหตุการเกิดโรคใบจุดและใบย่นในพื้นที่เพาะปลูก