ควบคุมมลพิษ’เตาเผาศพ’ ภัยสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม

ปัญหาเรื่องร้องเรียนเตาเผาศพก่อมลพิษ ทั้งกลิ่นเหม็น  เขม่าควันดำ  แล้วยังมีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5  มีอยู่เป็นระยะ ก่อความเดือดร้อนรำคาญ  ทั้งยังบั่นทอนสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะชุมชนใกล้วัดสูดดมมลพิษ  เพราะการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ขาดการควบคุม  

โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  ยอดตายเป็นใบไม้ร่วง มีศพของผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เตาเผาแทบไม่ว่าง  เผาพร้อมกันหลายๆ วัด  บางวัดใช้เตาเผาศพไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ล่าสุด เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดให้เตาเผาศพเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสีย ออกสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา  ประกาศนี้ใช้บังคับทันทีกับเตาเผาศพในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาลนครและเขตเทศบาลเมือง เพื่อควบคุมเตาเผาศพ ในกทม.และเมืองใหญ่ให้ได้มาตรฐาน  ส่วนในเขตพื้นที่อื่นให้เวลาอีก 3 ปี  

อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า จากเรื่องร้องเรียนมลพิษจากเตาเผาศพจำนวนมาก ทำให้กรรมาธิการวุฒิสภาด้านเมืองและสิ่งแวดล้อม มีข้อเสนอปรับปรุงมาตรฐานเตาเผาศพ จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมมลพิษ  เห็นสมควรปรับปรุงการกำหนดให้เตาเผาศพเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยได้ประสานงานพร้อมประชุมรับฟังความคิดเห็นกับสำนักงานสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติและจากทุกภาคส่วน  ก่อนประกาศเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อย ส่วนนอกเขตเทศบาลเมืองผ่อนปรน 3 ปี ค่อยเป็นค่อยไปในการปรับปรุงสถานที่จัดเผาศพ สุสานและฌาปนสถานให้เป็นไปตามมาตรฐาน

“ ในประกาศนี้ให้เตาเผาศพเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยอากาศเสีย    กำหนดค่าความทึบแสงของเขม่าควันที่ออกจากปล่องเตาเผาศพเอาไว้ 7%  จากเดิมที่มีค่าความทึบแสง 10 %  นอกจากนี้ ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิตลอดการเผาศพให้สูงกว่า 800 องศาเซลเซียส  วัดต้องเป็นตัวอย่างที่ดีปรับเตาเผาศพให้ได้มาตรฐาน เพราะมีกิจกรรมเผาศพตลอด ชุมชนที่อาศัยอยู่หนาแน่นใกล้วัดได้รับความเดือดร้อน อีกทั้งสำนักงานสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีงบประมาณอุดหนุนการสร้างเตาเผาอยู่แล้ว แต่ละพื้นที่ทำได้เลย   “ อรรถพล กล่าว

 ปัจจุบันทั่วประเทศมีวัดทั้งหมด 42,655 วัด มีจำนวนเตาเผาศพประมาณ 25,500 เตา เป็นเตาเผาศพในพื้นที่กรุงเทพฯ  เมืองพัทยา เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง ประมาณ 8,000 เตา ส่วนเตาเผาศพในพื้นที่อื่นอีก  17,500 เตา   จากข้อมูล คพ. ปี 2562 เฉพาะใน กทม.ฯ มีวัดมากกว่า  450 วัด เป็นวัดที่มีเตาเผาศพไม่ต่ำกว่า   310 วัด

อธิบดี คพ. กล่าวว่า จากการสำรวจของ คพ. พบว่า เตาเผาศพในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่สามารถควบคุมมลพิษได้ตามมาตรฐานแล้ว เนื่องจากเป็นเตาเผาแบบ 2 ห้องเผา มีวัดใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ ร่วมนำร่อง เช่นวัดหลักสี่ วัดสะพาน วัดเวฬุราชิน ฯลฯ  โดยผู้ควบคุมเตาเผาศพปลอดมลพิษจะต้องมีการควบคุมอุณหภูมิตลอดการเผาศพให้สูงกว่า 800 องศา ถ้ามีการจัดการและควบคุมเตาที่ดีจะสามารถเผาและทำลายสารมลพิษทางอากาศ รวมทั้งควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและไม่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ในส่วนเขตพื้นทีต่างจังหวัดจะมีประสานท้องถิ่นเพื่อจัดการอบรมมาตรฐานเตาเผาศพและให้คำแนะนำผู้ควบคุมเตาเผาศพ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงเตาเผาศพที่ใช้ ให้มีประสิทธิภาพควบคุมมลพิษในระดับที่สูงขึ้น

มลพิษทางอากาศที่ปล่อยจากเตาเผาเป็นภัยใกล้ตัว  นายอรรถพล ระบุมีกลิ่น  ควัน และฝุ่น PM2.5 ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และขี้เถ้าจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง มาจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์หรืออุณหภูมิไม่สูงพอ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในชุมชนใกล้เคียง ส่วนองค์ประกอบของกลิ่นเผาศพประกอบด้วยก๊าซหลายชนิด  ไม่ว่าจะเป็นแอมโมเนีย ไฮโดรเจนซัลไฟด์ เมอร์แคปแทน และฟอร์มาลดีไฮด์จากนํ้ายารักษาศพ เป็นต้น 

หากย้อนไปเมื่อปี 2562 ก่อนประกาศราชกิจจาฯ กรมควบคุมมลพิษจัดทำระดับมาตรฐานเตาเผาศพเพื่อยกระดับเตาเผาศพในไทยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่ส่งผลกระทบรบกวนกับชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับวัด หรือฌาปนสถาน โดยกำหนดระดับมาตรฐานเตาเผาศพ  เป็น 4 ระดับ คือ 1.เตาเผาศพ 1.0 เป็นเตาเผาศพชนิด 1 ห้องเผา ใช้ถ่านไม้หรือฟืนเป็นเชื้อเพลิง และไม่มีการควบคุมอุณหภูมิในการเผาศพ มีประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษต่ำ เหมาะสำหรับวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบทหรือพื้นที่ห่างไกล

2.เตาเผาศพ 2.0 เป็นเตาเผาศพชนิด 1 ห้องเผา ใช้น้ำมันเตา หรือน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง มีการควบคุมอุณหภูมิในการเผาศพ มีระบบควบคุมและบันทึกข้อมูลการทำงานของเตาเผาศพ มีประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษในระดับพอใช้ เหมาะสำหรับวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชุมชน หรือมีการกระจายตัวของชุมชนไม่หนาแน่น

3.เตาเผาศพ 3.0 เป็นเตาเผาศพชนิด 2 ห้องเผา โดยห้องเผาแรกเป็นห้องเผาศพ ห้องเผาที่สองเป็นห้องเผาก๊าซและควันที่เกิดจากห้องเผาแรก ก่อนระบายอากาศเสียสู่บรรยากาศ ใช้น้ำมันดีเซล หรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง มีการควบคุมอุณหภูมิ ระยะเวลา ในการเผาควันและก๊าซตลอดจนการเผาศพ มีระบบควบคุมและบันทึกข้อมูลการทำงานของเตาเผาศพอัตโนมัติ มีประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษในระดับดีเหมาะสำหรับวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมือง ที่มีการอยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่น

และ 4.เตาเผาศพ 4.0 เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นเตาเผาศพที่มีห้องเผาอย่างน้อย 2 ห้องเผา ห้องเผาแรกเป็นห้องเผาศพ ห้องเผาสุดท้ายเป็นห้องเผาก๊าซและควันที่เกิดจากห้องเผาแรกก่อนระบายอากาศเสียสู่บรรยากาศ ใช้น้ำมันดีเซล หรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง หรือเป็นเตาที่ใช้ไฟฟ้าในการเผาไหม้ มีการควบคุมอุณหภูมิและระยะเวลาในการเผาควันและก๊าซตลอดจนการเผาศพ มีระบบควบคุมและบันทึกข้อมูลการทำงานของเตาเผาศพอัตโนมัติ มีระบบควบคุมมลพิษทางอากาศอื่นๆ มีประสิทธิภาพควบคุมมลพิษในระดับดีเยี่ยม เหมาะสำหรับวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีการอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น

หากวัดและณาปนสถานทุกพื้นที่เร่งยกระดับเตาเผาศพ ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษอื่นๆ อย่างเข้มข้น  แน่นอนว่า จะช่วยลดฝุ่นพิษ 2.5 และก๊าซต่างๆ ทำให้คุณภาพอากาศของบ้านเราดีขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คพ.-กรอ.เร่งทำแผนพัฒนาระบบ PRTR โรงงาน

3 ก.พ.2567 -  นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้เดินทางเข้าพบและร่วมหารือกับนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ณ กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยหารือถึงบทบาทและภารกิจของ