หนาวนี้สู้ฝุ่น ’PM2.5’ ได้ต้องทำแผนเชิงรุก!

                แม้ว่าปัญหามลพิษทางอากาศ pm 2.5 จะถูกพูดถึงและหยิบยกเป็นปัญหาระดับชาติไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่สำหรับกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ปัญหาฝุ่นพิษเป็นประเด็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน  คนกรุงต้องใช้ชีวิตกับอากาศเป็นพิษ หายใจติดขัด ตึกสูงที่เคยเห็นอย่างชัดเจนถูกบดบังด้วยฝุ่นคลุมจนเห็นได้เลือนๆ ในช่วงฤดูหนาวของทุกปี  ส่วนจังหวัดเชียงใหม่ไม่ต้องพูดถึงติดอันดับหนึ่งแชมป์เมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลกมาแล้ว

                ย่างเข้าหน้าหนาวปีนี้  ฤดูกาลหมอกควันหวนกลับมาเยือน กทม. อีกแล้ว และไม่มีวี่แววแนวโน้มที่ดีขึ้น คนไทยต้องเตรียมคลุกฝุ่นสูดอากาศเป็นพิษสะสมเข้าปอด  เพราะขาดแผนเชิงรุกที่ชัดเจน เหตุนี้ ทุกภาคส่วนจะต้องเตรียมพร้อมรับมือและพยายามแก้ปัญหามลพิษอากาศนี้ให้ได้ ล่าสุด คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมควบคุมมลพิษ และกรุงเทพมหานคร จัดสัมมนาออนไลน์”PM2.5 กับรูปแบบใหม่ของการจัดการเชิงรุก (เราพร้อม) “ เมื่อวันก่อน  เพื่อหาหนทางจัดการฝุ่นพิษเชิงรุก ป้องกันชีวิตคนไม่ให้ถูกคุกคามจากฝุ่นควันจนต้องจนมุม  พร้อมมองหาก้าวต่อไปของโอกาสอากาศสะอาดอย่างมีความหวัง

                อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า จากสถานการณ์มลพิษอากาศที่ผ่านมา เราพยายามปรับรูปแบบใหม่เป็นการจัดการเชิงรุกให้ได้ภายใต้นโยบายที่กำหนดให้ฝุ่น PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบันประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝุ่นอีกรอบ ทุกปีมีการถอดบทเรียน ล่าสุด กำหนดแนวทางการปฏิบัติให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา นำมาสู่แผนเฉพาะกิจ 9 แผน ประกอบด้วยสื่อสาร ป้องกัน เผชิญเหตุ เน้นสร้างการรับรู้และให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ฝุ่น ป้องกันตัว และมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาในฐานะผู้ก่อฝุ่น    หนึ่งแนวทางเฉพาะกิจ  คือ จะคาดการณ์ฝุ่น PM2.5 ล่วงหน้า 3 วัน อย่างจริงจัง และตั้งเป้าให้คาดการณ์สามารถล่วงหน้า 5 วันในลำดับต่อไป

                นอกจากนี้ จะดำเนินการศึกษาวิจัยผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ยังขาดงานวิจัยด้านสุขภาพที่ชัดเจน ตลอดจนการสืบค้นกรณีหากมีการแพร่กระจายฝุ่นพิษมากขึ้นจะส่งผลต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือไม่ อันตรายของ PM2.5 ไม่ใช่แค่นำพาเชื้อโรค แต่มีสารประกอบที่อันตรายต่อสุขภาพที่เกาะกับฝุ่นจิ๋ว เช่น สารปรอท ต้องศึกษา เผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนทราบ เตรียมพร้อมแก้ปัญหาเมื่อเจ็บป่วย

                “ ปีนี้ไทยตั้งเป้าจุดความร้อนน้อยกว่าปี 63 ร้อยละ 20 ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน ขณะนี้ คพ.ให้ความสำคัญกับการพยากรณ์ฝุ่นที่แม่นยำผ่านเทคโนโลยี  ลงลึกระดับพื้นทื่ให้ชัดเจนเหมือนพยากรณ์อากาศ ระบุถึงอำเภอและจังหวัด เพื่อนำมาสู่การป้องกันผ่านแผนที่เป็นวาระแห่งชาติ ที่มีการแบ่งตามระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5  มีเป้าหมายสร้างสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในทุกจังหวัด และส่งเสริมการใช้เครื่องตรวจวัดอากาศแบบพกพาในระดับประชาชนควบคู่กันไป กำลังพิจารณาให้อยู่ในแพลตฟอร์ตเดียวกับ Air4Thai  แต่มีอุปสรรคเรื่องอายุการใช้งาน และมาตรฐานเครื่องแบบพกพาที่ต่างกัน อีกรูปแบบใหม่ได้หารือกับสำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งมีเสาตรวจวัดคุณภาพอากาศกระจายทั่วภาคเหนือกว่า 1,000 เสา จะสามารถติดระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัด PM2.5 ได้หรือไม่ หากมีเครื่องตรวจวัดกระจายในประเทศ เพื่อนำข้อมูลมาทำแบบจำลอง พยากรณ์สภาพอากาศได้มีประสิทธิภาพขึ้น    “ อรรถพล กล่าว

                 อรรถพล บอกด้วยว่า ขณะนี้มีเป้าหมายศึกษาพฤติกรรมของฝุ่นในพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีการจราจรคับคั่งและอุตสาหกรรมจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนที่สำคัญ วันที่  1 ม.ค. 67 กำหนดใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 พร้อมกับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เมื่อพลังงานสะอาดแทนน้ำมันที่ปลดปล่อยควันดำ ปัญหามลพิษจะลดลง ขณะที่มาตรฐานควันดำเข้มข้นขึ้นเริ่มบังคับใช้ปีหน้า แล้วยังมีพื้นที่สระบุรี เพิ่มโฟกัสฝุ่น PM2.5 ด้วย รวมถึงมาบตาพุด ระยอง ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่

                ส่วนพื้นที่โล่งทั้งพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่า อย่างภาคเหนือเดิม 9 จังหวัด ขณะนี้ขยายเพิ่มเป็น 17 จังหวัดภาคเหนือ ขณะนี้มีการพัฒนาระบบบริหารการเผาในที่โล่ง ( Burn Check) ร่วมกับ GISDA  และภาคประชาชน สนับสนุนโดย สสส. เพิ่งทดสอบระบบเพื่อป้องกันและลดฝุ่นภาคเหนือ  มีการลทะเบียนขออนุญาตบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ โดยพิจารณาผ่านศูนย์บัญชาการ (War Room ) ถือเป็นก้าวแรกของการควบคุมและจัดระเบียบการเผาในที่โล่ง อนาคตจะทำไม่ได้เลย หากไม่ได้รับอนุญาต   ซึ่งช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนและลดโลกร้อนตามที่ไทยไปประกาศในเวที COP 26  

รศ.ดร.สราวุธ  เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล  กล่าวว่า ฤดูหนาวมาถึงไทยมีโอกาสเผชิญปัญหาPM2.5  เมื่อปัญหาเกิดมันสายเกินแก้ กรุงเทพมหานครพยายามกำหนดมาตรการสถานการณ์ที่ค่าฝุ่นเกิน 75 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.เกินค่ามาตรฐานไป 1.5 เท่า  สั่งหยุดการก่อสร้างรถไฟฟ้า 5-7 วัน ปิดการเรียนการสอนครั้งละไม่เกิน 5 วัน ให้บุคลากร กทม.เหลื่อมเวลาทำงานลดใช้รถส่วนตัว   ใช้มาตรการจับปรับจอดรถไม่ดับเครื่อง มาตรการเหล่านี้ใช้เมื่อฝุ่นเกินค่ามาตรฐานก่อน ทำไมการใช้ข้อมูลตรวจวัดเพียงอย่างเดียวถึงมีปัญหา มีข้อมูลสถานีดินแดง วันที่14 ธ.ค-16 ธ.ค. 63 พบค่าฝุ่นเกินทุก ชม. ค่าเฉลี่ย 24 ชม.ก็เกิน  แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เวลา 16.00 น. ของวันมีฝนตกหนัก 3 ชม. ฝุ่นตกลงมา ค่าฝุ่นหายไป เมื่อฝนหยุดค่าสูงเกินมาตรฐานทันที  แล้วยังมีกราฟแสดงผล ค่าเฉลี่ย 24 ชม.ลดลง แต่ความจริงค่ารายชั่วโมงนั้นเพิ่มขึ้น นี่คือ ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน แต่คนได้รับผลกระทบทางสุขภาพแล้ว ปริมาณฝุ่นสะสมในระบบทางเดินหายใจจากมาตรการที่ไม่สอดคล้อง

                “ ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ได้เกิดตลอดทั้งปี กรุงเทพมหานครมีศักยภาพการเจือจางของมลพิษแตกต่างกัน ถ้าไม่ใช่ฤดูหนาว อากาศลอยตัวในแนวดิ่งได้ดี เมื่อมลพิษกระจายออกมา จะมีพื้นที่เจือจางมาก แต่ถ้าลมสงบ การแพร่กระจายแนวดิ่งจำกัดอาจเหลือแค่ 100 เมตร ไม่มีศักยภาพเจือจาง เป็นช่วงเวลา 2 เดือนที่เจอปัญหา  ทำให้มีการควบคุมเป็นระยะ มีมาตรการเข้มงวดในช่วงเวลาที่มีปัญหา ส่วนมาตรการหลักปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงใช้ตลอด เป็นสิ่งที่ประเทศไทยทำอยู่   ที่แคนาดาวันที่ศักยภาพการเจือจางไม่ดี จะประกาศห้ามเผา เป็นเกณฑ์ที่ใช้จัดการการเผา เป็นวิธีที่เหมาะกับภาคเหนือของบ้านเรา   “   รศ.ดร.สราวุธ บอก

                สำหรับรูปแบบการบริหารจัดการ PM2.5 เชิงรุก คณบดีคณะสาธารณสุขบอกว่า ไทยมีข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ได้มาตรฐานและทำข้อมูลราย ชม. ซึ่งใช้บริหารจัดการได้ดี แต่ถ้านำข้อมูลการพยากรณ์มาเสริมจะจัดการเชิงรุก ที่อังกฤษมีปัญหา PM2.5 และโอโซน ใช้แบบจำลองพยากรณ์ Run -time จะต่ำกว่า 24 ชม. โดยอย่างน้อยต้องสามารถแสดงข้อมูลเฉลี่ยรายวันของวันรุ่งขึ้นได้ทัน ครอบคลุมพื้นที่ที่ต้องการ  ซึ่งต้องมีความพร้อมของข้อมูลการระบายจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่ ถ้าโฟกัสพื้นที่ กทม. และภาคเหนือตอนบน ต้องทำข้อมูลการระบายให้ชัด 

                “  กรณีที่มีผลโมเดลบ่งชี้ว่าจะเกิดค่าฝุ่นสูงขึ้น โมเดลต้องสามารถบ่งชี้อิทธิพลของแหล่งกำเนิดอะไร การจราจร เผาในที่โล่ง ภาคอุตสาหกรรม เพื่อช่วยกำหนดมาตรการการจัดการที่เหมาะสมล่วงหน้าก่อนเกิดฝุ่น “ รศ.ดร.สราวุธ เสนอ

ประโยชน์ของข้อมูลจากแบบจำลองกับการจัดการ PM2.5 เชิงรุก จะทราบแหล่งที่มาชัดเจนและให้ข้อมูลการพยากรณ์ ข้อมูลแบบนี้สถานีตรวจวัดบอกไม่ได้ การจัดการปัญหาหัวใจสำคัญ คือ การลดปริมาณการระบายมลพิษในช่วงเวลาฝุ่นเกินมาตรฐาน โดยกำหนดมาตรการที่เป็นการเพิ่มเติมมาตรการหรือกฎหมายกฎระเบียบเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น การจำกัดจำนวนจราจร รถทะเบียนเลขคู่ เลขคี่ ในช่วงเวลาที่มีปัญหา ช่วยทุเลาปัญหา ไม่ใช่มาตรการตรวจจับควันดำที่มีอยู่แล้ว

                “ โฟกัสที่กรุงเทพฯ เจอค่าฝุ่นสูง บอกปัญหาฝุ่นของเราเกิดจากเพื่อนบ้าน มีคำถามว่าจริงเหรอ ซึ่งเทคโนโลยีช่วยตรวจสอบการเดินทางของมลพิษอากาศได้ จะเห็นว่าเหมือนลมพัดมาจากกัมพูชา แต่เส้นทางสั้น ความเร็วลมต่ำมาก ใช้ระยะเวลาเดินทางไกลมากกว่าจะถึงกรุงเทพฯ แหล่งกำเนิดมลพิษหลักๆ มาจากในพื้นที่กทม. “    รศ.ดร.สราวุธ ชี้ปัญหา

                ส่วนจะจัดการอย่างไรให้เป็นเชิงรุกนั้น คณบดีคนเดิมระบุแหล่งกำเนิดต่างกัน รูปแบบการแก้ปัญหาต่างกัน การจัดการเชิงรุกจะเป็นในรูปแบบของพื้นที่นำร่อง เหมือนคำว่า”แซนด์ บ็อกซ์” มีการลองผิดลองถูก มาตรการที่ใส่ในพื้นที่แซนบ็อค มีผลกำไรมากแค่ไหน แน่นอนการจัดการต้องผสานองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และสังคมที่ชัดเจน เพราะเป็นปัญหาสาธารณะ ประชาชนให้ความสนใจกับฝุ่นพิษ

                “ การแก้ฝุ่นเชิงรุกอย่าไปมองว่า แหล่งกำเนิดมาจากอุตสาหกรรม และรถยนต์ เพราะทุกคนมีส่วนร่วมก่อให้เกิดปัญหา ต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาฝุ่นหมอกควัน ซึ่งภาคเหนือชัดเจนแล้ว แต่กรุงเทพฯ ยังขาดกระบวนการนี้ มาตรการต่างๆ การวิเคราะห์ปัญหา รูปแบบจัดการต้องให้ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายร่วมด้วยตั้งแต่เริ่ม ต้องกล้าจัดการ อย่างลอนดอนกำหนดโซนมลพิษต่ำ กำหนดประเภทของรถที่จะเข้าพื้นที่ ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ต้องเสียเงินค่าบริการ ซึ่งลอนดอนเจอปัญหามลพิษอากาศตลอดทั้งปีด้วยสภาพภูมิอากาศ ประเด็นคือ ไทยไม่กล้าเป็นผู้นำ ทั้งที่สภาพปัญหาPM2.5 รุนแรง  “

                การจัดการฝุ่น PM2.5 ยังช่วยลดก๊าซเรือนกระจก และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติต้องร่วมมือกันให้เกิด Co-benefit นอกจากนี้ ข้อมูลต้องออกมาตัวเลขที่ชัดเจน อีกกุญแจสำคัญ PM 2.5 จะยังอยู่กับเรา ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว  การจัดการประชาชนได้รับผลกระทบ ในช่วงเวลาดังกล่าวจำเป็น เน้นการจัดการที่ตัวบุคคล ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นอย่างเหมาะสม

                  ส่วนเครื่องมือจัดการฝุ่นในประเทศไทยรับมือสถานการณ์มลพิษไหวหรือไม่ ดร.ศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศและภูมิสารสนเทศ คพ. บอกว่า จะพยากรณ์แนวโน้มสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ล่องลอยในอากาศได้ เราต้องรู้อัตราการระบายจากแหล่งกำเนิด สภาพอุตุนิยมวิทยา ทิศทางความเร็วลม และสภาพภูมิศาสตร์  มีผลต่อระดับความรุนแรงของมลพิษอากาศ จึงจะทำแบบจำลองที่สามารถคาดการณ์ผลกระทบ PM2.5 ได้

                “ การคำนวณฝุ่น PM2.5 มีความซับซ้อน แบบจำลองระยะหลังพัฒนาและติดตั้งระบบคำนวณมลพิษ และระบบประเมินผลที่เป็นรูปเป็นร่างเมื่อฤดูกาลฝุ่นที่ผ่านมาโดยร่วมกับซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ สวทช. ลดการประเมินผลจาก 11 ชม.เหลือ40- 45 นาที  คพ.นำผลมาทำกราฟฟิกและเผยแพร่สู่ประชาชน หรือกำหนดนโยบายแก้ปัญหา” ดร.ศักดาให้ข้อมูล

                ประเทศไทยจะเดินหน้าสู่วันที่อากาศสะอาดหรือไม่ เป็นเรื่องที่ทุกคนคาดหวัง ผอ.ศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศฯ บอกว่า ในการแก้ปัญหาผู้บริหารระดับสูงจะต้องขยายขอบเขตของโดเมนเป้าหมายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะปัจจุบันทำอยู่เฉพาะ 2 พื้นที่ คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคเหนือ รวมถึงปรับปรุงความละเอียดและความแม่นยำ เราต้องค้นหาโซลูชั่นที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการสนับสนุนมาตรการระยะสั้นและระยะยาวในการวางแผนหมอกควันเชิงกลยุทธ์  และอัพเดทรายการการปล่อยมลพิษ

                “ ช่วงวันที่ 14 มกราคม 2563 ที่กรุงเทพฯ จมฝุ่นหนักๆ  คุณภาพอากาศทุกสถานีตรวจวัดของกรุงเทพอยู่ในระดับสีส้มเกือบหมด และมีแนวโน้มขึ้นเป็นสีแดง ซึ่งกระทบสุขภาพ วันที่ 15 เริ่มเป็นสีแดงมากขึ้น วันที่ 16 สีแดงพอกับสีส้ม การที่ค่าเฉลี่ย 24 ชม.เพิ่มขึ้นได้ สะท้อนว่า ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงต้องสูงมาก แต่เข้าวันที่ 17 ค่าฝุ่นลดลงมามาก ไม่มีพื้นที่สีแดง แปลว่า ค่ารายชม.ต่ำมาก วันที่ 18 กลายเป็นสีเขียวทั้งหมด  แต่วันที่ 19 ค่าขยับขึ้น วันที่ 20 กลับมาแดงเหมือนเดิม เมื่อจำลองแบบสถานการณ์ช่วงเวลานั้น พบว่า วันที่  14-15 ฝุ่นก่อตัวหนา จุดเปลี่ยนวันที่ 17 มีลมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงมาแล้วพัดพาฝุ่นที่สะสมออกไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งหากใช้แบบจำลอง สอบเทียบกับข้อมูลสภาพอากาศกรมอุตุฯ  จะมีประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายดีขึ้น “ ดร.ศักดาคาดหวังโมเดลที่พัฒนาขึ้นจะจัดการปัญหามลพิษอากาศได้

                นอกจากมาตรการเชิงรุก อีกประเด็นบนเวทีออนไลน์ เป็นเรื่องการป้องกันตัวจากมหันตภัยฝุ่น PM2.5  ผศ.ดร.ว่าน วิริยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เตือนว่า  ไวรัสโควิด -19 กับฝุ่น PM2.5 ที่เราเผชิญอยู่ลักษณะคล้ายกัน ต่างกันที่ขนาด โควิดยังมีวัคซีนให้ฉีด  แต่ PM2.5 ไม่มีวัคซีนป้องกัน มีเคสคนเชียงใหม่เพิ่งรู้ตัวว่าเป็นโรคมะเร็งปอดระยะที่ 3 ทั้งที่ไม่มีภาวะเสี่ยง แต่อาศัยอยู่ จ.เชียงใหม่ สันนิษฐานว่ามีตัวกระตุ้นจากมลพิษอากาศในภาคเหนือ   ฉะนั้น คนไทยต้องป้องกันตัวด้วยการสวมใส่หน้ากากที่ถูกต้องและเหมาะสม เช่น  N95 ,FFP2  หรือ KN95    ที่มีมาตรฐานกรองฝุ่นได้ หากไม่สวมหน้ากากฝุ่นจะสะสมในทางเดินหายใจและเข้าสู่ปอด   ฝุ่นในภาวะจริงภาคเหนือตอนบนเล็กกว่า 1 ไมครอน

                “ มีรายงานการศึกษาพื้นที่ภาคเหนือ ถ้าหายใจโดยไม่สวมหน้ากาก จะมีฝุ่นเข้าไปอยู่ในปอดถึง 78%  เข้าถุงลมปอด 30% ถ้าเล็กกว่า 1 ไมครอน จะเข้าสู่กระแสเลือดเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคสมอง หรือสโตรก สารในฝุ่นเป็นสารก่อมะเร็ง ยิ่งฝุ่นเล็ก มีการก่อมะเร็งสูงกว่าฝุ่นใหญ่ ฉะนั้น การเลือกหน้ากากต้องมีประสิทธิภาพการกรองของหน้ากากเป็นไปตามมาตรฐาน และมีความแนบชิดของใบหน้า ซึ่งคนส่วนใหญ่ละเลย ยังไม่พูดถึงหน้ากากของปลอมที่พบเยอะมาก แนะนำให้ซื้อในตามโรงพยาบาลและร้ายขายยา ไม่ใช่ซื้อตามตลาดนัดหรือริมทาง  ถ้าราคาถูกเกินไปคาดว่าปลอม  ส่วนเครื่องกรองอากาศห้อยคอเชิงไม่สามารถป้องกันฝุ่นได้เหมือนที่โฆษณา ไม่แนะนำให้ใช้   ” ผศ.ดร.ว่าน กล่าวในท้ายปลุกให้ทุกคนลุกขึ้นมาใส่ใจป้องกันตัวเองจากผลกระทบฝุ่น PM2.5 เพราะปัญหาหมอกควันยังไม่หายไป

                ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองผ่านขนาดเล็กผ่าน เว็บไซต์Air4Thai.com และแอปพลิเคชัน Air4Thai

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทอ. ส่งเครื่องบินบีที-67 ทิ้งน้ำ 3 พันลิตร แนวไฟไหม้วิกฤตภาคเหนือ

กองทัพอากาศ ได้เผยแพร่ข้อมูล สนับสนุนภารกิจการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ (SEE & STRIKE ) โดยส่งอากาศยาน AU-23 PEACE MAKER (Sensor)

รัฐบาลซัดกลับ 'พิธา' ไม่รู้กาลเทศะ จ้องด้อยค่านายกฯ

'รองโฆษกรัฐบาล' ย้ำชัดรัฐบาลมีแผนป้องกันภัยชัดเจน ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติต้องรอบคอบ โต้กลับ 'พิธา' ไม่รู้กาลเทศะ จ้องด้อยค่านายกฯ ดิสเครดิต รบ.

การันตี 'ทักษิณ' โรดโชว์เชียงใหม่ ทำตามระเบียบพักโทษเป๊ะ!

'สมศักดิ์' ชี้ 'ทักษิณ' ไปเชียงใหม่ทำตามระเบียบราชทัณฑ์ อ้างปกติกรณีพักโทษ ไม่มีคิวรวมก๊วน สส. พบนายใหญ่ ขอแล้วยังไร้สัญญาณตอบรับ

5 พื้นที่จมฝุ่นเดินหน้า'เขตมลพิษต่ำ'

สัปดาห์ที่ผ่านมาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกรุงเทพฯ ถือว่าเกินค่ามาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพสูงสุดในรอบปี หลายเขตค่าฝุ่นถึงระดับวิกฤตทะลุ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภาพรวมทุกเขตใน กทม. อ่วมจากฝุ่นปกคลุม  แม้ตอนนี้ชาว กทม. พอหายใจหายคอให้สะดวกขึ้น

'พัชรวาท' เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 พบ 5 จว.จุดความร้อนพุ่ง แนะ คพ. เร่งประสานทุกหน่วยเข้าควบคุมแหล่งกำเนิด

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงาน ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) โดยมีนางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ รายงานการดำเนินงานของ ศกพ. และนำเสนอสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5