พลังงานสะอาด’โซลาร์เซลล์’ อาจไม่ใช่ทางรอด  ‘ค่าไฟแพง‘                        

ปัญหาค่าไฟแพง ซึ่งเป็นความเดือดร้อนแสนสาหัสของประชาชนทุกหย่อมหญ้า กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่สุดในเวลานี้ เห็นได้จากบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ต่างมุ่งหาเสียงกับปัญหาค่าไฟแพงทั้งนั้น  ทุกพรรค พูดคล้ายๆกันว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลเมื่อไหร่จะทำให้ค่าไฟถูกลง  แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจะลดราคาค่าไฟไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีปัจจัยที่ป็นองค์ประกอบสำคัญหลายด้าน ซึ่งหลายคนที่ติดตามเรื่องนี้ก็คงรู้ว่า ข้อผูกมัดต่างๆที่มีผลต่อค่าเอฟที หรือค่าไฟฟ้าผันแปรนั้น ไม่สามารถปลดล็อกได้ง่ายดาย  หรือชี้นิ้วสั่งการได้ 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาค่าไฟแพง ได้ทำให้เกิดกระแสเรื่องการแห่ติดโซลาร์เซลล์เพื่อช่วยลดค่าไฟ  โดยคนส่วนใหญ่คิดว่า โซลาร์เซลล์ น่าจะเป็นทางรอดหนีจากการแบกรับค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มจะแพงขึ้นเรื่อยๆ ได้ เห็นได้จากโครงการโครงการโซล่าเซลล์ ภาคประชาชน   ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้โควต้าการรับซื้อไฟจากประชาชนในโครงการนี้รวมทั้งหมด  10  เมกะวัตต์ และเมื่อกลางปี 2565  กกพ.เพิ่มอัตรารับซื้อไฟจากประชาชนจากเดิมหน่วยละ 1บาทกว่าๆ มาเป็น  2.2 บาทต่อหน่วย  ซึ่งปรากฎว่ามีประชาชน มาลงทะเบียนผ่านโควต้าของการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟผ.) ที่ได้โควตาแห่งละ 5 เมกะวัตต์ ครบจำนวน 10 เมกะวัตต์แล้ว สะท้อนซึ่งเห็นความตื่นตัวและสนใจในโซลาร์เซลล์อย่างมากของประชาชน  ทำให้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม  2566 ที่ผ่านมา กกพ. ได้ประกาศขยายยะเวลาโครงการ ปี 2564 - 2573 เพิ่มเป็น 90 เมกะวัตต์ . ในอัตรารับซื้อไฟเท่าเดิม คือ 2.2 บาท/หน่วย สะท้อนให้เห็นว่า 

 ในความเป็นจริง โซลาร์เซลล์ จะเป็นทางออกปัญหาค่าไฟแพงได้จริงหรือไม่ ลองฟังจากปากคำของ ภูวดล สุนทรวิภาต นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย   

ภูวดล ยอมรับว่า ช่วงนี้กระแสติดโซลลาร์บนหลังคาบ้านเรือนประชาชนมีการตื่นตัวบูมขึ้นมา แต่ยังถือว่าไม่มาก แต่หากเมื่อเทียบกับ ช่วงปี 2564  ถือว่าโครงการโซลาร์เซลล์ภาคประชาชนว่างมาก ไม่มีใครมาสมัครร่วมโครงการ  เพราะช่วงนั้นรัฐรับซื้อไฟแค่หน่วยละ 1บาทกว่า แต่พอกลางปี 65 รัฐประกาศรับซื้อไฟเพิ่มมาเป็นหน่วยละ 2 .20 บาท  ก็ทำให้มีคนสนใจมากขึ้น และในภาวะที่ปัจจุบันค่าไฟมีราคาเกือบหน่วยละ 7 บาท      จากสมัยก่อนที่ช่วงพีกอยู่ที่ประมาณ 5 .50 บาท  จึงทำให้คนหันมาสนใจโซลาร์เซลล์มากขึ้น   โดยอัตราการรับซื้อไฟหน่วยละ 2. 20 บาท ถ้าทั้งใช้เองและเหลือขายให้รัฐจะคืนทุนภายใน  4 ปี  แต่ถ้าติดแล้วขายให้รัฐอย่างเดียว การคืนทุนจะช้าไป 3เท่า

แต่ถึงคนจะสนใจโซลาร์เซลล์มากขึ้น แต่เรื่องของราคาโซลาร์ที่ยังสูงทำให้ประชาชน ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดชนิดนี้ได้อย่างทั่วถึง   โดยภูวดล ยอมรับว่าคนที่จะติดโซลาร์เซลล์ได้ต้องเป็นคนระดับชนชั้นกลาง ที่ทำงานกลางวันที่บ้าน หรือเวิร์กฟอร์มโฮม  หรือเป็นบ้านที่มีผู้สูงอายุอยู่อาศัย จะเหมาะกับการติดแผงโซลาร์มาก  ส่วนการติดแม้ว่าถ้าใช้แอร์ 1 ตัว ขนาด 1 ตัน สามารถติดโซลาร์เพียงแค่หนึ่งแผงก็รองรับการใช้ไฟได้ แต่การติดแค่  1แผงก็จะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย ที่ต้องมีค่าแรงใในการติดตั้งบนหลังคา และการเซ็ทระบบต่างๆ   ทำให้อย่างน้อยแต่ละที่ ก็จะต้องติดครั้งละ 10 แผง  ทั้งที่ในการใช้ไฟจริงจากโซลาร์ที่ต้องใช้เฉพาะช่วงกลางวันเท่านั้น งไม่มีใครที่เปิดแอร์พร้อมกัน 10 ตัว ยกเว้นว่าบ้านหลังนั้นจะมีคนอยู่เยอะตอนกลางวันและมีแอร์ขนาดหลายตันในบ้าน    

"ผมหมายถึงบ้านที่ใช้แอร์ตัวละ 1 ตัน ใช้ 1แผงก็พอ การติด 10 แผง จึงเกินการใช้จริง ยกเว้นว่าเป็นบ้านใหญ่มีแอร์ขนาดหลายตัน หลายตัว คนอยู่บ้านเยอะ ก็จะคุ้ม ใช้ไฟได้มาก อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เช่น ตู้เย็นไม่ได้ใช้ไฟมากอย่างแอร์  พอปิดตู้แล้ว ตู้ทำความเย็นพอได้ระดับ ไฟก็จะตัด  กลายเป็นว่าการติดโซลาร์แล้วคุ้ม  ควรเป็นบ้านที่มีคนแก่อยู่บ้านกลางวัน ไม่ใช่บ้านที่มีคนออกไปทำงาน  และยังมีปัจจัยเรื่องทิศทางแดด ในเมืองมีตึก หรือต้นไม้ บังหรือไม่  ส่วนในต่างจังหวัดคงไม่จำเป็นมากเพราะใช้ไฟน้อยกว่าในเมือง "

ภูวดลบอกอีกว่า เรื่องของราคาแผงโซลาร์ที่ยังแพง อาจจะมีแนวโน้มลดราคาลงเล็กน้อยในช่วงปีหน้า เป็นต้นไป เนื่องจาก โครงการโซลาร์บิ๊กล็อต ที่รัฐบาลประกาศให้สัมปทานบริษัทเอกชน ในโควต้า   5 พันกว่าเมกะวัตต์ แบ่งเป็นโซลาร์ฟาร์ม 3 พันกว่าเมกะวัตต์ และเป็นวินฟาร์มประมาณ 1 พันเมกะวัตต์ ซึ่งมีเอกชนสนใจสมัครเข้าร่วมเต็มจำนวนแล้ว และคาดว่าจะมีการทะยอยผลิตไฟตามโควต้าดังกล่าวออกมาเรื่อยๆ ซึ่งโควต้า 3พันเมกะวัตต์นี้ จะเริ่มต้นจริงจังในปีหน้า ซึ่งจะทำให้ในปี2567 จะต้องมีการนำเข้าอุปกรณ์โซลาร์ระดับบิ๊กล็อต ซึ่งตรงนี้จะเป็นอานิสงส์ทำให้โซลาร์รูฟท็อป หรือแผงโซลาร์ตามบ้านมีการปรับราคาลดลงบ้าง 

ในเมื่อคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงโซลาร์เซลล์ เพราะมีราคาแพง แต่ในมุมมองของนักการเมือง และนักวิชาการบางคน เสนอทางออกแก้ปัญหาว่า รัฐควรสนับสนุนโซลาร์เซลล์ และควรนำระบบ  Net Metering   หรือการซื้อขายราคาเดียวกันมาใช้  

ภูวดล อธิบายในเรื่องนี้ว่า ระบบ  Net Metering   เหมือนกรณีที่เป็นไวรัล ที่บอกว่าไฟเข้า ไฟออก หักลบแล้วเหลือการใช้ไฟ  10 หน่วย  ซึ่งในความป็นจริงวิธีการนี้ จะทำให้ฐานภาษีของรัฐหายไปเยอะมาก ขณะที่ หน่วยงานการไฟฟ้าเองก็ไม่น่าจะชอบ  เพราะจะทำให้ขาดทุน เนื่องจาก รับซื้อไฟ 2.20 บาท  แต่ขายออกไป  7 บาท ทำให้กำไรส่วนต่างประเมาณ 5 บาท หายไป   

หากเทียบกับโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ซึ่งถือว่าถูกกฎหมาย คนเข้าโครงการจะมีมิเตอร์ 2 ตัว ตัวหนึ่งให้ไฟไหลออก อีกตัวให้ไฟไหลเข้า  ซึ่งทั้งไฟไหลเข้า และไหลออก มีทั้งภาษี หัก ณ ที่จ่าย  และภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสองขา ทำให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้  เพราะถือว่าเป็นการซื้อขายไฟ แต่หากไม่เข้าโครงการใช้มิเตอร์แบบเก่า ไฟไหลออก เข้า 1  ออก 1 มูลค่าการใช้ไฟหายไป กลายเป็นว่าสิ้นเดือนเหลือการใช้ไฟนิดเดียว   จากที่ควรจะเป็น 100 หน่วย กลายเป็น 10 หน่วย ที่ต้องจ่ายให้รัฐ ที่เรียกว่าเป็นNet Metering     ดังนั้น หากเข้าโครงการโซลาร์เพื่อประชาชน จึงเป็นไปไม่ได้ที่ค่าไฟจากที่ควรจะเสียระดับพันบาท กลายเป็นค่าไฟประมาณ  100 บาท หรือ 10 บาทเท่านั้น  

"เช่น ถ้าไม่ติดมิเตอร์  2 ตัว ไฟไหลออก 90 หน่วย แต่เข้า 100 หน่วย หักลบกันแล้วเหลือ  10หน่วย แต่ถ้าเป็นโซลาร์ภาคประชาชน ซื้อ 100  หน่วยราคาหน่วยละ 7 บาท เท่ากับ 700 บาท ขายไฟ  90  หน่วยๆละ2.20 บาท ก็จะได้เงินเกือบ 200 บาท  แต่การทั้งซื้อและขายล้วนมีภาษี  ทำให้ชาวบ้านทั่วไป ที่พอคิดตัวเลขตรงนี้แล้ว แม้ค่าไฟจะแพง ก็ไม่คิดติดแผงโซลาร์  "

ยังมีความเป็นไปไม่ได้ อีกแง่มุม ที่ประชาชนจะกลายมาเป็นผู้ผลิตไฟมืออาชีพ แล้วขายให้รัฐสร้างรายได้  โดยภูวดล   บอกว่า แม้แต่ในต่างประเทศเอง ก็ไม่ต้องการให้ประชาชนมีอาชีพผลิตไฟฟ้าแล้วขายให้รัฐทั้งหมด เช่น กรณีที่ประชาชนไปเที่ยวต่างประเทศ 1 เดือน ทำให้ไม่มีการใช้ไฟในบ้าน  ไฟที่ผลิตได้ก็ไหลออกขายให้รัฐอย่างเดียว      ส่วนรัฐเองเมื่อขายไฟให้ประชาชนรายนั้นไม่ได้  เดือนนั้นรับซื้อฝ่ายเดียว รัฐจะไม่ยอมจ่ายค่าไฟที่รับซื้อจากประชาชนทันที แต่จะรอให้ประชาชนรายนั้น มีการใช้ไฟในเดือนถัดไปก่อน จึงจะออกใบเสร็จการรับซื้อไฟให้  

"เช่น  ถ้าเรามีบ้านในต่างจังหวัด เป็นของญาติพี่น้อง ที่ไม่มีคนอยู่แล้ว เราก็ติดโซลาร์ กันให้หมด เพื่อขายไฟอย่างเดียว กลายเป็นว่ารัฐจะต้องเป็นฝ่ายควักเงินจ่ายอย่างเดียว ดังนั้น แนวคิด การให้ประชาชนขายไฟเข้ารัฐ จึงเป็นเรื่องเท่ๆ ที่มีไว้หาเสียง " แล้วทำอย่างไรถึงจะให้ค่าไฟถูกลง ภูวดล กล่าวว่า  จากประสบการณ์ที่ตนเคยเป็นอนุกรรมาธิการศึกษาค่าไฟฟ้าของรัฐสภา  เนื่องจาก เป็นนายกสมาคมฯโซลาร์ของประเทศไทย  โดยนั่งในอนุกรรมาธิการฯนี้  2ปี  เพื่อพิจารณาหาทางลดค่าไฟ  สรุปว่ายาก  เพราะแต่ละหน่วยงานที่ผลิตไฟ จะต้องนำส่งรายได้เข้ารัฐ หากไม่มีกำไรก็นำส่งรัฐไม่ได้ ทั้ง 3 การไฟฟ้า ฯในช่วงปกติ ไม่ใช่ช่วงโควิดระบาดที่ใช้ไฟน้อย จะทำกำไรโดยรวมได้ปีละแสนล้าน   โดยขายไฟปีละ 2แสนล้านหน่วย กำไรแสนล้าน จึงถือว่าเป็นกำไรหน่วยละ 50 สตางค์  แม้จะลดกำไรส่วนนี้ได้ทันที โดยที่ไม่เข้าเนื้อ แต่ก็ทำให้องค์กรเหล่านี้ ไม่มีเงินส่งเข้ารัฐ

  อีกวิธีหนึ่ง ที่จะลดต้นทุนผลิตไฟ ในการศึกษาพบว่า การพยายามประหยัดต้นทุน มีความอุ้ยอ้ายในเรื่องของการจัดการค่าเสื่อมราคา  และอีกด้าน แม้จะหยุดไม่ให้มีการลงทุนในไฟฟ้าหนึ่งปี ก็แทบจะไม่มีผลต่อการลดค่าไฟ หรือลดค่าไฟลงได้แค่ ครึ่งสตางค์เท่านั้น 

การสนับสนุนโซลาร์ของภาครัฐ ภูวดล เสนอว่า อย่างโครงการช้อปช่วยชาติ ที่คืนภาษีได้  สำหรับการซื้อโซลาร์ควรให้อะไรที่พิเศษมากกว่านั้น หรือสามารถหักภาษีได้ 2เท่า เพราะโครงการจะมีประโยชน์มากกว่า จะช่วยการประหยัดน้ำมัน ลดการนำเข้าก๊าซ และทำให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ดีต่อสิ่งแวดล้อม  

โซลาร์เซลล์ที่เป็นพลังงานสะอาด ดีต่อสิ่งแวดล้อม และยังมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่าอีกด้วย นายกสมาคมโซลาร์ฯ กล่าวว่า  แผงโซลาร์ที่ขายกันราคาแผงละ 6,000-7,000  บาท   เคยมีฝรั่งทำวิจัย ว่าในการผลิตโซลาร์ 1แผงใช้พลังงานไปเท่าไหร่ และปล่อยคาร์บอนไปเท่าไหร่  ซึ่งพบว่าชีวิตของแผงโซลาร์จะมีประมาณ 4เท่าของต้นทุนที่ผลิต เช่นแผงราคา 7,000 บาท แต่จะมีอายุใช้งานและสร้างมูลค่าได้ประมาณ 3 หมื่นกว่าบาท  ดังนั้น โซลาร์เซลล์ จึงเป็นสิ่งที่รักษ์โลกมาก  

นอกจากนี้ โซลลาร์เซลล์ยังมีบทบาทต่อการค้า และการส่งออกอีกด้วย ภูวดล กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าปัจจุบันโรงงานที่จะขายของเข้ายุโรป จะโดนกีดกันทางการค้า โดยยกเหตุผลเรื่องสิ่งแวดล้อม  ถ้าผลิตสินค้าโดยไม่ Net Zero หรือทำให้เกิดคาร์บอนน้อยที่สุด  จะมีปัญหาแน่นอน   แม้โรงงานต่างๆจะตื่นตัว ติดแผงโซลาร์ เพื่อใช้พลังงานสะอาด  และแม้ว่าบางโรงงานจะติดโซลาร์ทั้งหลังคา แต่ก็ได้พลังงานไม่เพียงพอกับการผลิต   ยิ่งเป็นโรงงานที่ผลิต 24  ชั่วโมง แต่แผงโซลาร์ผลิตไฟได้แค่ 4 ชั่วโมง ยิ่งไม่พอ ดังนั้น จึงเป็นปัญหาว่าจะเอาพลังงานสะอาดจากที่ไหน  ซึ่งหากมีการเปิดทางให้ โซลาร์ฟาร์ม หรือผู้ผลิตไฟภาคเอกชน สามารถส่งไฟฟ้าผ่านสายไฟฟ้าของรัฐ แล้วฟาร์มขายไฟให้กับโรงงานเหล่านี้ ก็จะเป็นการตอบโจทย์ความต้องการใช้พลังงานสะอาดของภาคอุคสาหกรรมได้  ซึ่งในต่างประเทศมีการทำโครงการลักษณะนี้แล้ว   โดยสายไฟของรัฐทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการ ส่วนไฟฟ้าที่ส่งจะเป็นของเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้า

  "เมื่อไม่นาน รัฐตั้งค่าผ่านทางส่งไฟผ่านสายส่งของรัฐ ประมาณ 1 บาทกว่าๆ ต่อหน่วย แต่ก็ยังไม่ใช่อัตราที่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ   สำหรับเอกชน แม้ราคาค่าผ่านทาง จะบวกกับค่าไฟฟ้า รวมแล้วไม่ต่างจากการซื้อไฟฟ้าจากภาครัฐเท่าไหร่ แต่สำหรับ การแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ผลิตที่รักษ์โลก ก็คือว่าคุ้มค่าที่จะซื้อไฟประเภทนี้ " ภูวดลกล่าว 

------------------

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

DAD ศึกษาปั้น “พลังงานสะอาด” เพิ่มทางเลือกป้อนศูนย์ราชการฯ

DAD เตรียมศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ “ก๊าซไฮโดรเจน” ผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ ขยายผลจากพลังงานแสงอาทิตย์ หวังความคุ้มค่าในระยะยาว

ตีปี๊บแต่ไก่โห่! เศรษฐาชูผลงานประชุมอาเซียน-ออสเตรเลีย

นายกฯ สรุปผลสำเร็จการเดินทางร่วมประชุมอาเซียน-ออสเตรเลีย ไทยผลักดันความเชื่อมโยง และการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด และสัญญาจะร่วมมือกับภูมิภาค

มช. เปลี่ยนการเผาเป็นพลังงานสะอาด พัฒนาชีวมวลจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ทดแทนการใช้ถ่านหิน ลดมลพิษ เพิ่มโอกาสแก่ชุมชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ เดินทางไปยังอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่เพื่อสาธิตวิธีการใช้เครื่องต้นแบบ Torrefactor และ Pyrolyzer นำทีมโดย ศาสตราจารย์ ดร.นคร ทิพยาวงศ์