สภากทม. ถกแก้คนเร่ร่อน รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ชี้สังคมทำให้พวกเขาไร้บ้าน ไร้สิทธิ

19 ต.ค.2565 - ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง น.ส.ศศิธร ประสิทธิ์พรอุดม สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตพระนคร ได้เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพมหานครในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 3)

น.ส.ศศิธร กล่าวว่า เนื่องจากในพื้นที่กรุงเทพฯมีสถานที่ทรงคุณค่าที่สำคัญทางประวัติศาสตร์จำนวนมากเช่น เกาะรัตนโกสินทร์ พระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ศาลหลักเมือง สนามหลวง วัด และสถานที่ราชการที่สำคัญเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งในพื้นที่บริเวณดังกล่าวพบปัญหาคนเร่ร่อน โดยเฉพาะบริเวณถนนราชดำเนินนอก และตรอกสาเก ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่เสียหายต่อกรุงเทพมหานคร รวมทั้งพื้นที่อื่น ๆ ที่มีคนเร่ร่อนพักอาศัย ก่อให้เกิดปัญหาต่อสังคม เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาความเป็นระเบียบเรียบร้อย ปัญหาความสะอาดของเมือง ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต ซึ่งปัญหาคนเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นปัญหาที่สะสมมานาน ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่ ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี จึงขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

“เขตพระนครเป็นเขตชั้นในที่สร้างรายได้ให้กับกรุงเทพมหานครจำนวนมาก แต่นักท่องเที่ยวกับประชาชนในพื้นที่กลับไม่ได้รับความปลอดภัยเนื่องจากปัญหาคนไร้บ้าน ซึ่งมักขับถ่ายสิ่งปฏิกูลและทิ้งขยะในพื้นที่สาธารณะเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ ทั้งนี้คนไร้บ้านหรือคนไร้ที่พึ่ง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือคนไร้ที่พึ่งถาวรที่เต็มใจเป็นคนไร้ที่พึ่ง และคนไร้ที่พึ่งหน้าใหม่ซึ่งอาจเป็นคนตกงาน อยู่ระหว่างหางาน ไม่มีที่อยู่อาศัย ซึ่งควรมีการจัดหาที่พักให้เพื่อป้องกันไม่ให้คนกลุ่มนี้ได้กลายเป็นคนไร้ที่พึ่งถาวร จึงขอให้กทม.บูรณาการร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สถานีตำรวจท้องที่และทุกฝ่ายในการแก้ปัญหา และนำบ้านอิ่มใจกลับมาดำเนินการ รวมทั้งให้เพิ่มความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่เทศกิจที่อาจเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากการปฏิบัติงานควบคุมคนไร้ที่พึ่งด้วย” ส.ก.พระนคร กล่าว

นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง นายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร ส.ก.เขตวัฒนา นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ นางสาวนิภาพรรณ จึงเลิศศิริ ส.ก.เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย นายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก.เขตบางรัก นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน นายณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก กล่าวสนับสนุนญัตติของส.ก.เขตพระนครและร่วมอภิปราย ว่า ปัญหาคนไร้บ้านเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ และมีประชาชนร้องเรียนเป็นจำนวนมาก ขอให้ฝ่ายบริหารกทม.จริงใจและจริงจังในการแก้ปัญหา เนื่องจากคนไร้บ้านเป็นปัญหาที่สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของสังคม นอกจากนี้ควรประชาสัมพันธ์จุดแจกอาหารซึ่งกรุงเทพมหานครตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประสงค์แจกอาหารคนไร้บ้านให้รับทราบกันอย่างแพร่หลาย

ด้าน นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ปัญหาคนไร้บ้านได้รับการร้องเรียนจากระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์จำนวน 389 เรื่อง ซึ่งพบเห็นได้มากในพื้นที่เขตพระนคร อย่างไรก็ตามปัญหาคนไร้บ้าน พม.ถือเป็นหน่วยงานหลักในการดูแล ซึ่งพม.มีศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศเพื่อดูแลปัญหานี้ กทม.ในฐานะเจ้าภาพหนึ่งในการดูแลได้ประชุมกับพม.และผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้ปัญหาเป็นระยะ

ทั้งนี้มองว่าปัญหาคนไร้บ้านไม่ได้เป็นปัญหาปัจเจก แต่ต้องถามว่าสังคมแบบใดที่ทำให้เกิดปัญหา กทม.จึงพยายามแก้ปัญหาด้วยการมององค์รวม โดยเริ่มจากการจัดทำฐานข้อมูลคนไร้บ้าน ในเดือนกันยายนพบจำนวนคนไร้บ้านมากถึง 1,656 คน โดยคนไร้บ้านจำนวน 83 คน เป็นผู้ป่วยจิตเวช ที่เหลือเป็นคนไร้บ้านที่สามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ โดยเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่กว่า 80% หรือ 1,400 คน และถือเป็นหัวใจของการแก้ไขปัญหา กทม.จึงได้จัดทำพื้นที่สวัสดิการเพื่อให้คนไร้บ้านสบายใจในการรับสวัสดิการเบื้องต้น 4 แห่ง ได้แก่ 1.ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า (ฝั่งพระนคร) เปิดให้บริการจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-17.00 น. ให้บริการทำบัตรประชาชน ดูแลสุขภาพ บริการลงทะเบียนจัดหางาน และมีบริษัทเอกชนให้บริการซักผ้า อาบน้ำ 2.ตรอกสาเก เปิดให้บริการวันอังคาร 3.หัวลำโพง เปิดให้บริการวันพุธ และ4.ถนนราชดำเนิน บริเวณอนุสาวรีย์ 14 ตุลา ซึ่งกำลังจะไปรวมกับจุดใต้สะพานพระปิ่นเกล้า (ฝั่งพระนคร)

"ปัญหายังคงจะมีอยู่ไม่ว่าจะกี่ปีต่อไป สิ่งสำคัญที่เราจะร่วมมือกันได้คือ การดึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้เห็นว่าจริงๆแล้วปัญหาคนไร้บ้านไม่ใช่ปัญหาปัจเจก ไม่ใช่ปัญหาที่เขาเป็นผู้ร้ายในสังคม และสร้างความลำบาก หากมองภาพรวมอาจจะเป็นสังคมมากกว่า ว่าทำไมถึงทำให้เขาไร้บ้าน ไร้งาน ไร้สิทธิ์ได้" นายศานนท์ กล่าว

กทม.ได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใจบุญได้ทราบ เพื่อให้คนไร้บ้านได้ไปรวมตัวกันและรับสวัสดิการต่าง ๆ ที่กทม.ได้จัดไว้ให้ด้วย นอกจากนี้กทม.ได้ร่วมกับหน่วยงานภายนอก อาทิ สสส.ทำโครงการบ้านคนละครึ่ง เฟสที่ 3 และบูรณาการร่วมกับพม.และมูลนิธิต่าง ๆ ในการดำเนินการโครงการอื่นเพื่อดูแลคนไร้บ้านอีกด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สงกรานต์'รางน้ำ' พิกัดใหม่เล่นน้ำสุดฉ่ำ

สงกรานต์กรุงเทพฯ จุดเล่นน้ำสงกรานต์ยอดฮิตที่มีคนไทยและชาวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวอย่างคับคั่งเป็นประจำทุกปี คนจะนึกถึงถนนข้าวสาร เขตพระนคร หนึ่งในย่านท่องเที่ยวและจัดงานเล่นน้ำสงกรานต์ยอดนิยมเสมอมาของกรุงเทพฯ  รองลงมาสงกรานต์สีลมซึ่งปิดถนนให้เล่นน้ำสงกรานต์กันตลอดเส้นสีลม ยังมีพื้นที่ของคนกลุ่มความหลากหลายทางเพศ LGBTQ ที่จัดประกวดเทพีสงกรานต์ เดินขบวนพาเหรด การแสดงศิลป

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ

ศิลปะกลางแจ้งย่านเก่า หนุนกรุงเทพฯ เมืองที่ดีที่สุด

กรุงเทพฯ ยังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก หลังนิตยสารท่องเที่ยวชื่อดัง DestinAsian ประกาศให้กรุงเทพฯ คว้าอันดับ 1 เมืองที่ดีที่สุด (Best Cities 2024)  ในประเภทเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว (Destination) ในเอเชียแปซิฟิก