กลาโหม ตรวจความพร้อมหอประชุมกองทัพเรือ จัดเลี้ยงอาหารค่ำรองรับผู้นำเอเปก

14 พ.ย.2565 - เวลา 15.00 น. พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พลเอก สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม และคณะเดินทางไปตรวจความพร้อมของ หอประชุมกองทัพเรือ ซึ่งจะใช้เป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำ (Gala Dinner) อย่างเป็นทางการแก่ ผู้นำเขตเศรษฐกิจ ที่เข้าร่วมประชุม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) หรือ เอเปก 2022 (APEC 2022) . ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565

โดยมี พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้การต้อนรับ โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะ ได้รับฟังการบรรยายสรุปการเตรียมความพร้อม ณ ห้องวิไชยประสิทธิ์ 3 พร้อมทั้งตรวจความเรียบร้อยของพื้นที่จัดงาน ก่อนรับชมการสาธิตการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ การส่งกลับสายแพทย์ทางบกและทางน้ำ การปฏิบัติเมื่อเกิดอัคคีภัยภายในหอประชุมกองทัพเรือ และการเคลื่อนย้ายฉุกเฉินทางน้ำ

ในระหว่างวันที่ 17 ถึง 19 พฤศจิกายน นี้ ประเทศไทย ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) หรือ เอเปก 2022 (APEC 2022) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และ งานเลี้ยงอาหารค่ำ (Gala Dinner) อย่างเป็นทางการ ณ หอประชุมกองทัพเรือ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ กองทัพเรือ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการจัดเตรียมหอประชุมกองทัพเรือ สำหรับงานเลี้ยงอาหารค่ำรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุม รวมถึงการรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือ ทั้งทางบกและทางน้ำ ตลอดห้วงระยะเวลาที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกและคู่สมรสร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ (Gala Dinner) ที่หอประชุมกองทัพเรือ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน

การรักษาความปลอดภัยทางน้ำในพื้นที่ทางน้ำบริเวณโรงแรมที่พักผู้นำเขตเศรษฐกิจที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา หรือพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายเพิ่มเติม รวมทั้งจัดทำแผนการเคลื่อนย้ายบุคคลสำคัญทางน้ำและแผนการส่งกลับสายแพทย์ทางน้ำกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน สนับสนุนท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา สำหรับให้เครื่องบินพิเศษหรือเครื่องบินสำรองของผู้นำเขตเศรษฐกิจ จอดตามแต่จะได้รับการประสาน การจัดแพทย์ พยาบาล รถพยาบาล ห้องฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการปฏิบัติการด้านการแพทย์และการส่งกลับสายการแพทย์ รวมทั้งจัดกำลังพล ชุดปฏิบัติการ ยานพาหนะ ยุทโธปกรณ์ สนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ตามที่ได้รับการประสาน เพื่อสนับสนุนการจัดประชุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีความปลอดภัยสูงสุด

โดยมี ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ทำหน้าที่เป็นหน่วยควบคุม อำนวยการ สั่งการ และติดตามการปฏิบัติงานในการรักษาความปลอดภัยและการจราจรในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือ และพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายในภาพรวมทั้งทางบกและทางน้ำ ของหน่วยต่าง ๆ ที่กองทัพเรือ ได้จัดตั้งขึ้น ประกอบด้วย หน่วยรักษาความปลอดภัยทางบก หน่วยเรือรักษาความปลอดภัยทางน้ำ กองกำลังปฏิบัติการพิเศษกองทัพเรือ หน่วยปฏิบัติการลำเลียงขนส่ง หน่วยปฏิบัติการทางการแพทย์ รวมถึงหน่วยอื่น ๆ ที่กองทัพเรือมอบหมาย

สำหรับความเป็นมาของการจัดสร้างหอประชุมกองทัพเรือ เกิดจากการประชุมเอเปก โดยในปี พ.ศ.2546 ประเทศไทยได้รับเกียรติ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เอเปก 2003 เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับการประชุม รัฐบาลในขณะนั้น จึงได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2545 ให้กองทัพเรือจัดเตรียมสถานที่สำหรับการจัดการจัดเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจ จำนวน 21 ประเทศที่เข้าร่วมประชุม

ในพื้นที่ของกรมสารวัตรทหารเรือ ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง พร้อมกันนี้ยังได้สร้างอาคารราชนาวิกสภาหลังใหม่เชื่อมต่อกับอาคารราชนาวิกสภาหลังเก่า เพื่อใช้เป็นสถานที่ชมการแสดงขบวนพยุหยาตราชลมารค และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วได้มอบอาคาร และสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้กองทัพเรือดำเนินการในเชิงพาณิชย์ โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปได้ใช้เป็นสถานที่จัดงานในโอกาสต่าง ๆ ได้ ซึ่งที่ผ่านมานอกจากการประชุมในครั้งนั้น หอประชุมกองทัพเรือ ได้เคยเป็นสถานที่จัดงานสำคัญต่าง ๆ อาทิ

- งานชุมนุมพบปะสังสรรค์ คณะผู้บริหารจาก องค์การ ผู้บริหารระดับสูงของโลก (WPO) ในปี พ.ศ.2548 การประชุมสุดยอดผู้นำพระพุทธศาสนาแห่งโลก ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2548
- งานเลี้ยงต้อนรับสาวงามที่เข้าร่วมการประกวดนางงามจักรวาล (Miss Universe) 2005 พ.ศ.2548
-เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระราชกรณียกิจ 60 ปี เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พ.ศ.2549
- งานประชุมสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ.2549
- งานสโมสรสันนิบาต พ.ศ.2551

ทั้งนี้ อาคารหอประชุมกองทัพเรือ มีแนวความคิดในการวางผังบริเวณอาคาร คือ การเปิดพื้นที่โล่งบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อส่งเสริมทัศนียภาพขององค์พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และสร้างความสง่างามแก่พื้นที่ตั้ง รวมทั้งตัว อาคารหอประชุมกองทัพเรือ ได้ออกแบบเพื่อวัตถุประสงค์หลัก สองประการ คือ ใช้ในภารกิจหลักของกองทัพเรือ สำหรับการจัดประชุมรูปแบบต่าง ๆ ขณะเดียวกันที่สำคัญให้มีความพร้อมและความสมบูรณ์ครบถ้วน เพื่อรองรับการจัดงานเลี้ยง และรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในการประชุมเอเปก 2003 รวมถึงการประชุมเอเปก 2022 ในครั้งนี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'โฆษก กห.' แจงภาพทหารเกณฑ์ล่ามโซ่ กลุ่มผู้ต้องโทษบำบัด รพ. พร้อมสั่ง ทบ. สอบเพิ่ม

'โฆษกกลาโหม' แจงภาพทหารเกณฑ์ถูกล่ามโซ่ เป็นกลุ่มผู้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม-ผู้ต้องโทษ ส่งมาบำบัดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า พร้อมสั่งกองทัพบกสอบเพิ่ม

ก้าวไกล จวกกลาโหมซ่อนงบลับ ซื้อที่นอนยางพารา-ธงปลาคราฟ ราคาแพงกว่าในออนไลน์

“ก้าวไกล” จวก “กลาโหม” ซ่อนงบลับ แฉซื้อ “ที่นอนยางพารา” 2,885 บาท ทั้งที่ในเน็ตไม่ถึง 1,500 ขณะที่ซื้อ “ธงปลาคราฟ” วัดทิศทางลมเกือบ 2 หมื่น แต่ในออนไลน์สูงสุดแค่ 4,300 บาท ถาม กลัวปชช.เจ้าของเงินภาษีรู้หรือ อัด มีงบตรวจ HIV เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

'ก้าวไกล' ถลกเบื้องหลังกมธ.งบฯ 67 โวย สภามีอำนาจน้อย จับตาดึงงบฯไม่มีเจ้าภาพเข้างบฯกลาง

'ก้าวไกล' ถลกเบื้องหลัง กมธ.งบฯ 67 ’ศิริกัญญา‘ โวย สภามีอำนาจน้อย เหตุหน่วยงานใช้งบฯไปพลางแล้ว หวัง แก้ช่องโหว่ โยกอำนาจจาก ผอ.สำนักงบไปที่นายกฯ จะได้มีคนรับผิดรับชอบ ตั้งข้อสงสัย ตัดงบกันใหญ่วันสุดท้าย ดึงงบหน่วยงานไม่มีเจ้าภาพเข้างบกลาง ยัน รบ.ต้องหาทางลง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เย้ย ไม่เกิดได้แน่