'ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน' ประจานความล้มเหลว 'เขื่อนปากมูล' 9 ข้อ สาเหตุน้ำท่วมภาคอีสานตอนล่าง

'ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน' ประจานความล้มเหลว'เขื่อนปากมูล' 9ข้อ สาเหตุสำคัญทำให้เกิดน้ำท่วมภาคอีสานตอนล่าง ชี้ สร้างเขื่อนผิดที่ผิดทาง ปิดขวางทางน้ำ ผลิตไฟฟ้าไม่ได้ตามเป้าหมาย ทำลายพันธุ์ปลาธรรมชาติแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แนะปลดระวางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

16 พ.ย.2565 - นายกฤษกร ศิลารักษ์ หรือ ป้าย ปากมูล ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง เหตุผล 9 ประการ “ประจานความล้มเหลวของเขื่อนปากมูล” มีเนื้อหาดังนี้

“ปลดระวางเขื่อนปากมูล แก้ปัญหาน้ำท่วม แก้ปัญหาด้านสังคม แกปัญหาด้านเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน”

สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2565 สร้างความเสียหายจำนวนมหาศาล ในหลายจังหวัดของภาคอีสานตอนล่าง แต่ที่หนักสุดก็คือ จังหวัดอุบลราชธานี และ จังหวัดศรีสะเกษ บ้านเรือน ไร่นา ทรัพย์สินถูกน้ำท่วมเสียหายจำนวนมาก หลายครอบครัวแทบสิ้นเนื้อประดาตัว หลายครอบครัว บ้านเรือน ต้องจมน้ำมานานกว่า 2 เดือน เกษตรกร เหลือข้าวกินอีกไม่กี่เดือนเท่านั้น ส่วนเมล็ดพันธ์ข้าวที่จะใช้เพาะปลูกในฤดูเพาะปลูกครั้งต่อไป ไม่มี ขณะที่เงินช่วยเหลือจากภาครัฐที่น้อยนิดนั่น ปัจจุบันการช่วยเหลือก็ยังไม่ถึงมือผู้ได้รับผลกระทบเลย

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในภาคอีสานตอนล่าง จะเกิดจากเขื่อนปากมูล แทบทุกครั้ง โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ (2565) เกิดจากความผิดพลาดที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ฝ่าฝืนมติที่ประชุมที่เห็นชอบให้เปิดเขื่อนปากมูล ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2565 แต่ กฟผ.กลับบ่ายเบี่ยงแถมยังเพิ่มระดับเก็บกักน้ำ จนเต็มความจุของเขื่อนขณะที่เขื่อนหัวนา เขื่อนราษีไศล ต่างพากันเร่งระบายน้ำออก จนสุดท้ายเอาไม่อยู่เขื่อนปากมูลต้องเปิดประตูในวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ล่าช้ากว่ากำหนดถึง 40 วัน ซึ่งความผิดพลาดของเขื่อนปากมูล ในปีนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เป็นความผิดพลาด ตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง จนถึงการบริหารจัดการที่ผิดพลาด ล้มเหลวตลอดมา โดยผมใคร่ขอเรียบเรียงเพื่อให้ทุกท่าน ได้พิจารณาข้อมูลอีกด้าน เผื่อจะเป็นประโยชน์ ต่อความเข้าใจถึงสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก ดังนี้

ประการที่ 1. สร้างเขื่อนผิดที่ ผิดทาง (สร้างเขื่อนที่ปลายแม่น้ำ) : ที่ตั้งเขื่อนปากมูล อยู่ปลายแม่น้ำมูน ซึ่งโดยปกติทั่วไป (เท่าที่ผมมีข้อมูลจากหลายประเทศทั่วโลก) จะไม่มีใครเขาสร้างเขื่อนที่ปลายแม่น้ำกัน จึงทำให้ต้องเก็บน้ำไว้ในปริมาณมาก เพื่อให้พื้นที่ด้านเหนือเขื่อนได้ประโยชน์ แต่ในช่วงที่เขื่อนปากมูล ทำการปั่นไฟฟ้า น้ำที่ระบายออก ก็ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ทำให้พื้นที่ท้ายน้ำ ขณะที่การเก็บกักน้ำไว้ในปริมาณก็ทำให้ตัวเมืองอุบลราชธานี เสี่ยง และมักเกิดน้ำท่วมแทบทุกปี เพราะในแม่น้ำมูน มีน้ำต้นทุนมากเกินไป

การสร้างเขื่อนปิดปากแม่น้ำ ยังส่งผลต่อวงจรการอพยพเดินทางของปลาจากแม่น้ำโขง ที่จะต้องว่ายทวนน้ำ เข้ามาวางไข่ในแม่น้ำมูน ไม่สามารถเดินทางข้ามเขื่อนปากมูนได้ และส่งผลให้ปลาในแม่น้ำมูนลดจำนวนลงอย่างมาก ดังที่ทราบกันอยู่ในปัจจุบัน

ประการที่ 2. ปิดขวางทางน้ำ (เขื่อนกลายเป็นคอขวด) : เขื่อนปากมูล ตั้งอยู่ที่บ้านหัวเห่ว ห่างจากปากแม่น้ำมูน (จุดที่แม่น้ำมูนไหลเข้าสู่แม่น้ำโขง) ประมาณ 5-6 กิโลเมตร แม่น้ำมูนจุดตั้งของเขื่อนปากมูล มีความกว้างประมาณ 300 เมตร แต่ในฤดูน้ำหลาก พื้นที่ริมตลิ่งฝั่งซ้ายจะกว้างขึ้นอีกเกือบ 100 เมตร ดังนั้นในฤดูน้ำหลากบริเวณที่ตั้งเขื่อนปากมูล จึงเป็นทางน้ำไหลผ่านประมาณ 400 เมตร แต่กลับถูกปิดกั้นให้เหลือเพียง 180 เมตร ที่น้ำจะไหลผ่านได้ (ประตูเขื่อนปากมูลกว้างบานละ 22.5 เมตร X 8 บาน = 180 เมตร) ส่วนพื้นที่อีก 220 เมตร ถูกปิดกั้นไว้ (400 - 180 = 220) ซึ่งตรงนี้ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ มีสภาพเป็นคอขวด ทำให้มวลน้ำจำนวนมากที่ไหลลงมา ถูกบีบ ให้เหลือช่องน้ำผ่านเพียงแค่ 180 เมตร ในการไหลลงสู่แม่น้ำโขง น้ำจึงอัดเอ่อที่ด้านหน้าเขื่อนปากมูล

ประการที่ 3. ผลิตไฟฟ้าไม่ได้ตามเป้าหมาย : จากการรวบรวมงานวิจัยของคณะอนุกรรมการ ฯ ที่รัฐบาล แต่ตั้งขึ้น ได้สรุป รายได้จากการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนปากมูล เฉลี่ยปีละ 99 ล้านซึ่งเป็นรายได้ที่ต่ำมาก หากเทียบกับรายได้จากการประมง ที่เคยได้เฉลี่ยปีละ 140 ล้านบาท แต่หายไปนับจากเขื่อนปากมูลเปิดใช้งาน และนี่ยังไม่รวมรายได้จากการท่องเที่ยวแก่งต่าง ๆ ในแม่น้ำมูน โดยเฉพาะแก่งสะพือ ที่ศูนย์เสียรายได้และมูลค่าในทางเศรษฐกิจจำนวนมาก

ประการที่ 4. งบประมาณบานปลาย : เขื่อนปากมูล กำหนดงบประมาณการก่อสร้างโครงการไว้ที่ 3,000 ล้านบาท แต่เมื่อมีการก่อสร้างจริง งบประมาณบานปลายเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัว

ประการที่ 5. ทำลายพันธุ์ปลาธรรมชาติ : การก่อสร้างเขื่อนปากมูล ถูกต่อต้านจากคนหาปลา นักศึกษา นักวิชาการ และนักสิ่งแวดล้อม อย่างมาก ว่า การสร้างเขื่อนปากมูล ปิดปากแม่น้ำ จะทำให้ปลาในแม่น้ำโขง ซึ่งคาดว่ามีกว่า 1,700 ชนิด จะไม่สามารถเดินทางข้ามเขื่อนปากมูลเข้ามาวางไข่ในแม่น้ำมูนได้

ซึ่งต่อมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ทำการสร้างบันไดปลาโจน ขึ้น โดยอ้างว่าจะเป็นเส้นทางเดินของปลาจากแม่น้ำโขง ใช้ในการเดินทางข้ามเขื่อนปากมูลเพื่อเข้าสู่แม่น้ำมูน

บันไดปลาโจน เป็นเทคโนโลยี ใหม่ที่สังคมไทยในขณะนั้นยังไม่มีองค์ความรู้ จึงทำให้การต่อต้านการสร้างเขื่อนลดกระแสลง และเขื่อนปากมูลได้ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และต่อมา สังคมไทยก็ได้รับรู้การว่า “บันไดปลาโจน” ไม่มีปลาเดินทางข้ามเลย จนกระทั่งงานวิจัยได้สรุปว่า รายได้จากการหาปลาหายไปเฉลี่ยปีละ 140 ล้านบาท ขณะที่พันธุ์ปลาที่พบในแม่น้ำมูนมีเพียง 90 กว่าชนิด เท่านั้น

ประการที่ 6. ทำลายแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ : ตลอดลำน้ำมูน ตั้งแต่ตัวเมืองอุบลราชธานี ถึงปากมูน (แม่น้ำสองสี) มีแก่งหินธรรมชาติ น้อยใหญ่ตลอดลำน้ำกว่า 50 แก่ง โดยในอดีตมีแก่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รู้จักกันมากคือ แก่งตะนะ และ แก่งสะพือ ซึ่งในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศ เดินทางมาท่องเที่ยว มีมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมาก แต่หลังการสร้างเขื่อนปากมูลเสร็จ แก่งเหล่านี้ถูกน้ำท่วมจมอยู่ใต้น้ำ ในส่วนของแก่งตะนะ ซึ่งอยู่ท้ายเขื่อนปากมูล แม้ไม่ถูกน้ำท่วม แต่ก็ไม่มีน้ำไหลผ่าน เพราะน้ำถูกเก็บกักไว้ที่ปากมูล จนมีสภาพเป็นแก่งร้าง

ประการที่ 7. การบริหารน้ำที่แปลกประหลาด “ปล่อยน้ำฤดูแล้ง เก็บน้ำฤดูฝน” : เขื่อนปากมูลที่สร้างความเสียหายต่อพันธุ์ปลา และ แหล่งท่องเที่ยว คือ แก่งสะพือ จนนำไปสู่การทำข้อตกลงระหว่าง กฟผ. กับคนหาปลา ว่าเขื่อนปากมูลจะต้องเปิดประตูระบายน้ำทันทีเมื่อระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำห้วยสะคามอยู่ที่ 95 ม.รทก. และ กฟผ. ยังได้ทำข้อตกลงกับผู้ประกอบการร้านค้าที่แก่งสะพือว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เขื่อนปากมูลจะต้องลดระดับน้ำลงมาอยู่ที่ 105.50 ม.รทก. ซึ่งต่อมา เขื่อนปากมูล ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม เขื่อนปากมูล จะรักษาระดับน้ำไว้ที่ 105.50 -106.50 ม.รทก. และตั้งแต่เดือนมิถุนายน - ธันวาคม เขื่อนปากมูล จะรักษาระดับน้ำไว้ที่ 108 ม.รทก.

หรือสรุปให้เข้าใจง่ายๆ คือ เขื่อนปากมูล ต้องปล่อยน้ำในฤดูแล้ง แล้วเก็บกักน้ำไว้ในฤดูฝน ซึ่งไม่มีเขื่อนไหน เขาบริหารจัดการน้ำกันแบบนี้

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ กฟผ.จะมีข้อตกลงกับคนหาปลา และ กฟผ.มีข้อตกลงกับคนพิบูล ว่าจะเปิดประตูเขื่อนเพื่อให้ปลามาวางไข่ และต้องเปิดประตูเขื่อนเพื่อให้แก่งสะดือโผล่พ้นน้ำ ก็ตาม ตลอดเวลา เกือบ 30 ปี กฟผ. ก็ไม่เคยรักษาสัญญา ไม่เคยปฏิบัติตามข้อตกลงนี้เลย

ประการที่ 8. ความไม่โปร่งใสของคณะทำงานบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล : การบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ในการตัดสินใจ ปิด - เปิดประตูเขื่อนปากมูล กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล แต่ในทุกครั้งที่จะมีการประชุม การส่งหนังสือเชิญประชุม ก็จะทำแบบเร่งรีบ ส่งหนังสือเย็นวันนี้ ประชุมวันพรุ่งนี้ ทำให้หลายครั้งหนังสือเชิญประชุมไปถึงคณะทำงาน ฯ หลังวันประชุมผ่านไปแล้ว หรือ บางครั้ง คณะทำงาน ฯ รู้ว่าจะมีการประชุมกระชั้นชิด จนไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้

การเชิญประชุม จึงเสมือนหนึ่งว่า ไม่อยากให้คณะทำงาน ฯภาคประชาชน ได้เข้าร่วม หรือเรียกว่า แค่ตั้งให้ดูดี มีสัดส่วนองค์ประกอบ ดูเท่ แต่ไม่เต็มใจ ทำงานแบบไม่โปร่งใส

ประการที่ 9. สร้างความขัดแย้งระหว่างรัฐ กับ ประชาชน : เขื่อนปากมูล ดำเนินการก่อสร้างในยุคของรัฐบาลคณะรัฐประหาร ชาวบ้านคนหาปลา นักศึกษา นักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อม ต่างพากันคัดค้านอย่างเต็มที่ ด้วยข้อห่วงใยว่าเขื่อนปากมูล จะทำให้พันธุ์ปลาในแม่น้ำมูนลดลง และจะส่งผลให้ประชาชนที่อยู่รอบสองฝั่งแม่น้ำมูน สูญเสียอาชีพประมง เพราะปลาลดลง

การต่อสู้ การเรียกร้องความเป็นธรรมของคนหาปลาปากมูน ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2532 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าในปัจจุบันกระบวนการแก้ปัญหาให้กับชาวบ้าน อยู่ในขั้นตอนการคัดกรองผู้เดือดร้อน ซึ่งถือว่าได้สร้างความหวังให้กับชาวบ้านว่า ปัญหาความเดือดร้อนของพวกเขาจะได้รับการแก้ไขปัญหาในอีกไม่นาน แต่หากมองย้อนกลับไป ในช่วงกว่า 30 ปี ที่การต่อสู้ การเรียกร้องให้สร้างรอยร้าวขึ้น ระหว่างรัฐกับประชาชน ซึ่งรอยร้าว ความขัดแย้งนี้ได้ร้าวลึก จากรุ่น สู่รุ่น และคงใช้เวลาอีกนาน

ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอุบลราชธานี จึงจำเป็นที่จะต้องมองในหลากหลายมิมติ ดังนี้

๑. ฟื้นทางน้ำเดิม หรือ ร้างทางลัดน้ำ : เดิมบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำมูน มีสภาพลุ่มต่ำในฤดูฝน หรือฤดูน้ำหลากน้ำจะหลากไหลผ่าน แต่ความการพัฒนาความเติบโตของเมืองทำให้พื้นที่เหล่านั้นถูกปลูกสร้างเป็นอาคาร บ้านเรือน รวมทั้งทางน้ำเดิม หรือ “มูนหลง” คือ “ร่องกุดปลาขาว” และ “กุดศรีมังคละ” ร่องน้ำดังกล่าวบางช่วงได้ถูกรุกล้าปิดกั้น และยังมีวัชพืชจำพวกผักตบชวา อัดแน่นเต็มแอ่งน้ำ จนพื้นที่ดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นร่องน้ำ ทำให้น้ำที่หลากท่วมไม่สามารถไหลผ่านช่องทางนี้ได้

หากฟื้นทางน้ำเดิมให้ ก็จะทำให้เป็นการเปิดทางน้ำเพิ่มอีกเส้น ในช่วง “กุดศรีมังคละ” และ “กุดปลาขาว” ได้ ก็จะทำให้เป็นทางผ่านของน้ำให้ไหลออกได้อีกทาง ซึ่งจะทำให้การพร่องน้ำให้ผ่านตัวเมืองอุบลราชธานี ทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และนอกจากนี้ทางน้ำที่เปิดใหม่ จะทำให้มีแหล่งน้ำดิบสำหรับน้ำไปผลิตเป็นน้ำปะปา ได้อีกทางด้วย

๒. ปลดระวางเขื่อนปากมูล และให้โอนเขื่อนปากมูล ให้มาอยู่ในการกำกับของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เมื่อกรมชลประทานรับโอนเขื่อนปากมูลแล้ว ให้กรมชลประทาน เปิดทางระบายน้ำเขื่อนปากมูล เพิ่มจาก ๑๘๐ เมตร เป็น ๓๖๐ เมตร เหมือนกับที่เขื่อนราษีไศล ที่เดิมอยู่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน และเมื่อโอนมาสังกัดกรมชลประทานแล้ว กรมชลประทานได้เปิดทางระบายน้ำเขื่อนราษีไศลเพิ่ม (เส้นจากบ้านดอนงูเหลือมเข้าไปเขื่อนราษีไศล)

๓. ทำอุโมงค์ผันน้ำจากหน้าแก่งสะพือ ไปลงห้วยตุงลง จะทำให้น้ำไหลสะดวกมากขึ้น เพราะมวลน้ำที่ไหลมาจากตัวเมืองอุบลราชธานี ที่ผ่านมาจะมาอัดเอ่อที่แก่งสะพือ และ แก่งคันไร่ ซึ่งเป็นแก่งขนาดใหญ่ และมีความสูง หากสร้างอุโมงค์ผันน้ำอ้อมไปให้พ้อนแก่งทั้งสองแห่งแล้ว การผลักดันน้ำให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ก็จะเป็นไปได้อย่างสะดวก

จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้น จึงพอประมวลสรุป ได้ดังนี้

การ “ปลดระวางเขื่อนปากมูล” เพื่อปลดล็อกไม่ให้น้ำท่วมต่อไปในอนาคต ซึ่งหากทำการปลดระวางเขื่อนปากมูล ผลกระทบด้านลบ ด้านบวก มีอะไร บ้าง จึงขอนำเสนอข้อมูลทั้งสองด้าน เพื่อให้ทุกท่านได้ช่วยกันพิจารณา ดังนี้

1. ข้อดีหากยังใช้งานเขื่อนปากมูล ต่อไป

1.1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีรายได้จากการผลิตไฟฟ้า เฉลี่ยปีละ 99 ล้านบาท
1.2 ทำให้มีน้ำแหล่งน้ำดิบให้จังหวัดอุบลราชธานี มีแห่งน้ำเพิ่มในการผลิตน้ำปะปา

2. ข้อดีของการปลดระวางเขื่อนปากมูล
2.1 ลดน้ำต้นทุนที่จะทำให้น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี
2.2 สามารถขยายทางน้ำให้กว้างมากขึ้นจาก 180 เมตร เป็น 400 เมตร
2.3 แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น แก่งปากโดม แก่งสะดือ แก่งตะนะ แก่งคันไร่ แก่คันเปือย แก่งคันหัวงัว กลับคืนมา ซึ่งจะทำให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวปีละ หลายร้อยล้านบาท
2.4 พันธ์ปลาธรรมชาติกว่า 265 ชนิด กลับคืนมาสู่แม่น้ำมูน จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการจับปลาขาย ไม่ต่ำกว่าปีละ 140 ล้านบาท (มีงานวิจัยเรื่องนี้แล้ว)
2.5 ลดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจที่เสียหายจากน้ำท่วมปีละ หลายหมื่นล้านบาท
2.6 ทำให้พื้นที่ในจังหวัดที่อยู่ด้านบน ของจังหวัดอุบลราชธานี ลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม เพราะสามารถระบายน้ำลงมาได้สะดวก โดยไม่ต้องหน่วงน้ำไว้ช่วยจังหวัดอุบลราชธานี (ปีนี้ (2565) เขื่อนราษีไศล ต้องกักน้ำไว้ เพื่อช่วงหน่วงน้ำไว้ไม่ให้น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี)
2.7 สร้างความมั่นใจ ในการลงทุนของภาคธุรกิจ

3. ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปลดระวางเขื่อนปากมูล
3.1 ไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านเสถียรภาพของไฟฟ้า เพราะในปัจจุบัน ประเทศไทย ซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว มาจำนวนมาก และยังมีระบบสายส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงถึงกันหมดแล้ว
3.2 ไม่กระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้า ฯ เพราะมูลค่าที่ได้จากเขื่อนปากมูลต่ำมาก ซึ่งอาจเป็นผลดีด้วยซ้ำที่จะทำให้ กฟผ. ลดภาระด้านการบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์การปั่นไฟฟ้า
3.3 สำหรับแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำปะปาของจังหวัดอุบลราชธานี สามารถใช้น้ำจากเขื่อนสิรินธร หรือ เขื่อนหัวนา ซึ่งจะลงทุนในหลักร้อยล้าน แต่จะมีความมั่นคงในอนาคต

ความเสียหายจากน้ำท่วม ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เพียงเพราะเขื่อนปากมูล สร้างผิดที่ผิดทาง และ ยังมีการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ได้เรื่อง ทำให้คนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน เกิดความเสียหายทั้งต่อภาคการเกษตร และภาคธุรกิจมากมายมาเกินพอแล้ว ควรถึงเวลาที่จะต้องเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นเป้าหมายสำคัญ ตัดสินใจ “ปลดระวางเขื่อนปากมูล” ความกินดี อยู่ดี ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ความมั่นคงในด้านเศรษฐกิจก็จะกลับคืนมา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชาวบ้านนับพันราย ชุมนุมจี้ รมว.พลังงาน แก้ปัญหาเขื่อนสิรินธร ขีดเส้นตายขู่ยกระดับ

กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนสิรินธร กว่า 1,000 คน รวมตัวปักหลักชุมนุมหน้าเขื่อนจี้รมว.พลังงาน มารับข้อเรียกร้องให้เร่งแก้ปัญหา ขู่เพิกเฉยจะยกระดับการชุมนุม

เปิดข้อมูล 'เขื่อนปากมูล' สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วม จ.อุบลฯและจังหวัดใกล้เคียง

ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เปิดข้อมูล 'เขื่อนปากมูล' สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมจ.อุบลและจังหวัดใกล้เคียง ปี 65และปี62 เผยผู้ว่าฯมีมติให้เริ่มเปิดประตูเขื่อนเมื่อ12มิ.ย.65 แต่รองผู้ว่าฯเปลี่ยนมติขอให้ปิดประตูน้ำเขื่อน แนะปลดระวางโอนเขื่อนปากมูลให้มาอยู่ในการกำกับของกรมชลประทาน

แกนนำชาวบ้าน โพสต์ถึง 'แรมโบ้' นักรบย่อมมีบาดแผล 'งัวงาน' ที่ถูกใช้ได้ถูกงาน

เฟซบุ๊ก เส้นทางเดินที่เลือกแล้ว “ป้าย บูรพาไม่แพ้” ของนายกฤษกร ศิลารักษ์ แกนนำชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล โพสต์ข้อความโดยมีรายละเอียดดังนี้

เพื่อไทย ชูภารกิจ 'ทักษิณ' เปิบข้าวร่วมม็อบสมัชชาคนจน ลืมไปว่ายืมมือ 'ผู้ว่าฯหมัก' ทุบชาวบ้านกระเจิง!

พรรคเพื่อไทย เดินหน้าชูภาพลักษณ์ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปพร้อมๆกับเดินเกมบีบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ยุบสภา