รัฐบาลทำเต็มที่แล้ว 'จุรินทร์' ช่วยชาวนา พร้อมเดินหน้าบุกตลาดข้าวส่งออก


รัฐบาลทำเต็มที่และดีที่สุด 'จุรินทร์' ช่วยชาวนา 'ส่วนต่างจ่ายตอนข้าวตก-หากราคาขึ้นก็ไม่ต้องจ่าย' พร้อมเดินหน้าบุกตลาดข้าวส่งออก

18 พ.ย.2564 - นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การประกันรายได้ข้าวผลการผลิตปีที่ 3 ฤดูกาลปลูก 2564 / 2565 การเก็บเกี่ยวเริ่มตั้งแต่ 15 ตุลาคมเป็นต้นไปนั้นกรอบวงเงินงบประมาณรวมทั้งหมด 33 งวด ขณะนี้ชาวนากำลังเก็บเกี่ยวงวดที่ 1-2-3 การแจ้งเก็บเกี่ยวของชาวนาเป็นขั้นตอนที่ลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากการปลูกข้าวนั้นไม่ได้พร้อมกันการเก็บเกี่ยวก็จะไม่พร้อมกันแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวมากที่สุดของชาวนา

นางมัลลิกา กล่าวว่า ต่อกรณีที่มีผู้วิจารณ์วิจัยนโยบายประกันรายได้ข้าวระยะนี้อย่างต่อเนื่องนั้นยอมรับว่ามันไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรไม่เป็นธรรมต่อชาวนาเลยกับการที่จะมาตั้งป้อมเพื่อโจมตีโครงการประกันรายได้เกษตรกรแบบฉาบฉวยและเป็นที่น่าสังเกตว่าผ่านมาตั้ง 2 ปีกว่าชาวนาได้ประโยชน์สูงสุด ไม่มีหาย หก ตก หล่น ไม่เหมือนโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่รัฐบาลนี้ตั้งแต่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะสังเกตุเห็นว่าในรอบ 2 ปีกว่าเกือบ 3 ปีมานี้ไม่มีม็อบเกษตรกรล้อมกระทรวงใดๆเลย น่าจะเป็นความภาคภูมิใจของรัฐบาลมากกว่า กับการที่เราสามารถใช้หลักประกันของโครงการประกันรายได้เกษตรกรดูแลพืชเกษตรของประเทศนี้ทั้ง ข้าว มัน ยาง ปาล์มและข้าวโพด และเป็นประวัติการที่เราสามารถทำราคาข้าวโพดสูงถึงกิโลกรัมละ 9-10 บาทจากเดิมที่ประมาณกิโลกรัมละ 4-5 บาทตอนนั้นเกษตรกรก็ลำบากแต่วันนี้สามารถช่วยเกษตรกรข้าวโพดได้ประมาณ 500,000 กว่าครัวเรือนทั้งประเทศ

ขณะเดียวกันปาล์มน้ำมันก็เป็นประวัติการในรอบ 10 ปี ที่เราสามารถยกระดับราคาปาล์มน้ำมันช่วยเกษตรกรได้เกือบ 400,000 ครัวเรือน ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 9 บาทกว่า จากเมื่อก่อนมีม็อบเกษตรกรชาวสวนปาล์มเรียกร้องรัฐบาลเนืองๆเพราะก่อนหน้านี้ กิโลกรัมละไม่ถึง 2 บาท ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน วันนี้เราทำได้ดีมาก ในส่วนของยางพาราก็เช่นกันเรายกระดับราคาช่วยเกษตรกร 1.8 ล้านครัวเรือนขึ้นอย่างต่อเนื่องและพยายามในการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที ส่วนมันสำปะหลังกว่า 400,000 ครัวเรือนก็ได้ราคาสูงกว่าราคาที่ประกันรายได้ไว้ที่ 2.50 บาท ตอนนี้เราทำราคาได้ 2.70-2.80 บาท เป็นต้น เหล่านี้ไม่ต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างประกันรายได้เนื่องจากราคาสูง

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กล่าวว่า ในรอบสองปีที่ผ่านมาอาจจะมีบ้างที่พืชบางชนิดราคาตกต่ำลงแต่เรามีการชดเชยส่วนต่างให้กับเกษตรกรเป็นระยะ สำหรับข้าวช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็มีบางชนิดข้าวที่ราคาเกินจากรายได้ที่ประกันไว้ เราก็ไม่ต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างยกเว้นชนิดที่ราคาตกตามกลไกตลาด สิ่งหนึ่งที่เป็นหลักประกันในโครงการนี้คือหากพืชเกษตรชนิดนั้นราคาตก รัฐบาลให้หลักประกันในการประกันรายได้ไว้ และเพิ่งจะเริ่มปีที่ 3 นี้ก็มีข้าวที่เป็นปัญหา เรายอมรับว่ามีปัญหาโควิดมา 2 ปี เรื่องค่าบาทแข็ง สต๊อกข้าวภายในประเทศ ผู้ส่งออกมีปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ ต้องนำข้าวลงเรือซึ่งตู้ไปแล้วไม่กลับมาข้าวเปลือกทั้งประเทศมี 30 ล้านตัน คิดเป็นข้าวสาร 20 ล้านตัน บริโภคภายในประเทศ 10 ล้านตัน ที่เหลือประมาณ 10 ล้านตัน ต้องส่งออก ซึ่งผลผลิตโดยรวมของปี 2564 / 2565 กรมการข้าวรายงานว่าผลผลิตมี 29.9 ล้านตัน คิดเป็น 19.26 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีก่อนที่ 31.4 ล้านตันข้าวเปลือก 20.73 ล้านตันข้าวสาร

"เราต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด นักท่องเที่ยวลดลง ร้านอาหารไม่สามารถเปิดได้ และนักท่องเที่ยวจาก 40 ล้านคน กลายเป็นศูนย์ การส่งออกชะลอตัว ตลาดต่างประเทศชะลอการซื้อ ตอนครึ่งปีแรกขายได้ 2.1 ล้านตันเพิ่งมาขายได้เพิ่มมากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา และเหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนปีนี้คิดว่าเราจะสามารถผลักดันการส่งออกได้เพิ่ม ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศวางแผนไว้ว่าจะทำให้ทะลุ 6 ล้านตัน และแก้ปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือ ท่านรองนายกฯจุรินทร์ ร่วมมือกับ กรอ.พาณิชย์ ทำงานหนักและทันท่วงทีและเป็นที่ชื่นชม เรามีปัญหาเรื่องค่าบาทแข็ง ราคาข้าวของไทยอยู่ในเกณฑ์สูง โรงสีขาดสภาพคล่องเพราะโรงสีจำนวนมากติดเป็นแบล็คลิสต์ของธนาคารเป็นช่วงรอยต่อของโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลชุดเดิม มาแก้ปัญหาคดีความและโรงสีที่เป็นแบล็คลิสต์ ต้องขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นอัยการในชั้นศาลและปัญหาน้ำท่วม ข้าวมีความชื้นสูง บางแห่งต้องเกี่ยวข้าวทั้งที่แช่น้ำอยู่ ความชื้นสูงเกินกว่า 30% ซึ่งข้าวมาตรฐานปกติความชื้นต้องที่ 15% ข้าวในพื้นที่น้ำท่วมจะมีการประกาศภัยพิบัติเกษตรกรชาวนาจะได้รับเงินกระเป๋าที่สามเกี่ยวกับการชดเชยความเสียหายต่อกรณีเขตภัยพิบัติน้ำท่วม ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะเป็นผู้จ่ายเงิน ได้ไร่ละประมาณ 1,300 บาท"

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า ด้านกระทรวงพาณิชย์ เราประกันรายได้ข้าวมาแล้ว 2 ปี สำหรับปีที่ 3 เกษตรกรต้องเก็บเกี่ยวในช่วงต้นเดือนตุลาคม และแจ้งวันเกี่ยวตั้งแต่วันลงทะเบียนในช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงพีคที่เกษตรกรชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวมากที่สุด หลังธันวาคมถึงมกราคม จะเป็นช่วงที่น้อยลง เรามีหน้าที่และเป็นภารกิจที่จำเป็นและเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการดูแลโครงการประกันรายได้เกษตรกรจ่ายชดเชยส่วนต่างหากราคาไม่ดีแต่หากราคาข้าวขึ้นสูงเกินรายได้ที่ประกันก็ไม่ต้องเป็นภาระงบประมาณ

สำหรับข้าวประกันรายได้ไว้ที่ ข้าวหอมมะลิ 15,000 บาทต่อตัน จำนวนไม่เกิน 14 ตัน ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาทต่อตัน ไม่เกิน 16 ตัน ข้าวหอมปทุม 11,000 บาทต่อตัน ไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเจ้า 10,000 บาทต่อตัน ไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเหนียว 12,000 บาทต่อตัน ไม่เกิน 16 ตัน ซึ่งมีคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาอ้างอิงในช่วงเกี่ยวข้าว ซึ่งมีตัวแทนชาวนาอยู่ในนั้น กรมการค้าภายในเป็นฝ่ายเลขา เมื่อประกาศเกณฑ์กลางออกมาในช่วงเก็บเกี่ยว หากไม่สูงกว่ารายได้ที่ประกันจะมีการจ่ายเงินส่วนต่าง โดยขึ้นทะเบียนที่กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคอีสาน เริ่มปลูกตั้งแต่ 1 เมษายนและช่วงเก็บเกี่ยวไม่เกิน 31 ตุลาคม ภาคใต้เริ่มปลูกช่วง 16 มิถุนายน เริ่มเก็บเกี่ยวประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้น เกษตรกรขึ้นทะเบียนเพาะปลูกประมาณ 15-60 วัน และมีการแจ้งบัญชีธนาคาร ธ.ก.ส.

"และในส่วนที่มีการพูดถึงว่าจะทำให้เกษตรกรยั่งยืนอย่างไร จะต้องเข้มแข็งไม่อ่อนแอ ต้องทำโครงการอื่นไม่ให้เกษตรกรอ่อนแอ แสดงว่าท่านที่พูดนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ใดก็ตามคิดว่าท่านไม่เข้าใจโครงการประกันรายได้เกษตรกรจริงๆ ประกันรายได้ให้กับเกษตรกร คือใช้หลักประกันแต่เราไม่ทำลายกลไกตลาดซึ่งเป็นสากล จุดนี้จะทำให้เกษตรกรเข้มแข็งยั่งยืน เนื่องจากเกษตรกรต้องผลิตข้าวที่มีคุณภาพ ให้ได้เงิน 2 กระเป๋า กระเป๋าหนึ่งขายข้าวที่มีคุณภาพ เราส่งเสริมการปลูกข้าวคุณภาพ กระเป๋าที่สองคือถ้าราคาต่ำรัฐบาลจ่ายชดเชยให้ แต่หากสูงกว่ารายได้ที่ประกันจะไม่เป็นภาระของรัฐบาล จึงเป็นความยั่งยืนของเกษตรกรและถือว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมืองที่มาเป็นฝ่ายนโยบายต้องรับผิดชอบต่อประชาชน รับผิดชอบต่อเกษตรกรในนโยบายที่ประกาศเอาไว้และแถลงต่อรัฐสภา" นางมัลลิกา กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลแนะผู้ประกอบการไทยปรับตัว ปฏิบัติตามกฎตลาดโลก

รัฐบาลเสริมความเข้มแข็งสินค้าไทย ให้เท่าทันกฎระเบียบของทุกตลาด แนะผู้ประกอบการปรับตัว หลังสเปนจ่อออกกฎใหม่ เครื่องดื่มพสาสติกต้องใช้ฝาแแบยึดกับขวด

รัฐบาลลุยต่อยอด 'ผ้าขาวม้าไทยฟีเวอร์' ขยายตลาดช่วยชุมชนโกยรายได้

รัฐบาลเดินหน้าส่งเสริมต่อยอด 'ผ้าขาวม้าไทยฟีเวอร์' เพิ่มมูลค่าขยายตลาด ช่วยผู้ประกอบการชุมชนโกยรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

'ภูมิธรรม' สั่งลุยส่งออกข้าวบุกตลาดฟิลิปปินส์

“ภูมิธรรม” สั่งกรมการค้าต่างประเทศ ทูตพาณิชย์ฟิลิปปินส์ เดินหน้าขยายตลาดข้าวไทย หลังแนวโน้มปีนี้ ฟิลิปปินส์มีความต้องการนำเข้าข้าวสูงถึง 4.1 ล้านตัน