’ทวี’ ชี้ ราชทัณฑ์ไม่ใช่สถานที่ฆ่าคน หากใครป่วยก็ออกไปรักษาตัว รพ.

3 ม.ค.2567 - ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงว่า เราต้องเข้าใจตรงกันว่าการเป็นรัฐบาลต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม และรัฐธรรมนูญยังเขียนไว้ในมาตรา 53 ว่ารัฐต้องปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ปี 2560 เกิดขึ้นก่อนจะมีรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญที่ต่างไปจากเดิมคือ กฎหมายเดิมไม่สามารถจัดการหรือบริหารนักโทษ ผู้ต้องขังเฉพาะรายหรือเฉพาะคดีได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติให้ดำเนินการ และไม่สามารถที่จะใช้สถานที่ควบคุมหรือที่คุมขังประเภทอื่น รวมถึงยังไม่สามารถนำระบบพัฒนาพฤตินิสัยมาบริหารกับนักโทษหรือผู้ต้องขังหรือผู้ต้องราชทัณฑ์ได้ จึงต้องแก้กฎหมายฉบับนี้ ทั้งนี้ เราถูกตราหน้าว่าหลักนิติธรรมทางอาญา เราสอบตก และพบว่าราชทัณฑ์ไทยจากคะแนนเต็ม 1 เราได้ 0.25 ในจำนวนทั้งหมด 44 รายการ เพราะราชทัณฑ์ไทยมีจำนวนผู้ต้องขังล้นเรือนจำและไม่สามารถฟื้นฟูหรือแยกการขังได้ ดังนั้น การที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) บอกไม่เห็นด้วย ตนไม่ทราบว่าเราอยู่ประเทศเดียวกันหรือไม่ เพราะถ้าเราอยู่ในรัฐธรรมนูญเดียวกัน เราต้องธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และรัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ฉะนั้น การที่เราออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ใหม่ไม่เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีเลย เพราะกฎหมายฉบับนี้ให้ความสำคัญของคณะกรรมการราชทัณฑ์ ซึ่งคณะกรรมการนี้มี 17 คน โดยใน 17 คนมีเพียง 3 คนที่เป็นคนของกระทรวงยุติธรรม โดยตนเป็น 1 ในคณะกรรมการชุดดังกล่าว


“กฎกระทรวงออกมาตั้งแต่ปี 63 แต่ระเบียบยังไม่ออก วันนี้เมื่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีประกาศว่ารัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม ให้มีความโปร่งใส เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ แต่หากเราไม่แก้ปัญหาราชทัณฑ์ ถ้าเรากลัวโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ผมคิดว่าเราเป็นผู้ทำลายหลักนิติธรรม ส่วนที่เพื่อนสมาชิกบอกว่าราชทัณฑ์เลือกปฏิบัติกับบางคนหรือไม่นั้น ในกฎหมายฉบับนี้ระบุว่าราชทัณฑ์ไม่ใช่สถานที่ฆ่าหรือทรมานคน หากใครเจ็บป่วยก็ต้องไปรักษา และการไปรักษาก็ไม่ใช่เพียงแค่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว แต่มีคนจำนวนมากไปรักษา และท่านก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผมมองว่าท่านทักษิณเป็นนักสร้างสันติภาพ แม้ก่อนหน้านี้ท่านจะมองว่าไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ แต่วันนี้หากอยากให้บ้านเมืองมีสันติภาพ สันติสุข มีความปรองดอง ท่านก็กลับเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม การป่วยของท่านก็เกิดก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาและไปรักษา เมื่อมีผู้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลซึ่งเกี่ยวข้องกับเรือนจำ กฎหมายฉบับนี้ซึ่งให้ความสำคัญกับแพทย์สูงสุดก็เขียนไว้ว่าที่นั่นคือเรือนจำ การอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมที่ไปไหนไม่ได้ก็คือการเสียอิสรภาพแล้ว” พ.ต.อ.ทวี กล่าว


พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีหลายคนสงสัยว่าท่านป่วยจริงหรือไม่ ตนเป็นรัฐมนตรี แม้ไม่เคยไปเยี่ยมแต่ก็ถามแพทย์อยู่ตลอดเพราะต้องรับผิดชอบ ซึ่งแพทย์ยืนยันว่าป่วยจริง มีอาการเยอะ ส่วนการพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วันก็ต้องให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบกับแพทย์ผู้รักษา และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมตรวจสอบ ซึ่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็ได้ตรวจสอบและกำลังจะส่งเรื่องมาที่ตนเพื่อให้สังคมได้รับรู้ สำหรับนายทักษิณนั้น คนอาจจะมีความรู้สึกที่แตกต่างกัน แต่ถ้าเรายึดกฎหมายเป็นหลัก ในทางการแพทย์ก็มีแพทย์หลายคนบอกว่าท่านป่วยจริง ซึ่งไม่ได้มีการตรวจสอบแค่สมาชิกในสภาฯ เท่านั้น แต่มีการตรวจสอบจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย ทั้งนี้ ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่นายกรัฐมนตรีอยากให้ยกระดับความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม ตนจะไม่ทำอะไรที่นอกกฎหมาย และจะเข้มแข็งแม้ใครจะเป็นผู้ทรงอิทธิพลหากมาทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ทำผิดจะต้องถูกดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงยุติธรรม ผนึกกำลัง จัดการประกวด Street Food สร้างอาชีพ ช่วยผู้ก้าวพลาด

'เกณิกา' เผย รัฐบาลโดย กระทรวงยุติธรรม ผนึกกำลังทุกภาคส่วน จัดการประกวด Street Food สร้างอาชีพ ช่วยผู้ก้าวพลาดมีทักษะการทำอาหาร ใช้ต่อยอดประกอบอาชีพ สร้างรายได้

'เลขาฯ ประชาชาติ' ยันไร้แรงกระเพื่อม 'ปรับ ครม.' ยังหนุน 'ทวี' คุม ยธ.

'ซูการ์โน' ชี้ยังไม่มีหารือพรรคร่วมรัฐบาล ปรับ ครม. ยันประชาชาติยังหนุน 'ทวี' นั่งเก้าอี้ รมว.ยุติธรรม ปัดตอบกระแสเปลี่ยนตัว 'ปธ.สภา'