อดีตนักเรียนเกาหลี เปิดมุมมองพัฒนาคลองช่องนนทรี เทียบคลองชองกเยชอน

28 ธ.ค.2564 - นายนิธิพัฒน์ พันธุ์ธุมจินดา นักธุรกิจ ฟาร์มปลาสวยงาม โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Nitipat Bhandhumachinda กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนาคลองช่องนนทรี ในฐานะมุมมองหนึ่งของอดีตนักเรียนเกาหลีใต้ ว่านับจากมีประเด็นคลองช่องนนทรี ก็มีคนชอบถามผมที่เคยเรียนเกาหลีว่า โครงการนี้ เมื่อเทียบกับ คลอง ชองกเยชอน (청계천) แล้วคิดว่าอย่างไร

ผมก็ตอบไปตามความจริงว่า แม้สมัยที่เรียนอยู่เกาหลี ผมจะชอบขี่เสือหมอบ ร่อนถ่ายรูปไปตามที่ต่างๆ แถวๆ นั้น แต่ไม่เคยสังเกตสนใจไอ้คลองโบราณอายุหลายร้อยปีนี้เลย เพราะคลองที่โดนตึกรามบ้านช่องและถนนหนทาง สร้างขึ้นมากดทับ มากมาย จนน้ำเน่าเสียไปทั้งคลองนั้น มันเป็นผลจากการขยายเมืองอย่างรวดเร็ว ของยุคเกาหลีก้าวกระโดด จนเป็นรอยด่างกลางเมืองที่ซ่อนตัวเงียบๆ ไม่มีใครอยากเห็นหรือให้ความสนใจ

ช่วงที่กรุงโซลต้องการจะพัฒนาคลองชองกเยชอน ที่มีความยาวเกือบๆ 6 กิโลเมตร ให้สะอาด ซึ่งใช้งบประมาณมหาศาล (ประมาณหมื่นล้านบาท) และต้องเวนคืนบ้านเรือนหลายแห่ง ก็โดนกระหน่ำต่อต้านมากมาย แต่พอสร้างเสร็จก็กลายเป็นแหล่งรวมความสนใจ กลายเป็นหน้าเป็นตา และจุดท่องเที่ยวที่น่าตื่นตาตื่นใจของกรุงโซล

ถามผมว่าผมชอบหน้าตาของคลองชองกเยชอนในสมัยนี้ไหม ก็ตอบได้ว่าไม่ค่อยชอบหรอก เพราะผมไม่ใช่คนที่ชอบสิ่งปลูกสร้างที่อลังการไม่เป็นธรรมชาติ แต่ถ้าถามว่าดีมีประโยชน์ไหมนั้น ก็ต้องบอกว่าเมื่อเทียบกับคลองน้ำดำๆ รายล้อมไปด้วยแหล่งเสื่อมโทรมอย่างสมัยก่อนแล้ว ก็ถือว่าเป็นการพัฒนาปรับปรุงได้คุ้มค่าแม้จะใช้เงินลงทุนมากมายก็ตาม

หันมาพูดถึงคลองช่องนนทรีบ้าง!!

ประเด็นแรกที่คนชอบพูดกันอย่างเข้าใจผิดคือ…ต่างคิดว่า ไอ้ส่วนที่สร้างเสร็จและเปิดให้บริการแล้วนี่ ใช้งบประมาณไป 980 ล้านบาท ซึ่งตัวเลข 980 ล้านบาทนั้น จริงๆ แล้วคืองบประมาณในการก่อสร้างคลองเส้นทางคลองช่องนนทรี ทั้งหมด 5 เฟส ความยาวรวม 4.5 กิโลเมตร ไม่ใช่เฉพาะส่วนเฟสแรกที่เปิดแล้วตอนนี้ ที่มีระยะยาวทั้งหมด 200 เมตร โดยมีระบบบำบัดน้ำ และจุดเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งใช้งบประมาณจริงไปทั้งหมด 80 ล้านบาท

ถ้าถามว่า ชอบคลองช่องนนทรีเฟสแรกนี้ไหม ก็คงต้องตอบเหมือนเดิมว่า ไม่ชอบอะไรที่ยึกยือ ดูไม่เป็นธรรมชาติในลักษณะนี้ และอยากจะแนะ กทม. ว่าจุดประชาสัมพันธ์หลัก ควรอยู่ที่การบริหารจัดการน้ำเสีย ซึ่งทรงคุณค่ากว่า ภาพความสวยงามหน้าฉาก

แต่ถ้าถามว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือไม่? จากคนที่เคยเดินเท้าจากที่ทำงานบนตึกเอ็มไพร์ผ่านนราธิวาสไปถนนสีลมบ่อยๆ แล้ว หากใครจะฟื้นฟูความน่าเศร้าของคลองที่น้ำเสียตลอดสาย ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สะอาด ฟื้นฟูจิตใจให้กับคนกรุงเทพได้บ้างแล้ว

อยากจะทำก็ทำไป โดยผมคงไม่มีอะไรจะโต้แย้งหรอกครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม. อนุมัติงบ 359 ล้าน พม.พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนภาคอีสาน

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณโครงการภิบาล และคุ้มครอง สิทธิผู้สูงอายุ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอ

ครม.ไฟเขียวขยายเวลาเปิดผับถึงตี 4 ใน 5 พื้นที่ท่องเที่ยว เริ่ม 15 ธ.ค.นี้

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 28 พ.ย.66 ได้อนุมัติ ร่างกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่....) พ.ศ... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

ผุดไอเดียสร้างสรรค์ ลอยกระทงอาหารสัตว์ รักษ์โลก รักสิ่งแวดล้อม

สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จัดกิจกรรม “ลอยกระทงอาหารส่งความสุข สู่สัตว์ป่า” มีกระทง ทั้งผักผลไม้และปลาทูเพื่อให้เด็กเด็กไปแจกให้สัตว์ป่ากว่า 100 ชนิดกิน

สวนอากาศสะอาดเคลื่อนที่ นวัตกรรมลดฝุ่นพิษ

ในวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 เป็นภัยต่อสุขภาพ ประชาชนจะได้รับคำเตือนให้ลดกิจกรรมกลางแจ้งเมื่อค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม แต่ถ้าขั้นวิกฤตระดับสีแดงให้งดกิจกรรมกลางแจ้ง ไม่สามารถไปพักผ่อนหย่อนใจในสวนสาธารณะที่เป็นพื้นที่จุดเสี่ยง  จากปัญหาฝุ่นพิษจุดประกายให้เกิดโครงการ