นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้นโยบาย “ซื้อหนี้เสีย” เป็นไปได้ สร้างเศรษฐกิจ ดันจีดีพี ลด NPL ได้จริง แต่ระวังเป็นดาบสองคม หวั่นกลายเป็นอุ้มแบงก์ ติดกับดักหนี้ซ้ำซาก แนะเลือกช่วยซื้อหนี้เฉพาะกลุ่มเปราะบาง-เป็นหนี้ต่ำกว่า 5 แสนบาท แทนการหว่านไปทั่วทุกกลุ่ม ระบุหลายประเทศนโยบายเหลวถ้าไม่เปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงิน ปชช.
19 มีนาคม 2568 - จากกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เปิดตัวแนวคิดใหม่ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนด้วยวิธีการซื้อหนี้ประชาชนออกจากระบบธนาคารทั้งหมด ซึ่งจะดำเนินการผ่านบริษัทหรือหน่วยงานเฉพาะกิจ โดยจะไม่ใช้งบประมาณของรัฐบาล แต่จะเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนแทน แล้วให้ประชาชนผ่อนชำระในจำนวนที่น้อยลงจนปลดหนี้ได้สำเร็จ
รศ.ดร.วิชัย วิทยาเกียรติเลิศ ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า นโยบายซื้อหนี้เสียที่ถูกเปิดเผยออกมาในขณะนี้ถือเป็นมาตรการใหญ่ที่จะส่งกระทบต่อโครงสร้างหนี้ของประเทศไทยโดยตรง โดยข้อมูลปี 2566 พบว่าหนี้ครัวเรือนของไทยมีมูลค่า 15.54 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสีย (NPL) ราว 4% หรือคิดเป็นมูลค่า 6.2 แสนล้านบาท ซึ่งแนวทางการให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เข้ามารับซื้อ NPL จากธนาคารและสถาบันการเงินแทนการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ถือเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้และมีความเหมาะสมในเชิงนโยบายและเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะต้องทำหน้าที่เป็นกลไกกลาง กำกับดูแล และสร้างกรอบการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและประโยชน์สูงสุดกับประชาชนผู้เป็นลูกหนี้ พร้อมกำหนดมาตรการคุ้มครอง เช่น การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ลดดอกเบี้ย ลดภาระหนี้จริง และ กำกับให้ AMC ดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้
รศ.ดร.วิชัย กล่าวต่อไปว่า นโยบายซื้อหนี้เปรียบเสมือนดาบสองคม กล่าวคือหากดำเนินการได้ถูกทางก็จะสามารถฟื้นเศรษฐกิจได้จริง จะช่วยลดภาระงบประมาณและหนี้สาธารณะ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชน ทั้งยังเปิดโอกาสให้ประชาชนกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือจำเป็นต้องมีตัวเลข มีความโปร่งใส และมีเป้าหมายชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่การช่วยให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้
“เปรียบให้เห็นภาพจากฐานคิดในกรณีที่บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้ามารับซื้อ NPL จากธนาคารและสถาบันการเงินในราคาที่ลดลงเฉลี่ย 35% ของยอดหนี้ที่รับซื้อ ซึ่งเป็นตามกลไกตลาดปกติของการรับซื้อ NPL จะสามารถนำเงินเข้าสู่ระบบได้ 1 – 2.1 แสนล้านบาท และช่วยดันผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ให้เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า เป็นจำนวนเงินราว 1.6 – 3.2 แสนล้านบาท ทั้งยังช่วยลด NPL ได้ถึง 50%-100%” รศ.ดร.วิชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะหากรัฐบาลแก้เฉพาะหนี้โดยไม่แก้ไขพฤติกรรมทางการเงินของประชาชนด้วย เราจะเห็นปัญหาเดิมกลับมา นั่นคือพักหนี้-รีไฟแนนซ์แล้วก็จะกลับมาเป็นหนี้อีก ตรงนี้จะกลายเป็นกับดักหนี้ซ้ำซาก ซึ่งตัวอย่างจากหลายประเทศชัดเจนว่ามาตรการแบบนี้ถ้าไม่มีวินัยทางการเงินคู่ขนานด้วยแล้วก็จะล้มเหลว เช่น โครงการพักหนี้เกษตรกร หรือคลินิกแก้หนี้ที่ช่วยได้แค่ 3.2 ล้านคนจากจำนวนคนไทยที่เป็นหนี้กว่า 25.5 ล้านคน
สำหรับข้อเสนอต่อนโยบายซื้อหนี้ รศ.ดร.วิชัย กล่าวว่า รัฐบาลควรจัดทำมาตรการหรือเลือกช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบางเท่านั้น แต่ไม่ควรหว่านไปทั่วทั้งประเทศ เช่น ใช้เฉพาะกับผู้ที่มีรายได้ต่ำและมีหนี้จำนวนต่ำกว่า 5 แสนบาท โดยจัดตั้ง AMC เป็นหน่วยงานกลาง ตามที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร นำเสนอไอเดีย เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารหนี้อย่างมืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ มากไปกว่านั้นควรจะต้องดำเนินการควบคู่กับการฟื้นฟูรายได้ เช่น การส่งเสริมอาชีพด้วย
“ตัวอย่างประเทศที่ทำเรื่องนี้ได้ใกล้เคียงที่สุดคือประเทศไอซ์แลนด์ โดยในช่วงหลังวิกฤตปี 2008 มีการดำเนินนโยบายตัดหนี้ให้ประชาชนโดยตรงผ่านการใช้งบประมาณ 10% ของ GDP ภายในระยะเวลาแค่ 3 ปี ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนในประเทศลดลง 30% และ GDP ก็กลับมาโตเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านในยุโรป แต่สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือต้องออกแบบกันดีๆ เพราะแม้ว่าแนวทางนี้จะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วจริง ลด NPL ได้จริง แต่ถ้าออกแบบไม่ดี หรือสุดท้ายแล้วรัฐต้องนำเงินภาษีออกมาช่วยอุดหนุนเอง มันจะกลายเป็น Bailout ที่ธนาคารและคนรวยได้ประโยชน์แต่คนจนไม่ได้อะไร สิ่งสำคัญคือต้องกันไม่ให้กลายเป็นนโยบายอุ้มธนาคารและเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางกลุ่ม แต่ต้องทำให้เป็นนโยบายช่วยประชาชนอย่างแท้จริง” รศ.ดร.วิชัย กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แนะบรรจุวิชาบังคับ 'ความรู้การเงิน' ป.1- ป.ตรี แก้ 'หนี้ครัวเรือน-NPL' ยั่งยืน
นักวิชาการธรรมศาสตร์ เผยไทยต้องผลักดัน ‘ความรู้ทางการเงิน’ เป็นวาระแห่งชาติ แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่ง-ตัวเลขการออมคนไทยต่ำ รัฐต้องแบกรับภาระงบอุดหนุน-ช่วยเหลือ แนะเร่งจัดทำหลักสูตรความรู้การเงิน ตั้ง ป.1 – ป.ตรี ทันที ไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่!
'แพทย์จุฬาฯ รุ่น 35' ออกโรงค้าน! ประเทศไทยไม่พร้อมมี 'กาสิโน'
ศิษย์เก่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่น 35 ออกแถลงการณ์คัดค้านร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'โครงการกาสิโนของรัฐบาล : ตัวตนและเค้ามูลที่ปรากฎ'
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการด้านกฎหมาย เขียนบทความในรูปถาม- ตอบ เรื่อง "โครงการกาสิโนของรัฐบาล : ตัวตนและเค้ามูลที่ปรากฎ" โดยมีเนื้อหา ดังนี้
นี่คือสถานการณ์ฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ รบ.ต้องยกหูเจรจา 'ทรัมป์' ภายในคืนนี้! นักวิชาการ มธ. ระบุ 'ยิ่งช้ายิ่งเจ็บ'
นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้การตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์ คือสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องเร่งเจรจาอย่างช้าที่สุดภายในคืนนี้
นักวิชาการ-นักศึกษา นัด 2 เม.ย. บุกรัฐสภา ยื่นหนังสือค้าน ออก กม.เปิดบ่อนกาสิโน
นักวิชาการ-นักศึกษา นัดไปรัฐสภาพุธนี้ 2 เม.ย. ยื่นหนังสือค้านออกกฎหมายเปิดบ่อนกาสิโน ชี้รัฐบาลมีพิรุธเร่งรัดผิดปกติ ข้องใจ มีข้อตกลงใต้โต๊ะกลุ่มทุนกาสิโนใช่หรือไม่
นักวิชาการ มธ. ชี้ 319 เสียงไม่การันตี ‘รัฐบาลแพทองธาร’ อยู่ครบเทอม
นักวิชาการ ธรรมศาสตร์ ระบุแม้ ‘อิ๊งค์’ ตอบโต้ได้และรอดกฎหมาย แต่ยังมีมิติศีลธรรมจรรยาที่ต้องพิสูจน์ ชี้คะแนน 319 สะท้อนเสถียรภาพรัฐบาล แต่หากทำไม่ได้ตามที่พูด อาจอยู่ไม่ครบเทอม ข้อมูลฝ่ายค้านไม่มีอะไรใหม่ ยกเว้นประเด็นไอโอ ที่ดึงความสนใจมากกว่าตัวเนื้อหาซักฟอก