ดร.ไตรรงค์ : เรียนรู้จากอังกฤษ ไม่ยกย่องคนที่ไม่สมควรยกย่อง

18 ก.ค.2565 - ดร. ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง "#เรียนรู้จากอังกฤษ #ไม่ยกย่องคนที่ไม่สมควรยกย่อง" โดยมีรายละเอียดดังนี้

โทนี่ แบลร์ (TONY BLAIR) อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคแรงงาน (LABOUR) ของอังกฤษ ที่เคยดำรงตำแหน่งดังกล่าวในช่วง พ.ศ.2540-2550 เขาเป็นคนคัดค้านการถอนตัวของอังกฤษจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) จึงเป็นคนที่มีความคิดเห็นในเรื่องนี้ชนิดขาวเป็นดำกับพรรคอนุรักษ์นิยม (CONSERVATIVE) ที่สนับสนุนให้อังกฤษถอนตัวที่เรียกกันว่านโยบาย Brexit จึงเป็นที่มาที่ทำให้นายบอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ.2019 (พ.ศ.2562)… แต่ที่จะนำมาพูดในวันนี้ก็คือว่า ปกติแล้วพรรคแรงงาน จะแตกต่างจากพรรคอนุรักษ์นิยม อยู่อีก 1 เรื่องก็คือเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

พรรคแรงงานแม้จะยอมรับการต้องดำรงอยู่ของสถาบันฯ ตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่เคยมีประชามติปกป้องสถาบันประมาณ 80% ซึ่งเป็นการลงประชามติเพื่อตอบโต้ การเสนอกฎหมายให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนเป็นระบอบประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1991 โดย ส.ส. พรรคแรงงาน ซึ่งเป็นถึงอดีตรัฐมนตรี (กฎหมายชื่อว่า The Commonwealth of Britain Bill) และร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา แต่ยังมี ส.ส. ของพรรคแรงงานบางคนชอบอภิปรายกระแนะกระแหนสมาชิกของสถาบันพระมหากษัตริย์ (ซึ่ง ส.ส. เหล่านั้นก็ได้รับการลงโทษจากประชาชนในการเลือกตั้งทั้งสิ้น) และแม้แต่หัวหน้าพรรคแรงงานซึ่งเมื่อชนะเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ค่อยรักษาจารีตประเพณีในการถวายพระเกียรติต่อสถาบันฯ เท่าที่ควร เช่น ชอบนำคำพูดหรือพระดำรัสของสมเด็จพระราชินีที่นายกฯ ของพรรคได้เข้าเฝ้าเพื่อถวายรายงานข้อราชการนำออกมาเปิดเผยซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดจารีตประเพณี เพราะชาวอังกฤษถือว่า พระดำรัสดังกล่าวต้องเป็นความลับไม่ควรนำมาอ้างเพื่อหวังผลทางการเมือง แม้แต่นายโทนี่ แบลร์ ก็ยังเคยถูกนินทาในเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่เมื่อถึงคราววิกฤติ เขาได้แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยในภาพลักษณ์และศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันฯ เช่นในกรณีการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอาน่า (Diana) แม้เป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จพระราชินีไม่ค่อยโปรดเจ้าหญิงไดอาน่า แต่เมื่อยังเป็นสมาชิกของพระราชวงศ์เพราะเป็นแม่ของหลาน ๆ (ขออนุญาตไม่ใช้คำราชาศัพท์) เมื่อเจ้าหญิงเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ประเทศฝรั่งเศส คนอังกฤษทั้งประเทศเศร้าโศกเสียใจกันมาก แต่การแสดงออกของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธมีความล่าช้าไปมาก นายโทนี่ แบลร์ เป็นทุกข์ในเรื่องนี้มากเพราะกลัวประชาชนจะเสียความรู้สึกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เขาจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการถวายคำแนะนำให้สมเด็จพระราชินี รีบกล่าวสุนทรพจน์แสดงความเสียใจต่อการจากไปของเจ้าหญิงไดอาน่า ซึ่งการที่สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธได้ทำตามคำแนะนำดังกล่าว เป็นสิ่งที่สร้างความพอใจของประชาชนทั้งประเทศเป็นอันมาก

ความรักความศรัทธาที่แต่ละคนมีต่อสถาบันต่าง ๆ ย่อมไม่เหมือนกัน เป็นธรรมดาของสัตว์โลก แต่ในฐานะพรรคการเมือง นักการเมืองและผู้นำทางการเมืองในอังกฤษนั้น ประชาชนคาดหมายว่าควร #ต้องมีมารยาทในการรักษาจารีตประเพณี และต้องช่วยกันปกป้องสถาบันฯ ที่ยังเป็นที่รักและหวงแหนของประชาชนจำนวนมาก ไม่ใช่ทำอะไรตามใจตนเพราะเหตุว่าตนไม่รักแต่ควรต้องเกรงใจคนที่เขายังรักของเขาอยู่ด้วย ตัวอย่างการทำหน้าที่ของนายโทนี่ แบลร์ จึงเป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญ เป็นอย่างยิ่ง

ตรงกันข้ามกับนายบอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) ที่เป็นหัวหน้าพรรคจารีตนิยมหรือ Conservative Party ซึ่งปรกติจะเป็นพรรคที่เคร่งครัดในการรักษาจารีตประเพณีของชาติมากกว่าพรรคใด ๆ อดีตหัวหน้าพรรคจารีตนิยม และอดีตนายกรัฐมนตรี คือ นางมาร์กาเรต แทตเชอร์ (Magaret Thatcher) เธอได้ทำตัวอย่างไว้ให้ประจักษ์แล้วในหลายกรณี เธอเป็นคนเด็ดขาดแข็งกร้าวกับสิ่งที่คาดว่าจะเป็นภัยต่ออังกฤษ แต่จะนุ่มนวลไม่แข็งกร้าวต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่เหมือนกับนายจอห์นสัน นายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน ที่เป็นคนไม่ค่อยรู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควรเป็นคนไม่ละเอียดรอบคอบ บางครั้งก็มีการกระทำที่ละเมิดจารีตประเพณีที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จนต้องขอพระราชทานอภัยโทษก็มี ศาลฎีกาพิพากษาว่าเป็นการกระทำที่ “ผิด” ก็มี มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาแอบจัดงานเลี้ยงในบ้านพักทั้ง ๆ ที่รัฐบาลของตนประกาศห้ามประชาชนทั้งประเทศทำเช่นนั้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งครั้งแรกที่ความแตก เขากลับโกหกหน้าตาเฉย แต่ตอนหลังต้องยอมจำนนต่อภาพวีดีโอที่หลุดออกมาให้เห็นว่า เขา ภรรยา และพรรคพวกลิ่วล้อได้จัดงานกันจริง ซึ่งภายหลัง เขา ภรรยา และพรรคพวกอีก 83 คน จึงถูกเจ้าหน้าที่ปรับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งของตัวเขาเอง... และ กรณีที่ประชาชนชาวอังกฤษไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งก็คือการมีวีดีโอเผยแพร่ออกมาว่า เขาได้แอบจัดงานเลี้ยงกินเหล้ากันอย่างครึกครื้นในบ้านพักของตนในคืนก่อนพระราชพิธีฝังพระศพของพระสวามีของสมเด็จพระราชินีอาลิซาเบธ ในขณะที่คนอังกฤษทั้งประเทศอยู่ในความเศร้าโศกเสียใจ

แต่มิใช่ว่า นายจอห์นสัน จะเป็นคนไม่จงรักภักดี เพียงแต่เขาเป็นคนเกเรไม่มีวินัย ซึ่งเขาเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เป็นเด็กเลยทีเดียว เพื่อนนักศึกษาที่เคยเรียนกับเขาทั้งในโรงเรียนอีตัน (Eton College) และในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ได้ยืนยันกับผมว่า เขาเป็นคนเช่นนั้นมาโดยตลอด คือเป็นคนที่จะรู้สึกมีความสุขถ้าสามารถละเมิดกฎเกณฑ์อะไรได้ เป็นคนชอบลองดี และที่สำคัญคือชอบคบเพื่อนที่เป็นคนเกเรมั่วสุมในอบายมุข (ดังพุทธภาษิตของเรากล่าวไว้ว่า “คบคนเช่นใด ย่อมเป็นคนเช่นนั้น”)

ถ้าจะโทษกันก็ #ต้องโทษพ่อแม่ (ซึ่งจริง ๆ แล้วทั้งคู่เป็นคนมีฐานะ จัดว่าอยู่ในสังคมที่ดี) ที่ไม่อบรมสั่งสอนลูกให้รู้จักหน้าที่พลเมืองดี ไม่ทำตัวเป็นปัญหาของสังคม คือต้องไม่เป็นคนชอบแหกกฎ ต้องหัดเคารพกฎหมาย เคารพจารีตประเพณีที่ดีงามทั้งของชาติของตนและของชาติอื่นๆ ที่เราต้องสัมผัส เพราะถ้าพ่อแม่ไม่ได้ฝังนิสัยเช่นนั้นเอาไว้เสียตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อโตขึ้นมาก็จะกลายเป็นคนมีสันดานหยาบ ชอบทำผิดกฎหมาย ชอบทำผิดศีลxธรรม ชอบทำผิดจารีตประเพณีดีงามของชาติ รวมทั้งกลายเป็นคนโกหกตอแหลหน้าตาเฉย ขาดความยางอาย ซึ่งคนอังกฤษถือมากในเรื่องนี้ ยิ่งถ้าจับได้ว่าโกหกกลางสภาฯ ส.ส. คนนั้นไม่มีวันได้ผุดได้เกิดอีกเลย (โดยเขาจะถูกลงโทษโดยประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะประชาชนส่วนใหญ่มีการศึกษาดีไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลใด ๆ จึงสามารถใช้ดุลยพินิจได้ดีว่าอะไรควรอะไรไม่ควร)

อีกทั้ง ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนหลักการจริยธรรมอื่น ๆ อีกหลายข้อ ตัวอย่างเช่น ถ้าถูกจับโกหกได้ว่า มีการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. เช่นนั้นเพียงเพื่อสนองผลประโยชน์ให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด ๆ ที่อยู่นอกรัฐสภา มิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง รัฐสภาจะลงโทษสถานหนักคือการมีมติขับไล่ออกจากความเป็นผู้แทนราษฎรเลยทีเดียว และเมื่อถูกขับไล่แล้วผู้นั้นจะไปฟ้องร้องศาลใดๆศาลก็จะไม่รับฟ้องเพราะเป็นจารีตประเพณีตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของอังกฤษ (Common Law) ที่ศาลต่าง ๆ จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องภายในของรัฐสภา (การลงมติขับไล่ ส.ส. ในความผิดจริยธรรมดังกล่าวโดยรัฐสภามีมาหลายครั้งในอดีตแต่ไม่อยากพูดจะยืดยาวเกินไป)

คนอังกฤษจึงเริ่มเสื่อมศรัทธาในความประพฤติที่เป็นเสมือนคนเกเร ไม่มีความเป็นผู้ดีแบบอังกฤษของตัวนายจอห์นสัน แม้สมาชิกในพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative) เองก็รู้สึกเช่นนั้น จนต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2565 ราวหนึ่งในสามของคณะรัฐมนตรี ข้าราชการทางการเมือง และผู้แทนการค้าของนายกรัฐมนตรี ได้พร้อมใจกันลาออกจากตำแหน่ง เพื่อกดดันให้นายจอห์นสันลาออกจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งในที่สุดเขาทนแรงบีบไม่ไหว จึงประกาศลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคฯและนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมพ.ศ.2565 (ขณะนี้ได้ทำหน้าที่รักษาการจนกว่าพรรคฯจะเลือกหัวหน้าใหม่ เพื่อจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายจอห์นสันต่อไป)

#สรุป อันนี้เป็นบทเรียนว่า #คนที่เป็นพ่อแม่ต้องหัดสอนลูกให้เคารพกฎหมาย เป็นคนมีวินัยไม่ทำอะไรตามใจตนเอง เผื่อว่าถ้าลูกโตขึ้นได้เข้าเล่นการเมืองก็จะเป็นนักการเมืองที่เป็นผู้ดี พูดจามีเหตุมีผล ไม่ใช้ความหยาบคายเป็นหลัก ไม่ทำ “ทุจริต3” ทั้งทางกาย วาจา และใจ ในการละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น เช่น เป็นคนไม่ละอายในการพูดเท็จใส่ความผู้อื่นให้ได้รับความเสียหาย อีกทั้งพ่อแม่ต้องอบรมแม้กระทั่งมารยาททางสังคม เช่น มารยาทในการกินร่วมโต๊ะกับคนต่างชาติ มารยาทในการแต่งตัว มารยาทในการพูด รวมทั้งสอนให้ลูก ๆ หลีกเลี่ยงการคบคนเลวเป็นเพื่อนหรือคบคนชั่วเป็นมิตรเพราะเป็นหนทางแห่งความชิบหายข้อหนึ่งในหกข้อที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า “อบายมุข6” และอย่าสอนลูกให้ตำหนิคนที่ควรสรรเสริญ และอย่าให้ลูกหัดสรรเสริญคนที่ควรตำหนิ พลเอกเปรม ได้เคยแนะนำไว้ว่าเราต้องสอน “ให้มีความกล้าหาญพอที่จะไม่ยกมือไหว้คนโกง คนโกงชาติบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นใคร เป็นญาติพี่น้อง เป็นเพื่อนฝูงสนิทสนมกัน แต่ถ้าเขาร่ำรวยมาเพราะโกง โกงคุณ โกงผม โกงดิฉัน ผมคิดว่า เราไม่จำเป็นจะต้องยกมือไหว้เขาหรอก ผมอยากให้ทุกคนไปสอนคนอื่นให้เกลียดคนโกง ทำอย่างไรก็ได้ ขอให้ทุกคนเกลียดคนโกง เพราะคนโกงคือสิ่งเลวร้ายที่สุด ที่มีในชาติบ้านเมืองของเรา” (จากหนังสือ “พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษคู่แผ่นดิน” จัดพิมพ์โดยบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น,หน้า 381-382, 2562)

ครับ! #พึงยกย่องคนที่ควรยกย่อง หรือ #พึงตำหนิคนที่ควรตำหนิ นี้คือคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเราครับ (ปคฺคณเห ปคฺคหารหํ)

ผมขอเรียนว่าความเห็นที่ลงในเฟซบุ๊กเป็น #ความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรคปชปแต่อย่างใด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทวี' ยันไม่เคยได้ยิน เพื่อไทยจะเอาตำแหน่งประธานสภาฯ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีมีกระแสว่าพรรคเพื่อไทยจะขอเก้าอี้ประธานสภา ว่า รัฐธรรมนูญได้มีการเขียนเอาไว้อย่างชัดเจนถึงการเข้าดำรงตำแหน่งประธานสภาว่าเป็นเรื่องของสภา ส่วนเรื่องคณะรัฐมนตรีนั้นเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี

'ไชยา' ลั่นปรับครม.กี่ครั้งก็ตาม ก.เกษตรฯต้องอยู่กับเพื่อไทย

นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังมีรายชื่อถูกปรับออก ว่าตนทราบตามข่าว ไม่ได้หวั่นไหวอะไร และ 7 เดือนที่ผ่านมา ทำหน้าที่ในกรอบในข้อจำกัดของงบประมาณ ถ้าหากเป็นไปตามนโยบายของผู้ใหญ่ตนก็ไม่ขัดข้อง ก็แล้วแต่

'เศรษฐา' เผยไต๋นั่งควบกลาโหม ทุกอย่างมีโอกาสขึ้นอยู่กับเงื่อนเวลา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในที่ประชุมได้มีรัฐมนตรีซักถามถึงกระแสข่าวการปรับ ครม.หรือไม่ ว่า ไม่มีใครถามอะไรเลย ทุกคนยังทำงานอย่างต่อเนื่อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

'พิมพ์ภัทรา' พร้อมรับทุกอย่างหากถูกปรับครม. ย้ำให้ถามหัวหน้าพรรครทสช.

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.)มีการเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่ ว่า เมื่อมีการกล่าวถึงเรื่องการจะปรับครม.ย่อมมีความหวั่นไหวเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

'ธรรมนัส' เชื่อ 'บิ๊กป้อม' มีชื่อสำรอง หาก 'ไผ่ ลิกค์' คุณสมบัติไม่ผ่านเป็นรมต.

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) พรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอชื่อต่อนายกรัฐมนตรีแล้วหรือไม่ กับโควตาที่ยังว่างอยู่ ว่า ขณะนี้นายกรัฐมนตรียังไม่ได้ส่งสัญญาณอะไร