ไทยเปิดฉากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปกครั้งสุดท้ายสานต่อประเด็นการค้าการลงทุนและการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปกครั้งสุดท้าย (APEC Concluding Senior Officials’ Meeting: CSOM) ถือเป็นการเริ่มต้นสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างเป็นทางการ โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสานต่อการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคทั้ง 4 ครั้ง ที่ได้จัดขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้ ในเดือนธันวาคม 2564, เดือนกุมภาพันธ์ 2565, เดือนพฤษภาคม 2565 และเดือนสิงหาคม 2565

ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งสุดท้ายนี้ นายธานี ทองภักดี ประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปกทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ โดยมีนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้น 2 วัน และแบ่งออกเป็น 3 ช่วง โดยในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เป็นการประชุมวันแรกที่ครอบคลุมช่วงที่ 1 และช่วงที่ 2 ซึ่งเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปกมีการหารือร่วมกันในประเด็นด้านการค้า การลงทุน และการส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งทางด้านกายภาพและด้านดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นสำคัญที่ไทยมุ่งผลักดันในการประชุม APEC 2022 คือการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้คนทุกกลุ่ม และการส่งเสริมความเชื่อมโยงทุกมิติอย่างไร้รอยต่อ โดยตัวอย่างประเด็นสำคัญของการประชุมในวันแรก ได้แก่ การหารือเรื่องแผนงานการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ให้มีความต่อเนื่อง รายงานนโยบายเศรษฐกิจเอเปกประจำปี 2565 ในหัวข้อ “การปฏิรูปเชิงโครงสร้างและการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงโดยยั่งยืน” (Structural Reform and a Green Recovery from Economic Shocks) การริเริ่มทำงานตามแผนแม่บทด้านอินเทอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงข้อเสนอแนะจากคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการฟื้นฟูการเดินทางอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ (Safe Passage Taskforce)

ประเด็นการหารือเหล่านี้ ได้สะท้อนถึงการทำงานที่สำคัญของเอเปก เพื่อทำให้การหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) มีพลวัตรและเท่าทันความเปลี่ยนแปลง โดยถอดบทเรียนจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค และฟื้นสร้างภาคการเดินทางและภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ แผนงานการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ให้มีความต่อเนื่อง และข้อเสนอแนะจากคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการฟื้นฟูการเดินทางอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น คือส่วนหนึ่งของผลลัพธ์สำคัญในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจฟื้นฟูและเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน สร้างภูมิคุ้มกันให้เอเปคสามารถรับมือกับวิกฤติการณ์และโรคระบาดใหม่ ๆ ในอนาคตได้อย่างเข้มแข็ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Bangkok Goals on BCG Economy: ความสร้างสรรค์ของไทยในการผลักดันการเติบโตอย่างสมดุล ครอบคลุม ยั่งยืน

การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปี 2565 นำมาซึ่งผลสำเร็จหลายประการ อาทิ การผลักดันให้เอเปคทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP

โครงการ Care the Bear ลดโลกร้อนเป็นรูปธรรมวัดผลได้ใน “ศูนย์ข่าวสีเขียว” ขานรับเป้าหมายการประชุมเอเปค 2565 สู่เศรษฐกิจ BCG อย่างสมดุลและยั่งยืน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ กระทรวงการต่างประเทศ กลุ่มบริษัทบางจาก เอสซีจี และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ ร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำในการประชุมเอเปค 2565

ชู ความ “BALANCE” จากสถานที่จัดการประชุมเอเปคสู่ของที่ระลึกสื่อมวลชน

แนวคิดหลักของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ คือ OPEN.CONNECT.BALANCE ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญของแนวคิดหลักดังกล่าวคือ “Balance.”

ผู้นำเอเปคร่วมรับรอง เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ปิดฉาก APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพอย่างงดงาม

ระหว่างวันที่ 18 - 19 พฤศจิกายน 2565 ได้มีการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 โดยในวันที่ 18 พฤศจิกายน เป็นการประชุมช่วงที่ 1 ในหัวข้อ “การเติบโตที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน”

ผู้นำเอเปคร่วมรับรอง เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ปิดฉาก APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพอย่างงดงาม

ระหว่างวันที่ 18 - 19 พฤศจิกายน 2565 ได้มีการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 โดยในวันที่ 18 พฤศจิกายน เป็นการประชุมช่วงที่ 1 ในหัวข้อ “การเติบโตที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน”

เปิดกว้าง สร้างโอกาสให้กับทุก ๆ คน

แรงงาน คือ ฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การเปิดโอกาสในการประกอบอาชีพให้แก่แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวจึงเป็นประเด็นที่ไทยให้การสนับสนุนมาตลอด