สภาล่มนัดแรก ประเดิมปีกระต่าย!


4 ม.ค.2566 - เมื่อเวลา 10.40 น. ที่ประชุมสภาฯ เข้าสู่การพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ... เพื่อลงมติในมาตรา 7/4 ซึ่งเมื่อคราวที่แล้วได้อภิปรายเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดี การลงมติต้องใช้เวลารอองค์ประชุมนาน 15 นาที กว่าส.ส.จะแสดงตนเป็นองค์ประชุมครบ ก่อนที่จะโหวตเห็นชอบมาตราดังกล่าว

ต่อมาพิจารณามาตรา 8 ว่าด้วยคณะกรรมการกัญชา กัญชง ซึ่งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) เพิ่มเป็น 25 คน โดยที่ประชุมได้ท้วงติง ถึงการเพิ่มตำแหน่งประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ให้เป็นกรรมการ โดยนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายคัดค้านพร้อมตั้งคำถามว่า กรณีเพิ่มตำแหน่งดังกล่าวส่อมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เนื่องจาก นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ กมธ.และที่ปรึกษา ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติด้วย คล้ายกับว่านายประพัฒน์ เข้ามาเป็น กมธ. เพื่อเขียนกฎหมายให้ตนเอง ถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งนี้ในกลุ่มเกษตรแห่งชาติ และ กลุ่มสหกรณ์ มีสมาชิก 14 ล้านครัวเรือน ตนสงสัยว่าให้ตำแหน่งนายประพัฒน์ทำไม ดังนั้น จึงขอให้กมธ.ชี้แจง

จากนั้น พิจารณามาตรา 8/1 ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการกัญชา กัญชง จำนวน 7 คน และให้อำนาจรัฐมมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้ง จากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ 7 ด้านๆละ1 คน คือ ด้านกฎหมาย , ด้านเกษตรกรและพันธุ์พืช, ด้านการตลาด, ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค, ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น, ด้านวิจัยและพัฒนา และ ด้านสมุนไพร ทั้งนี้กำหนดให้กรรมการดังกล่าวมาจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่า 3 คน มีส.ส.ตั้งข้อสังเกตการกำหนดคุณสมบัติที่อาจเปิดช่องให้เเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน จากนักธุรกิจด้านกัญชา

นายพิเชษฐ์ ย้ำว่า การเขียนเนื้อหาดังกล่าวเหมือนกับตามใจพวกพ้อง นักลงทุน และกฎหมายมีช่องโหว่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเป็นการผลักดันร่างกฎหมายเพื่อตนเอง โดยเฉพาะนายประพัฒน์ ที่เป็นผู้ปลูกกัญชารายใหญ่ มีตำแหน่งใหญ่ในสภาเกษตรกร และนั่งเป็นกมธ. เพื่อนำตำแหน่งของตนเองไปเป็นกรรมการ

นอกจากนั้น มีส.ส.เสนอแนะให้เพิ่มบทบัญญัติ ลักษณะต้องห้ามของกรรมการ คือ ห้ามเป็นผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่เกี่ยวกับกัญชา กัญชง หรือสารสกัดในลักษณะเพื่อการค้า หรืออุตสาหกรมไม่ว่าททางตรงหรือทางอ้อม เพื่อป้องกันกลุ่มทุน นักธุรกิจเข้ามาร่วมเป็นกรรมการฯ หวังสกัดผลประโยชน์ทับซ้อน


ทั้งนี้ นายปานเทพ พังพงษ์พันธ์ กมธ. ชี้แจงว่ายอมรับว่า ในกมธ. ล้วนมีผลประโยชน์ทับซ้อน และมีผลประโยชน์ทางตรง และทางอ้อม เพื่อให้เป็นตัวแทนของคนทุกฝ่าย ให้ความเห็นจากคนหลากหลายเพื่อลงมติ โดยยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ขณะที่การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามนั้น ไม่สามารถบัญญัติลักษณะต้องห้ามที่เสนอได้ เนื่องจากทำไม่ได้จริง และในช่วงแรกของการปลดล็อคกัญชาจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ

“หลายคนในกมธ. ตามธรรมชาติมีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น แพทย์ ต้องลดยาบางอย่างที่เกี่ยวกับกัญชาเพื่อให้ประชาชนมีกัญชาใช้มากขึ้น” นายปานเทพ ชี้แจง

ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานกมธ. ชี้แจงว่าการกำหนดตำแหน่งในร่างกฎหมาย ไม่ได้ระบุชื่อหรือตัวบุคคล ดังนั้นบุคคลเมื่อเป็นแล้วต้องพ้นไป ผู้จะดำรงตำแหน่งต่อจะมาเป็นกรรมการต่อ ข้อเท็จจริงที่บอกว่า ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับเดิมนั้นดี คือร่างของนายอนุทิน ชาญวีรกูล และคณะที่เสนอ แต่การพิจารณาของกมธ. ได้ตัดและเพิ่มใหม่ ตนต้องยอมรับในมติเสียงส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี กมธ.ไม่ยินยอมให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่คำที่อธิบายได้คือ ผู้ที่จะเข้ามาเป็นกรรมการ ต้องมีประสบการณ์ความรู้ด้านกัญชา ซึ่งจะเกี่ยวกับกัญชาไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมการลงมติในมาตราต่างๆยังคงขลุกขลักอยู่เป็นระยะๆ โดยเฉพาะมาตราที่10/1 เรื่อง อำนาจหน้าที่คณะ กรรมการกัญชา กัญชง นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ต้องกดออดเรียกสมาชิกมาแสดงตนนานกว่า 15นาที จึงมีสมาชิกครบองค์ประชุมแบบฉิวเฉียดเกินองค์ประชุมมาแค่ 2คน

ขณะที่การโหวตมาตรา11 ที่กมธ.เสนอให้ตัดข้อความทิ้งทั้งมาตรา ก็ยังเกิดปัญหาเสียเวลารอสมาชิกเนิ่นนาน จนกระทั่งส.ส.ฝ่ายค้านหลายคนทักท้วงขอให้ปิดประชุม เพราะสมาชิกอยู่กันไม่ครบ

โดยนายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย เสนอให้ถอนร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ออกไปก่อน อย่ามาถ่วงเวลาแบบนี้ เพราะความไม่พร้อมสูงมาก เสียเวลาที่ต้องรอ ดูแล้วกฎหมายก็ไม่ผ่าน ถ้าจะผ่าน องค์ประชุมคงครบไปนานแล้ว แต่เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้มาเป็นเดือนแล้ว ควรถอนไปก่อน แต่นายศุภชัยก็พยายามยื้อเวลา ให้รอไปเรื่อยๆ เพราะที่ผ่านมานายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เคยรอสมาชิกครบองค์ประชุมนาน 53นาที มาแล้ว ขอความร่วมมือให้อดทน

กระทั่งครบ 35 นาที มีสมาชิกมาครบองค์ประชุม แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาเสียบบัตรลงมติมาตราดังกล่าว กลับมีสมาชิกเสียบบัตรลงคะแนนแค่ 204 คนเท่านั้น ทำให้ไม่ครบองค์ประชุม

นายศุภชัยจึงสั่งปิดประชุมเวลา 15.05 น. ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นเหตุการณ์สภาฯล่มรับปีใหม่ 2566 ซึ่งเปิดประชุมนัดแรกก็ล่มทันที

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'รัฐสภา' มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจรัฐสภา ปมจัดทำรธน.ฉบับใหม่

“รัฐสภา” มีมติส่งศาลรธน.ตีความอำนาจตัวเอง ปมแก้รธน.ฉบับใหม่ ด้าน“วันนอร์”แจงยิบ ยึดตาม”ชวน”เคยวินิจฉัยร่างของ”สมพงษ์”มาแล้ว ชี้เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาวินิจฉัยเพื่อไปต่อแล้วไม่ล้ม ไม่เสียของ

'อดิศร' ซัดแรงมีรัฐสภาไปทำพระแสงอะไร จะแก้รัฐธรรมนูญ ยังให้ศาลวินิจฉัยอำนาจประชาชน

นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า อำนาจตุลาการ และอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร แยกกันและถ่วงดุลกัน ไม่ใช่คล่อมเลน มีบางครั้งจะยื่นญัตติได้ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ ถามว่าเกิดอะไรขึ้น นั่นฝ่ายตุลาการ แต่เราฝ่ายนิติบัญญัติ เราคิดของเราเองได้

'รัฐสภา' ถกบรรจุวาระจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ 'ก้าวไกล' หนักใจยื่นดาบให้ศาลรธน.อีกแล้ว

ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาญัตติ เรื่องขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ของนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอ