'จตุพร' ขยี้เพื่อไทย ตั้งรัฐบาลได้แต่ปกครองไม่ได้ ม็อบลุกเป็นไฟลามเมือง ลงท้าย 'ยึดอำนาจ' อีหรอบเดิม

พรรคเพื่อไทยอ้างถึงการรีบไปเป็นรัฐบาลก็เพื่อสนองความอยากของพวกคุณต่างหาก แม้จะเป็นได้จริง แต่รัฐบาลตระบัดสัตย์ ไม่มีความชอบธรรม จะอยู่ไม่ได้ ปกครองไม่ได้ ประชาชนจะชุมนุมบนถนนลุกลามไปทั่วเมือง เมื่อมีคนตาย คนเจ็บ แล้วจะจบแบบเดิม คือ ทหารเข้าแทรกแซงยึดอำนาจอีก

18 ก.ค.2566- นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน “คิดให้ทัน?” ระบุว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยตำหนิพรรคก้าวไกลยื่นแก้ รธน. ม.272 สะท้อนถึงสัญญาณต้องเลิกลาจากกันอีกไม่นาน ยิ่งมาเสนอให้เร่งตั้งรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ประชาชนผจญกับความทุกข์ยาก จึงแสดงถึงพฤติกรรมจะตระบัดสัตย์ ทิ้งฝ่าย 312 เสียงเพื่อข้ามขั้วไปตั้งรัฐบาลกับฝ่ายสืบทอดอำนาจ

นายจตุพร กล่าวว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พูดหลายประเด็นกับการหนุนโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ พร้อมตำหนิการแก้ รธน. ม.272 ว่า เป็นการปัดทิ้งวาระประเทศและประชาชนที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน อีกอย่างยังระบุถึงกรณีงูเห่าประมาณ 50 คนจากก้าวไกลกับเพื่อไทยถูกอีกฝ่ายเรียกไปพูดคุยให้ย้ายข้าง ประกอบกับ “มดดำ” หรือ นายคชาภา ตันเจริญ เปิดเผยเกมนายสุชาติ ตันเจริญ ผู้เป็นพ่อจะเป็นประธานสภา โดยทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นข้อเท็จจริงตามการวิเคราะห์ ซึ่งตนเคยส่งสัญญาณมาแล้วได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม เห็นว่า การเกิดงูเห่าเสาวภาถูกทาบทามย้ายข้างจำนวนมากนั้น ย่อมไม่เท่ากับการทรยศหักหลังประชาชน โดยเพื่อไทยเคยสัญญาไว้จะไม่ไปจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และฝ่ายสืบทอดอำนาจ ดังนั้น จึงไม่ต้องการให้เพื่อไทยไปทำในสิ่งที่แตกต่างจากที่ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนไว้ อีกอย่างขณะนี้ สถานการณ์ทางการเมืองของสองฝ่าย คือฝ่าย MOU 312 เสียง กับฝ่ายข้างน้อย 188 เสียง ได้ขีดเส้นแบ่งเขตกันชัดเจนชนิดไม่เผาผีกัน

นายจตุพร กล่าวถึงการโหวตนายกฯ ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ ว่า คงยากและเป็นไปไม่ได้ที่จะหาเสียง ส.ว.เพิ่มอีก 52 เสียงมาเติมกับอีก 13 เสียงที่เคยได้รับจากโหวตรอบแรกจนครบ 376 เสียงผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของจำนวนสมาชิกสองสภา 750 เสียง เพราะการมุ่งมั่นกับการแก้ไข ม.112 จะเป็นอุปสรรคและไม่มีทาง ส.ว. 250 เสียงจะให้การสนับสนุน

อีกทั้ง ยกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาเตือนสติว่า ความขัดแย้งใหญ่ครั้งนั้นเกิดจากประชาชนเผชิญหน้าเข่นฆ่านักศึกษา ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามุ่งละเมิดและเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ ดังนั้น ถ้าก้าวไกลไม่ยอมถอยและลดทอนการแก้ ม. 112 อาจเป็นชนวนก่อความขัดแย้งของประชาชนสองฝ่ายต้องห้ำหั่นกันอย่างไม่เข้าใจข้อเท็จจริงที่สภาเปิดประชุมลับอภิปรายความจำเป็นกับการแก้ ม.112

นายจตุพร กล่าวถึงการเน้นพูดวาระแก้ปัญหาประชาชนทางเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยว่า นายภูมิธรรมและนายเศรษฐา ทวีสิน กระตุ้นให้มีรัฐบาลโดยเร็วเพื่อมาแก้ทุกข์ยากที่ประชาชนผจญอย่างหนักหน่วง ซึ่งการพูดเช่นนี้จึงเท่ากับแสดงพฤติกรรมแต่งตัวตั้งรัฐบาลย้ายขั้วไปจับมือกับ พปชร. และบางพรรคสืบทอดอำนาจจากฝ่ายข้างน้อย 188 เสียง

นอกจากนี้ ย้ำว่า จุดหักเหของสถานการณ์โหวตนายกฯ อยู่ที่การย้ายขั้วสลับข้าง ดังนั้น วันที่ 19 ก.ค.นี้ นายพิธา ควรสละสิทธิ์แล้วหนุนนายเศรษฐา ซึ่งออกอาการความอยากเป็นนายกฯ มากขึ้นทุกขณะ ได้เป็นตัวแทนของเพื่อไทยที่อ้างถึงการไม่มุ่งเล่นการเมือง แต่เร่งแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของประชาชน

“ถ้าไม่เล่นการเมือง ต้องไม่มีใครกล้าตระบัดสัตย์ โดยมองการเมืองแค่เป็นของเล่น เป็นเรื่องไม่จริงกับคำสัญญา หากไม่เห็นด้วยกับการเล่นการเมืองจึงต้องทำตัวเป็นแบบอย่าง คือ พูดอย่างไรก็ต้องมีความรับผิดชอบอย่างนั้น แม้วันนี้เหตุการณ์ยังไม่เกิด แต่เพื่อไทยออกอาการจะนำไปสู่สิ่งนี้ แล้วบ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ”

พร้อมกับกล่าวว่า การย้ายข้ามขั้ว ทอดทิ้งคำมั่นสัญญาจะทำให้พลังต่อต้านจากกองเชียร์ก้าวไกลจุดติดแล้วกลายเป็นไฟลามทุ่งจนยากจะควบคุมสถานการณ์ได้ ดังนั้น พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่พูดและสัญญาไว้กับประชาชนเพื่อสกัดการชุมนุมจะนำไปสู่ความขัดแย้งใหญ่จนลุกลามผสมผสานการเผชิญหน้ากับปัญหาแก้ ม.112

“เพื่อไทยต้องมีหน้าที่ดึงฟืนออกจากไฟไม่ให้ลามทุ่ง ด้วยการรักษาสัจจะวาจาที่เคยให้ไว้ว่า ไม่จับมือกับฝ่ายสืบทอดอำนาจ เพื่อยุติความขัดแย้งที่ส่อจะเผชิญหน้าเข่นฆ่ากัน แต่คุณเศรษฐา กลับปั่นอารมณ์หนี้เงินผ่อนของประชาชน มาเป็นวาระใหญ่ของประเทศที่รอไม่ได้ ต้องมีรัฐบาลใหม่รีบมาแก้ปัญหา แต่ทางการเมืองนั้น คือ การแต่งตัวรอการย้ายขั้วไปจับมือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งไม่ใช่วิถีของรัฐบาลที่มาอย่างชอบธรรม”

นายจตุพร เชื่อว่า บ้านเมืองต้องมีรัฐบาล แต่ต้องเป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรมและสามารถปกครองได้จริง หากเพื่อไทยยอมข้ามขั้วเพื่อแลกกับการได้รัฐบาลเร็ว อาจเกิดปัญหาว่า จะบริหารประเทศได้จริงหรือไม่ เมื่อประชาชนเดือดดาลกับการเสียรู้พรรคการเมืองแล้วออกมาชุมนุมเต็มบ้านเต็มเมืองเหมือนการเสียสัจจะของผู้นำทหารรหัส 0143 ในปี 2535 จนทำให้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

“มันน่าประหลาดมาก เมื่อคุณถูกยึดอำนาจไป แล้วมาจัดตั้งรัฐบาลกับคนยึดอำนาจ แล้วจะส่องกระจกได้อย่างไร แม้ พล.อ.ประวิตร แต่งตัวรอให้ 141 เสียงข้ามขั้วแล้วก็ตาม แต่มันเป็นปัญหาใหญ่มากกับการปกครองประเทศด้วยรูปแบบประชาธิปไตยพันธุ์แบบนี้ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ประชาชนอ่อนแอ และกองเชียร์หลับหูหลับตาสนับสนุน แล้วท้ายสุดจบลงการที่การรัฐประหารตามเดิมซ้ำซาก”

รวมทั้ง เน้นว่า ถ้าทุกฝ่ายคือ ฝ่าย MOU 312 เสียง ฝ่ายเสียงข้างน้อย 188 เสียงสืบทอดอำนาจ ฝ่าย ส.ว. 250 เสียง และฝ่ายประชาชนที่มั่นคงในหลักการประชาธิปไตย เมื่อทุกฝ่ายมีจุดยืนชัดเจน การเมืองย่อมถึงทางตัน ดังนั้น จึงเป็นห้วงเวลาของประชาชนได้ร่วมสำแดงพลังหาทางออกของประเทศเพื่อนับหนึ่งกันใหม่ได้

นายจตุพร ประเมินว่า สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มในวันที่ 19 ก.ค. นี้ การโหวตหนุนนายพิธา เป็นนายกฯ รอบใหม่ พร้อมกับศาล รธน.มีประชุมพิจารณาคุณสมบัติต้องห้ามสมัคร ส.ส. สิ่งนี้ล้วนบ่งบอกถึงอนาคตการเมืองของเพื่อไทยกับก้าวไกลที่รอคอยการเลิกลาจากกัน แล้วเกิดการย้ายขั้วตั้งรัฐบาลมาแก้ปัญหาวาระประชาชน นำไปสู่ประชาชนไม่พอใจ

“ดังนั้น พรรคเพื่อไทยอ้างถึงการรีบไปเป็นรัฐบาลก็เพื่อสนองความอยากของพวกคุณต่างหาก แม้จะเป็นได้จริง แต่รัฐบาลตระบัดสัตย์ ไม่มีความชอบธรรม จะอยู่ไม่ได้ ปกครองไม่ได้ ประชาชนจะชุมนุมบนถนนลุกลามไปทั่วเมือง เมื่อมีคนตาย คนเจ็บ แล้วจะจบแบบเดิม คือ ทหารเข้าแทรกแซงยึดอำนาจอีก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แฉเล่ห์ 'พท.' วางยาแก้ รธน. ล็อกคำถามประชามติครั้งแรก

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า พรรคเพื่อไทยจริงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

อดีตบิ๊กข่าวกรอง ชี้ 'บิ๊กทิน' กินยาผิด! ยันทหารไม่อยากยึดอำนาจถ้านักการเมืองไม่โกง

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart หัวข้อ

'ก้าวไกล' หนุนแก้กฎหมายสกัดรัฐประหาร ลั่นกองทัพต้องอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม มีข้อเสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…)