ดร.มานะ ชำแหละความล้มเหลวกลไกตรวจสอบ การใช้อำนาจของจนท.รัฐ

29 ม.ค.2567-ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ “ความล้มเหลวของกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ” ระบุว่า ความล้มเหลวของ “กลไกรัฐ” ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ข้าราชการและนักการเมืองจำนวนมากกล้าคดโกง เอาเปรียบสังคม โดยไม่กลัวโทษทัณฑ์ ทางออกคือ ต้องกระตุ้นและมีมาตรการให้เกิดการตรวจสอบโดยภาคประชาชนอย่างเข้มแข็ง 

ปัญหาสำคัญของกลไกรัฐ คือ การเกรงใจพวกพ้อง กลัวเสียชื่อเสียงหน่วยงาน เกรงกลัวผู้มีอำนาจ มีประโยชน์ต่างตอบแทน ผู้ใหญ่อยากทำงานง่าย มองคนสำคัญกว่าระบบและประโยชน์ส่วนรวม ขาดเทคโนโลยี่ที่เหมาะสม ไม่มีอำนาจที่แท้จริง สุดท้ายจึงไม่ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบกันเอง 

ผู้เขียนจำแนกกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและงบประมาณแผ่นดินของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนี้ “การตรวจสอบโดยกลไกของรัฐ” เป็นการดำเนินการโดยผู้มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมาย พร้อมด้วยทรัพยากรและงบประมาณ

1. การตรวจสอบภายในหน่วยงาน (Internal audit) ตามที่ถูกกำหนดไว้ คือ ผู้บังคับบัญชา หน่วยงานตรวจสอบภายในหรือคณะบุคคลที่ได้รับมอบหมาย และกลไกรับเรื่องราวร้องทุกข์จากเจ้าหน้าที่หรือประชาชน

2. การตรวจสอบจากภายนอก (External audit) 2.1 หน่วยงานที่เป็นสายงานกำกับดูแล เช่น กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้ตรวจราชการประจำกรมหรือกระทรวง หน่วยงานที่มีภารกิจเฉพาะ เช่น กรมบัญชีกลาง ก.พ. ป.ป.ท. กลต. ฯลฯ 2.2 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น สตง. ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิฯ กกต. 2.3 กลไกทางการเมือง คือ รัฐสภาและกรรมาธิการ การตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจโดยรัฐบาล เช่น คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กรณีรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อีกกรณีคือ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีบอสกระทิงแดง ที่มี ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ เป็นประธานฯ  

“การตรวจสอบโดยภาคประชาชน” เป็นการดำเนินการโดยเสียสละและสมัครใจ หรือได้รับความเดือดร้อน จึงต้องสู้เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใส่ใจ ปัดภาระหรือช่วยเหลือกัน

ที่ผ่านมามักจะหมายถึงการที่ประชาชนไปร้องทุกข์ ร้องเรียน ต่อหน่วยงานรัฐ แต่ยุคนี้ประชาชนหูตาสว่างและกล้าหาญมากขึ้น จึงมีการรวมตัวเพื่อต่อสู้ ลงมือขุดคุ้ยเปิดโปงที่ลึก รอบด้านและต่อเนื่องมากขึ้น ผ่านสื่อออนไลน์ เพจหรือเครือข่ายอาสา สื่อมวลชน แทนที่จะร้องเรียนผ่านหน่วยงานของรัฐทางเดียว

ทราบกันดีว่า อุปสรรคใหญ่สำหรับประชาชนคือ การเข้าถึงข้อมูลภาครัฐทำได้ยาก ขั้นตอนมาก เสียเวลา มีค่าใช้จ่ายสูง ขาดความรู้ทางกฎหมายและภาษาราชการ และอาจถูกคุกคามได้ตลอดเวลา ตัวอย่างกรณีตรวจสอบและเปิดโปงโดยประชาชนและสื่อมวลชน เช่น ทุจริตอาหารกลางวันเด็กนักเรียน คดีกลุ่มเยาวชนฆ่าป้ากบ หมู่บ้านป่าแหว่งที่ จ.เชียงใหม่ เสาไฟกินรี การแก้ปัญหามลพิษจากฝุ่น P.M 2.5 คดีกำนันนก กรณีนาฬิกายืมเพื่อน บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เป็นต้น

โดยสรุป..

คนในหน่วยงานเดียวกันเองย่อมรู้ดีว่า หากจะคอร์รัปชันหรือทำเรื่องไม่ถูกไม่ควร เช่น โกงจัดซื้อหรือเอาของหลวงไปใช้ส่วนตัว ต้องทำอย่างไร เมื่อใด มากแค่ไหน เจรจาหรือทำเอกสารอย่างไร ต้องอาศัยใครหรือเงื่อนไขอย่างไรเพื่อปกปิดช่วยเหลือกัน 

ดังนั้นคอร์รัปชันจะลดลงหรือไม่เกิดขึ้นเลย หากกลไกตรวจสอบภายในหน่วยงานทำหน้าที่ได้จริง ขณะที่หน่วยตรวจสอบภายนอกแม้มีอำนาจมาก แต่ไม่สามารถรับมือกับความใหญ่ ซับซ้อน และขาดธรรมาภิบาลของระบบราชการและการเมืองได้ 

บทเรียนสอนเราว่า “การมีส่วนร่วมและตรวจสอบของประชาชนเท่านั้น ที่เป็นพลังกดดันให้กลไกของรัฐทั้งปวงต้องเข้ามาตรวจสอบ และร่วมกันรับผิดชอบจริงจังมากขึ้น”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ดร.กิตติธัช’ เตือนอย่าปลุกบรรยากาศแบบ  6 ตุลา ปล่อย จนท.ดำเนินตามหลักกม.

บรรยากาศแบบ 6 ตุลาคม ไม่ได้ให้อะไรกับสังคม มีแต่บาดแผลและความเจ็บปวด ภาพลักษณ์ของสถาบันฯ ก็ถูกทำให้แย่ลง

คนร้ายดักซุ่มยิง อส.กะพ้อ ปัตตานี บาดเจ็บสาหัส

จ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.กะพ้อ จังหวัดปัตตานี รับแจ้งเกิดเหตุยิงกันบริเวณบริเวณบนถนน ม.4 ต.กะรุบี อ.กะพ้อ หลังรับแจ้งจึงจัดกำลังเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมประสานหน่วยกู้ภัย

เอกฉันท์ สภาฯรับร่างกฎหมายติดดาบ 'ป.ป.ท.' เพิ่มอำนาจไต่สวน ชี้มูลความผิดจนท.รัฐ

ในการประชุมสภาฯ ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ... ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ และฉบับที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอต่อสภาฯ