นิสิตเก่าจุฬาฯร่อนหนังสือถึงอธิการบดีฯขอความคืบหน้า ถอดถอนวิทยานิพนธ์ 'ณัฐพล'

8 มี.ค.2567 - นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 ทำหนังสือถึง นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเนื้อหาดังนี้

เรียน อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์

จากกรณีที่เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ ศาลอาญายกฟ้อง ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีนายณัฐพล ใจจริง ยื่นฟ้องหมิ่นประมาท เรื่องที่ ศ.ดร.ไชยันต์ ได้วิพากษ์วิจารณ์นายณัฐพล ว่าใช้ข้อมูลที่ไม่มีอยู่จริงมาอ้างอิงเป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ และพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างกระแสความรู้สึกให้ผู้อ่านเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์

ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่าคณะกรรมการสอบสวนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ได้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญและเป็นกลาง ขึ้นมาตรวจสอบวิทยานิพนธ์ดังกล่าวตั้งแต่เดือน

มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยผู้ทรงคุณวุฒิได้ส่งผลการสอบสวนให้ท่านประธานคณะกรรมการฯ เรียบร้อยแล้ว เรื่องดังกล่าวได้ถูกนำเข้าสู่สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภาฯ ได้มีมติรับรองผลการสอบสวนวิทยานิพนธ์แล้ว

บัดนี้เวลาได้ผ่านไป ๓ ปี จนศาลอาญายกฟ้อง ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร แล้ว แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังไม่มีการประกาศผลการสอบสวนออกมาเพื่อเปิดเผยให้สังคมที่กำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมากได้รับทราบ ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญเนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของประเทศ การเก็บเรื่องที่สำคัญมากเช่นนี้อย่างเงียบโดยไม่ชี้แจงแสดงผล และการที่มีข่าวลือว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจถอดถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายณัฐพล ใจจริง เนื่องจากไม่มีระเบียบให้ถอดถอนปริญญาในกรณีตกแต่งข้อมูลเท็จ ทำให้มีผู้กล่าวถึงผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในทางที่เสียหาย ข้าพเจ้าในนามนิสิตเก่า คณะรัฐศาสตร์ รุ่น ๓๐ รู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเรื่องนี้ไม่เพียงทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียง และผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถูกติฉินนินทา แต่เป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนของชาติเข้าใจสถาบันพระมหากษัตริย์ผิด ซึ่งจะมีผลลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของชาติ จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยควรสำเหนียกให้มาก

เพื่อรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิและความน่าเชื่อถือในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเพื่อสืบสานพระปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงประดิษฐานให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง และเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งระบุถึงภารกิจหลักของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า เพื่อให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยมี "คุณธรรมกำกับความรู้ เพียบพร้อมด้วยสติปัญญาและจริยธรรม ใฝ่รู้ กอปรด้วยวิจารณญาณ จิตใจเสียสละ และความสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงต้องดำเนินการโดยยึดหลัก ความมีคุณธรรมควบคู่ไปกับความเป็นเลิศทางวิชาการ มาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการอันเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ การนําความรู้ที่ถูกต้องสู่สังคม ความรับผิดชอบต่อรัฐและสังคม ตลอดจนประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารที่โปร่งใส เปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนได้รับทราบและสามารถตรวจสอบได้ตามนโยบายการบริหารงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายใต้แนวคิด “Open to Transparency”

ข้าพเจ้าจึงขอกราบเรียนท่านอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนี้:

๑. ขอให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยมติของคณะกรรมการสอบสวนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ของนายณัฐพล ใจจริง เรื่อง "การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.๒๔๙๑ - ๒๕๐๐) ” ให้ข้าพเจ้าและสาธารณชนทราบ

๒. ขอทราบว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการอย่างไรแล้วบ้าง หลังสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับรองมติดังกล่าว

๓. ถ้ายังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ขอทราบว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะดำเนินการเมื่อใด และอย่างไร

๔. ถ้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจถอดถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายณัฐพล ใจจริง เนื่องจากไม่มีระเบียบให้ถอดถอนปริญญาในกรณีตกแต่งข้อมูลเท็จ ข้าพเจ้าขอทราบว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะ “ถอดถอนวิทยานิพนธ์” ของนายณัฐพล ใจจริง แทนได้หรือไม่ เนื่องจากการถอดถอนวิทยานิพนธ์ก็น่าจะมีผลต่อวิทยฐานะของของนายณัฐพล ใจจริง โดยไม่ต้องถอดถอนปริญญา ข้าพเจ้าจึงขอร้องเรียนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ถอดถอนวิทยานิพนธ์” นั้นโดยเร็วที่สุด แล้วแจ้งให้ข้าพเจ้าและสาธารณชนรับทราบด้วย

๕. ถ้าข่าวลือว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่สามารถถอดถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายณัฐพล ใจจริง เนื่องจากไม่มีระเบียบในเรื่องนี้ เป็นความจริง ข้าพเจ้าขอร้องเรียนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปรับปรุงระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้รัดกุมและครอบคลุมบทลงโทษเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

๖ . ขอทราบนามอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนายณัฐพล ใจจริง

จึงกราบเรียนมาเพื่อขอคำตอบทุกข้อภายใน ๑๕ วัน ตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐

ขอแสดงความนับถือ
นางวิรังรอง ทัพพะรังสี
นิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น ๓๐
หมายเหตุ: หนังสือนี้ทำ ๒ ฉบับ
ส่งถึงอธิการบดี ๑ ฉบับ
และสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑ ฉบับ
มีเนื้อหาข้อความตรงกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตา ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ '1ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์' ผ่าน THACCA

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่า

'นิสิตเก่าจุฬาฯ' ตามบี้ 'วิทยานิพนธ์ณัฐพล' อุทธรณ์คำสั่ง ให้จุฬาฯเปิดเผยมติสอบสวน

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก

'ดร.อานนท์' ร่ายยาว ไม่เคยมีใครสั่งให้เขียนหรือพูดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์เฟซบุ๊ก Arnond Sakwora

'อ.ไชยันต์' เปิดพระราชบันทึก Democracy in Siam พระปกเกล้าฯ เตรียมการสู่ปชต.

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2567 โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า

'อ.ไชยันต์' โต้ 'อ.สุลักษณ์' ยันร่างรธน.ของร.7กล่าวถึงสภานิติบัญญัติ-การเลือกตั้งไว้ด้วย

'อ.ไชยันต์' ยกสาระสำคัญของเค้าโครงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง ที่ร.7จะพระราชทาน โต้ อ.สุลักษณ์ ยันร่างรธน.มิได้เพียงเสนอให้มีนายกฯเท่านั้น แต่ได้กล่าวถึงสภานิติบัญญัติ และการเลือกตั้งไว้ด้วย