เบื้องลึก 'ก้าวไกล' รู้ชะตากรรมเสี่ยงโดนยุบพรรค จับตาแถวสามรับไม้ต่อ 'ไหม' ชน 'อิ๊งค์'

'ก้าวไกล' รู้ชะตากรรมเสี่ยงโดนยุบพรรค เขียนข้อบังคับพรรค กันไม่ให้รองหัวหน้า-รองเลขาธิการ เป็นกก.บห. จับตาแถวสาม รับไม้ต่อ'ศิริกัญญา'เต็งหนึ่ง ชน 'แพทองธาร'

13 มี.ค.2567 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)จะส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ตามช่องทางของพรบ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 นั้น

จากการตรวจสอบ ข้อบังคับพรรคก้าวไกล ตามประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 7 พ.ค. 2563 ที่พรรคก้าวไกล ไปเอาหัวพรรคเดิมของพรรคร่วมพัฒนาชาติไทย มาใช้หลังมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ พบว่า ในข้อบังคับพรรค ข้อ 20 กำหนดให้ พรรคมีกรรมการคณะหนึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคมีจํานวนไม่น้อยกว่าแปดคน

ประกอบด้วย หัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรค-เหรัญญิกพรรค – นายทะเบียนสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรค อื่นๆ

โดยพบว่า ไม่ได้มีการระบุให้ตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรค-รองเลขาธิการพรรค -โฆษกพรรค และรองโฆษกพรรค เป็นกรรมการบริหารพรรคแต่อย่างใด ทั้งที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ จะต้องให้รองหัวหน้าพรรค-รองเลขาธิการพรรค เป็นกรรมการบริหารพรรค

นอกจากนี้ ยังพบว่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 เว็บไซด์ราชกิจจานุเบกษา มีการเผยแพร่ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่ลงชื่อโดยพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต.ในขณะนั้น ที่เป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองโดยตำแหน่ง ได้มีการลงนามรับรอง รายชื่อกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล จำนวนสิบคน ซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ เมื่อ 14 มี.ค.2563 ที่เป็นการประชุมหลัง พรรคอนาคตใหม่โดนยุบพรรค และมีการย้ายส.ส.มาที่ พรรคก้าวไกล ที่เป็นพรรคสำรองที่ตั้งไว้

โดยวันประชุมใหญ่พรรคก้าวไกล ดังกล่าว มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล จำนวน 10 คน ได้แก่ 1.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค 2.ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค 3.นางสาวณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค 4.ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตรตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค

ส่วนกรรมการบริหารพรรค ประกอบด้วย 5.ปดิพัทธ์ สันติภาดา (ปัจจุบันลาออกจากสมาชิกพรรคก้าวไกล ไปอยู่พรรคเป็นธรรม หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 เพื่อรักษาเก้าอี้รองประธานสภาฯ ) 6.สมชาย ฝั่งชลจิตร 7. นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล 8.นางสาวเบญจา แสงจันทร์ 9.นายอภิชาติ ศิริสุนทร 10.สุเทพ อู่อ้น

แม้จะพบว่าในการประชุมใหญ่พรรควันดังกล่าว หลังจากนายพิธา ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค และนายชัยธวัช ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรค ทั้งสองคน ได้เสนอชื่อ คนมาเป็นกรรมการบริหารพรรคเพิ่มเติมในวันเดียวกัน

คือนายพิธา ได้เสนอชื่อตามข้อบังคับของพรรค เพื่อแต่งตั้งรองหัวหน้าพรรค 4 คน ประกอบไปด้วย 1. พ.ต.ต. สุพิศาล ภักดีนฤนาท 2.พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ 3.ณัฐวุฒิ บัวประทุม และ 4.ศิริกัญญา ตันสกุล และการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งคณะโฆษกพรรค 4 คน ประกอบไปด้วย 1. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร 2. ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ 3.นางสาวสุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา และ 4.ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์

ขณะที่ นายชัยธวัช ในฐานะเลขาธิการพรรค ก็เสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งรองเลขาธิการพรรค 11 คน ประกอบไปด้วย 1. นางสาวญาณธิชา บัวเผื่อน 2.เอกภพ เพียรพิเศษ (แต่ต่อมาเข้าร่วมกิจกรรมกับพรรคภูมิใจไทย และตอนเลือกตั้งปี 2566 ไปลงสมัครส.ส.เชียงราย พรรคภูมิใจไทยแต่สอบตก) 3. วรรณวลี ตะล่อมสิน (เว้นวรรคการเมืองไม่ลงเลือกตั้งตอนปี 2566 ) 4. ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ 5.ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล 6.สุรเชษฐ์ ประวีณวงษ์วุฒิ 7.วรรณวิภา ไม้สน 8.จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์(ต่อมาช่วงเลือกตั้งย้ายไปพรรคเพื่อไทย) 9. คำพอง เทพาคำ 10.รังสิมันต์ โรม และ 11.ธีรเศรษฐ พัฒน์วราพงษ์

อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อบังคับพรรคก้าวไกล ไม่เขียนไว้ว่าให้ รองหัวหน้าพรรค -รองเลขาธิการพรรค-โฆษกพรรค -รองโฆษกพรรค เป็นกรรมการบริหารพรรค ทำให้ กรรมการบริหารพรรค ตามข้อบังคับพรรค จึงมีเพียงสิบคนเท่านั้น และในกรรมการบริหารพรรคสิบคนดังกล่าว พบว่าปัจจุบันเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด รวม 5 คนประกอบด้วย .พิธา-ชัยธวัช- เบญจา แสงจันทร์ -อภิชาติ ศิริสุนทร ที่ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคก้าวไกล และนายสุเทพ อู่อ้น

จึงทำให้หลายฝ่ายจับตากันว่า ก่อนถึงวันศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ทั้งห้าคนจะลาออกจากส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อเลื่อนผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ในลำดับถัดไปขึ้นมาหรือไม่ เพื่อที่ว่าหากพรรคก้าวไกลโดนยุบพรรค จะได้ไม่เสียที่นั่งในสภาฯ ไปห้าเก้าอี้ เพราะถ้าพรรคก้าวไกลโดนยุบพรรค จะไม่สามารถเลื่อนผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อในลำดับถัดไปขึ้นมาแทนได้

และจากการที่ แกนนำพรรคก้าวไกลปัจจุบันบางคน แม้จะเป็นกรรมการบริหารพรรค แต่จะไม่โดนตัดสิทธิการลงเลือกตั้ง เพราะไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคตามข้อบังคับพรรค ทำให้บางคน เริ่มถูกจับตามองว่า จะมาเป็นแถวสามผู้นำพรรคก้าวไกลชุดใหม่

ถัดจากแถวหนึ่ง คือธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล ในยุค พรรคอนาคตใหม่ -แถวสอง พิธา และชัยธวัช ยุคพรรคก้าวไกล

โดยแถวสามที่ถูกจับตามองก็มีเช่น นส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของก้าวไกล ที่ถูกจับตามองว่า อาจจะถูกผลักดันให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ และเป็นแคนดิเดตนายกฯ เพื่อเป็นคู่เทียบ แคนดิเดต กับ อุ๊งอิ๊ง- น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จากเพื่อไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชัยธวัช'ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาสู้คดียุบพรรคเพิ่มอีกรอบ!

'ชัยธวัช' ลุ้นศาล รธน.ขยายเวลาสู้คดียุบพรรค มองเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงต้องหาพยาน-หลักฐาน สู้อย่างเต็มที่ เชื่อปรากฎการณ์งูเห่าน้อยกว่า 'อนาคตใหม่' เหตุสถานการณ์ต่างกัน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้องขอวินิจฉัยอำนาจสภาฯแก้รัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของประธานรัฐสภาที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256

ไม่ได้ปาดหน้า! 'พิธา' ตั้งใจมาเชียงใหม่จริง ลั่น ก.ก.ได้อันดับ 1 ต้องช่วยกันทำงาน

'พิธา' รับตั้งใจมาเชียงใหม่จริง แต่ไม่ได้ปาดหน้า 'ทักษิณ' ยัน ไม่มีนัยยะการเมือง มองกระแสพื้นที่ ไม่มีใครเป็นเจ้าถิ่น ลั่น 'ก้าวไกล' ได้รับคะแนนความไว้วางใจได้ สส.มากเป็นอันดับ 1 ก็ต้องช่วยทำงาน​

'นครินทร์' ย้ำศาลรธน.ไม่มีธงตัดสิน ผลออกได้แค่ขัดหรือไม่ขัดรธน. ไม่มีตรงกลาง

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงการจัดงานครบรอบ 26 ปีศาลรัฐธรรมนูญว่า วันนี้เป็นการประชุมทางวิชาการที่ได้มีการเตรียมการมาสักระยะหนึ่งแล้ว

ศาลรธน. นัดถก 17 เม.ย. ก้าวไกลขอขยายเวลายื่นคำชี้แจง ตัดสินยุบพรรคไม่ทัน เม.ย.นี้

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาคำร้องยุบพรรคก้าวไกล และการขอขยายระยะเวลาการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานายนครินทร์ กล่าวว่า ต้องแล้วแต่ที่ประชุมของศาลซึ่งก็จะดูความพอเหมาะ