'อ.หริรักษ์' ชำแหละ ความเห็น 'อ.สุรพล' แก้ตัวให้ 'ก้าวไกล' ข้องใจจะเปลี่ยนประเทศแบบไหน

31ก.ค.2567- รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2567 เป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าจะยุบพรรคก้าวไกลตามความผิดในข้อหา ล้มล้าง หรือมีการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

ความเห็นของผู้สันทัดกรณีทั้งหลายส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่น่าจะรอด แต่ในบรรดาผู้ที่มีความเห็นเช่นนี้ มีหลายคนที่เห็นว่า การยุบพรรคไม่เป็นประโยชน์ใดๆต่อการเมือง เพราะพรรคที่ถูกยุบก็สามารถตั้งพรรคใหม่ได้ และกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ก็ยังคงสามารถอยู่เบื้องหลังโดยหาคนอื่นมาออกหน้าแทนได้เสมอ แต่สิ่งที่ได้กลับเป็นความโกรธแค้นของนักการเมืองของพรรคที่ถูกยุบและประชาชนที่สนับสนุน ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่ควรมีมารตรการยุบพรรค แต่เมื่อเป็นกฎหมายและหากพรรคก้าวไกลทำผิดตามกฎหมายจริง ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีทางเลือกเป็นอื่นได้

ล่าสุด เร็วๆนี้ พรรคก้าวไกลได้เปิดชื่อพยานบุคคลเพิ่มขึ้นอีกชื่อหนึ่ง นั่นคือ ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอยู่ในคณะที่ปรึกษากฎหมายของกกต. แต่เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานบุคคล เนื่องจากมีพยานหลักฐานที่เป็นเอกสารและอื่นๆเพียงพอแล้ว อ.สุรพลจึงทำได้เพียงเขียนความเห็นในฐานะพยานต่อคดีนี้อย่างละเอียด และเผยแพร่ออกสื่อต่างๆเพื่อให้ประชาชนได้เห็น และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
ต่อไปนี้จะขอสรุปความเห็นดังกล่าวอย่างสังเขป ซึ่งแยกเป็น 3 ประเด็นดังนี้

ประเด็นที่ 1 คำรัองยุบพรรคก้าวไกลที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ความเห็นคือ กกต.ไม่ได้ทำตามมาตรา 93 ของพ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมืองปี 2560 ซึ่งกำหนดในวรรคแรกว่า
" เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ(กกต.)กำหนด ....."

ตามข้อความที่ว่า " ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด" คณะกรรมการ กกต.ได้ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งมีประธานกกต.เป็นผู้ลงนาม ซึ่งอ.สุรพลเห็นว่า นายทะเบียนมิได้ทำตามระเบียบดังกล่าว ไม่ได้มีการรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน และไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้โต้แย้งอย่างเต็มที่ก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการกกต. ซึ่งคณะกรรมการได้มีมติให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล จึงเห็นว่า กกต.มิได้ทำตามกระบวนการขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด จึงทำให้คำร้องยุบพรรคก้าวไกลที่คณะกรรมการกกต.ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งยังเห็นว่า การอ้างว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยมาก่อนแล้วว่าพรรคก้าวไกลใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ทำไม่ได้ เพราะการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยคดึตามมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ แต่คำร้องของกกต.ทียื่นศาลรัฐธรรมนูญเป็นคดีตามมาตรา 92 แห่งพ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ซึ่งเป็นคนละกรณีที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ทั้งนี้อยากจะนำข้อความจากรัฐธรรมนูญมาตรา 49 มาให้อ่านดังนี้
" มาตรา 49 บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ ...."
ในขณะที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 กำหนดว่า
"เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้สั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
(1.) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศที่มิได้เป็นไปตามวิถึทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
(2)กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(3)...........
(4)........... "
ดูแล้วการพิจารณาคดีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 และการพิจารณาคดีตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 จะเป็นเรื่องที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงหรือเป็นเรื่องเดียวกัน คงต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

ประเด็นที่ 2 การกระทำตามคำร้องในคดียุบพรรคก้าวไกลเป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์​ทรงเป็นประมุข หรือมีการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
ความเห็นคือ ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาการกระทำตามคำร้องให้ชัดเจนให้ได้ว่า การกระทำใดเป็นการกระทำของพรรคการเมือง และการกระทำใดเป็นการกระทำของปัจเจกบุคคล เพราะการกระทำใดที่จะเป็นผลผูกพันนิติบุคคลนั้น ต้องเป็นการกระทำของนิติบุคคลเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเป็นการกระทำของสมาชิกหรือบุคคลที่สังกัดนิติบุคคลเพียงคนใดคนหนึ่ง

การกระทำเช่น การเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นเพียงการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ อันได้แก่อำนาจนิติบัญญัติเสนอรัฐสภาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเท่านั้น การปรากฏตัวในที่ชุมนุมชุมนุมทางการเมืองเกี่ยวกับการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 การเป็นนายประกันให้กับผู้ต้องหาคดี 112 การเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดี 112 ของสมาชิกพรรคก้าวไกล การติดสติ๊กเกอร์บนเวทีหาเสียง เป็นการกระทำของปัจเจกบุคคล ไม่ใช่การกระทำของพรรค การกระทำใดที่จะเป็นการล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องเป็นการกระทำที่ใช้กำลังบังคับ หรือเป็นการกระทำโดยใช้ความรุนแรงเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสิ้นสุดลง เท่านั้น

การเสนอนโยบายในการแก้ไขมาตรา 112 ตลอดจนการนำนโยบายดังกล่าวมาเผยแพร่หาเสียง ข้อเสนอแบบนี้ของพรรคการเมือง เป็นการประนีประนอมแนวทางของกลุ่มความคิดต่างๆ เพื่อประคับประคองระบอบประชาธิปไตย ส่งผลให้ฝ่ายต่างๆยอมรับความแตกต่างระหว่างกันได้ มิฉะนั้นแล้วการผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นเป็นจริงก็คงไม่อาจเกิดขึ้นได้
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น พรรคก้าวไกลจึงไม่ได้มีการกระทำอันเป็นการล้มล้าง หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด

ประเด็นสุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญควรพิจาณาให้ยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่ ความเห็นคือ พรรคก้าวไกลไม่ยังไม่มีการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันจะเป็นเหตุให้นำไปสู่การพิจารณายุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

ทั้งนี้ยังได้ฝากความเห็นปิดท้ายถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญความว่า
"การพยายามแก้ปัญหาทางการเมืองที่ซับซ้อนของชาติด้วยการวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ เป็นกระบวนการที่ได้ใช้มาแล้วหลายครั้งโดยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ละครั้งก็ไม่เคยทำให้เกิดทางออกหรือทางเลือกใหม่ที่จะช่วยคลี่ตลายวิกฤตทางการเมืองที่เป็นอยู่ ในทางตรงข้ามกลับสร้างความโกรธแค้นชิงชังในทางการเมืองให้มีเพิ่มมากยิ่งขึ้น และยิ่งจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายอยู่แล้ว กลับทวีความรุนแรงขึ้น ........ ขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้มโนธรรมและความรักความห่วงใยในประเทศชาติและประชาชนชาวไทยโดยรวม ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้"

นี่เป็นการสรุปสาระสำคัญของความเห็นของอ.สุรพลเท่านั้น ความเห็นฉบับเต็มมีรายละเอียดและมีความยาวกว่านี้มาก ต้องนับว่าเป็นความสามารถของพรรคก้าวไกลที่ได้มือระดับ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ที่ยอมเปลืองตัวมาเป็นพยานช่วยแก้ต่างให้ ซึ่งก็ดูเหมือนอ.สุรพลจะมองก้าวไกลในแง่ดีไปเสียทั้งหมด แม้แต่เรื่องที่พรรคก้าวไกลไปอ้าแขนรับผู้ที่เป็นจำเลยในคดี 112 ให้ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยเดียวกัน 3 คน ท่านก็มองว่าเป็นเรื่องของแต่ละคนไม่ใช่เรื่องของพรรค การที่คุณพิธาติดสติ๊กเกอร์ในช่อง ยกเลิก 112 บนเวทีหาเสียง ก็มองว่าเป็นเรื่องของการแสดงความคิดเห็นของปัจเจกบุคคล ทั้งที่คุณพิธาขึ้นเวทีหาเสียงในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล
จะว่าไป หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พรรคก้าวไกลมีการกระทำที่เซาะกร่อนบ่อนทำลาย และจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และขอทบทวนอีกครั้งว่า การพยายามล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ถือเป็นการพยายามล้มล้างการปกครองฯด้วย เพราะระบอบการปกครองของประเทศไทยต้องประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ระบอบประชาธิปไตยและสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การพยายามล้มล้างส่วนหนึ่งส่วนใดก็ถือว่าเป็นการล้มล้างทั้งหมด ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้พรรคก้าวไกลหยุดการกระทำดังกล่าวเสีย

แรกทีเดียวก็ยังนึกชมว่า พรรคก้าวไกลก็หยุดเคลื่อนไหวอย่างที่เคยทำจนเกือบหมด แต่แล้วมาถึงวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในขณะที่เพจหรือเว็บไซด์ขององค์กร หรือบริษัทตลอดจนบุคคลต่างๆ ต่างก็โพสต์ข้อความถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เมื่อไปดูเว็บไซด์ของพรรคก้าวไกลนอกจากไม่มีข้อความถวายพระพรแล้วยังโพสต์รูปคุณพิธาพร้อมข้อความว่า
"ก้าวแรก อบจ. ก้าวต่อเปลี่ยนประเทศ" เสียนี่
นี่เป็นความจงใจหรือไม่ที่จะโพสต์ข้อความเช่นนี้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และคำว่า "เปลี่ยนประเทศ" จะเปลี่ยนไปเป็นแบบที่เคยหาเสียงไว้หรือเปลี่ยนไปเป็นแบบใด
อย่างไรก็ตาม ต่อให้มีการหยุดการกระทำ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรอดหรือไม่รอดจากการถูกสั่งให้ยุบพรรค
เพราะพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการ(กกต.)มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้สั่งยุบพรรคการเมืองนั้น 2 ใน 4 ของกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งก็คือ กระทำการล้มล้างการปกครองฯ และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
การได้ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ มาเป็นพยานสำคัญจะเป็นผลบวกหรือผลลบต่อพรรคก้าวไกล วันพุธที่ 7 สิงหาคมนี้ตั้งแต่เวลา 15.00 น จะได้รู้กัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปลุกรุมบี้ 'รัฐบาลอิ๊งค์' ส่งศาล รธน. ชี้ขาด 'MOU 44'

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ท่านที่ได้อ่านโพสต์ที่แล้วของผม คงจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาที่ไป

เปิด 11 ชื่อผู้สมัคร 'ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ' ปลัด ก.เกษตรฯ มาวันสุดท้าย

ตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน ระหว่างวันที่ 11-25 พฤศจิกายน 2567

'ทักษิณ-พท.' อย่าเพิ่งตีปีก! ชั้น 14 ป.ป.ช. ใกล้งวด คดีครอบงำยิ่งชัด รอ กกต. เคาะ

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า หน้าแตกกันไปตามๆ กัน เมื่อได้ทราบผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่รับวินิจฉัยคำร้อง

จับตาสมัครตุลาการศาลรธน. ชิง 2 เก้าอี้ พรุ่งนี้วันสุดท้าย 

คึกคัก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีผู้สมัครแล้ว 8 ราย เปิดรับพรุ่งนี้วันสุดท้าย จับตาสายตุลาการเริ่มมาแล้ว นักวิชาการ – ผู้ทรงคุณวุฒิ ตามมาเพียบ