การผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือที่เรียกกันว่า “ร่างกฎหมายกาสิโน” โดยรัฐบาลเพื่อไทย กำลังเผชิญกับแรงเสียดทานที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มต่อต้านในภาคประชาชน
ขณะที่คณะกรรมการกฤษฎีกามีการปรับแก้ร่างฯ ให้มีข้อจำกัดมากขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่า นี่คือการ “หาทางลง” ของนายทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร-พรรคเพื่อไทย หรือไม่ หลังจากเผชิญกระแสคัดค้านที่รุนแรงกว่าที่คาด
แนวคิดเรื่องกาสิโนไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (2544-2549) นายทักษิณ ชินวัตร เคยเสนอแนวทางให้ประเทศไทยมีกาสิโนถูกกฎหมาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดนักลงทุน แต่ต้องพับแผนไปเพราะแรงต่อต้านจากสังคม
เมื่อเขากลับไทยในปี 2566 และกลับมามีอิทธิพลทางการเมืองอีกครั้ง แนวคิดนี้ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่นายทักษิณ กล่าวปาฐกถา Vision for Thailand 2024 เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 โดยระบุว่า
“ธุรกิจพนันในไทยมีอยู่แล้ว แต่รัฐบาลไม่ได้อะไรเลยจากเงินหมุนเวียนมหาศาล เราต้องดึงสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาบนดิน ควบคุมให้ถูกต้อง และนำรายได้มาพัฒนาประเทศ”
ถัดมา 13 มกราคม 2568 คณะรัฐมนตรี (ครม.) นำโดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ. นี้ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่มี นายวิษณุ เครืองาม “เนติบริกร” ชื่อดัง เป็นประธาน ตรวจพิจารณาปรับปรุงแก้ไข
แต่หลังจากนั้นกระแสต้านก็เริ่มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มภาคประชาชน และภาควิชาการที่มองว่ากาสิโน จะสร้างปัญหาสังคมมากกว่าประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
และเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2568 คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับปรุง ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ดังกล่าวเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 ซึ่งจะดำเนินไปจนถึง 1 มีนาคม 2568 ก่อนที่ร่างจะส่งกลับไปครม.อีกครั้ง
โดยร่างที่ผ่านการปรับปรุงของ คณะกรรมการกฤษฎีกา มีการเพิ่มข้อจำกัดหลายประการ เช่น
- จำกัดพื้นที่กาสิโนไม่เกิน 10% ของสถานบันเทิงครบวงจร (จากเดิมที่ร่างของกระทรวงการคลังไม่ได้ระบุสัดส่วน)
- ต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่รอบข้าง ก่อนออกใบอนุญาต
- กำหนดเงินฝากขั้นต่ำ 50 ล้านบาท สำหรับคนไทยที่จะเข้าไปเล่นกาสิโน (ข้อกำหนดนี้ไม่มีในร่างเดิมของกระทรวงการคลัง)
- กำหนดให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (ข้อกำหนดนี้ไม่มีในร่างเดิมของกระทรวงการคลัง)
การปรับแก้ร่างในลักษณะนี้ ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจเป็นทางออกของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและนายทักษิณ ที่ต้องการถอยฉากอย่างมีชั้นเชิงหลังเจอกระแสต้านรุนแรง
กระแสคัดค้านเริ่มขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ โดย 17 กุมภาพันธ์ 2568 เครือข่ายภาคประชาชน เช่น เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กองทัพธรรม ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)
นำมวลชนไปยื่นหนังสือคัดค้านที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเรียกร้องให้ถอดเรื่องกาสิโนออกจากร่างกฎหมายทั้งหมด พร้อมกล่าวหาว่ารัฐบาลใช้คำว่า “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” มาบังหน้าเพื่อผลักดันกาสิโน
ในวันเดียวกัน กลุ่มนี้ได้จัด การชุมนุมเล็กๆ หน้าสำนักงานกฤษฎีกา โดยถือป้ายข้อความเช่น “กาสิโน=ศูนย์อาชญากรรม”, “การพนันทำลายครอบครัว” และมีการแสดงสัญลักษณ์ปาไพ่ลงพื้น พร้อมตะโกนว่า “ไม่เอากาสิโน!”
ขณะที่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ 5 แห่ง ออกแถลงการณ์ ชี้ให้เห็นว่ากาสิโนจะกระทบต่อโครงสร้างสังคมไทยอย่างรุนแรง และเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอร่างกฎหมายนี้ออกไป
คู่ขนานไปกับการรณรงค์-เปิดแคมเปญ "เราไม่เอากาสิโน" ด้วยการล่ารายชื่อประชาชนคัดค้านต่อต้านบ่อนกาสิโนถูกกฎหมาย
จากการปรับแก้ร่างฯ โดยกฤษฎีกา และแรงกดดันจากภาคประชาชน และภาควิชาการที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยและนายทักษิณ อาจกำลังหาทางลง เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับกระแสต่อต้านที่รุนแรงขึ้นทุกวันใช่หรือไม่
อีกมุมหนึ่ง การที่พรรคร่วมรัฐบาล หลายพรรคไม่แสดงท่าทีสนับสนุนโครงการกาสิโนอย่างเต็มที่ ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ต้องทบทวนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการนี้ หากผลักดันไปต่อโดยไม่ประสานกับพรรคร่วมรัฐบาล อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพภายในรัฐบาลได้
อย่างไรก็ตาม แกนนำรัฐบาล เช่น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังคงยืนยันว่า รัฐบาลจะเดินหน้าร่างกฎหมายนี้ต่อไป โดยอ้างว่าเป็น “นโยบายที่สำคัญในการสร้างรายได้ให้ประเทศ”
คำถามที่สำคัญคือ รัฐบาลเพื่อไทยและนายทักษิณ จะยังผลักดันร่างกฎหมายนี้ต่อไปจริงหรือไม่ หรือจะใช้วิธี “ปล่อยให้กฤษฎีกาล็อกเข้ม” แล้วค่อยๆ ถอยแบบเนียนๆเพื่อไม่สร้างแรงเสียดทานเพิ่มให้กับรัฐบาลแพทองธาร ที่ดูทรงตั้งแต่กรณี "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" ออกอาการน่าเป็นห่วงอย่างชัดเจน
สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือ ท่าทีของรัฐบาลและเพื่อไทยจะเป็นอย่างไรหลังวันที่ 1 มีนาคม ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ก่อนที่ร่างฯ จะถูกส่งกลับไปยัง ครม. อีกครั้ง
สงครามกาสิโนยังไม่จบ และอาจเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ของรัฐบาลแพทองธาร-พรรคเพื่อไทยที่กุมบังเหียนโดยนายทักษิณ ชินวัตร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สุริยะใส' วิเคราะห์ 'เพื่อไทย-ปชน.' พันธมิตรทางอุดมการณ์ ขาดสะบั้นแล้วจริงหรือ?
ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กเผยแพร่บทวิเคราะห์ “เพื่อไทย vs พรรคประชาชน: พันธมิตรทางอุดมการณ์
‘ก่อกี้’ เฮลั่น! นายกฯอิ๊งค์ ฝ่าศึกซักฟอก เดินหน้าทำงานต่อ
สส.ก่อแก้ว มือประท้วงของพรรคเพื่อไทย โพสต์แสดงความยินดีทันที หลังแพทองธาร ผ่านศึกซักฟอก ได้รับเสียงไว้วางใจ 319 เสียง สะท้อนเสถียรภาพรัฐบาลยังแข็งแกร่ง
'ประเสริฐ' ยันสิ้นเดือนนี้กฎหมายไซเบอร์ประกาศใช้แน่!
'ประเสริฐ' ยันกฎหมายไซเบอร์สิ้นเดือนนี้จบแน่ รับเร่งอยู่แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร
ประมวลวาทะ ‘แพทองธาร’ ย้อนเกล็ดพรรคประชาชน! ท้าประกาศมาจะร่วมไม่ร่วมกับใคร
“แพทองธาร ชินวัตร“ ตอบโต้ข้อกล่าวหาขาดภาวะผู้นำ ถูกพ่อครอบงำ พร้อมเผยดีลทางการเมืองปี 66 และเรียกร้องให้พรรคประชาชน ประกาศจุดยืนทางการเมืองให้ชัดเจนในการเลือกตั้งครั้งหน้า
'นิพิฏฐ์' ให้คะแนนความพยายามฝ่ายค้านแม้เหมือนมอเตอร์ไซค์ที่ดังแต่ท่อล้อไม่หมุน
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต สส.พัทลุง
‘ณัฐพงษ์’ สรุปคม! ไม่ไว้วางใจ ‘แพทองธาร’ ลุ้นลงมติเข้า 26 มีนา.
ณัฐพงษ์-ผู้นำฝ่ายค้าน’ สรุปการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ชี้ ‘แพทองธาร’ จงใจทำธุรกรรมอำพรางวางแผนหนีภาษี อิงแอบกับกลุ่มทุน เอาใจอำนาจเก่า ขาดเจตจำนงแก้ปัญหา หนี