ระทึก 14 กุมภา 'กกต.' ตัดสินมติขับ 'ก๊วนธรรมนัส' หากไม่ชอบ 18 ส.ส.รีบซบศก.ไทย สิ้นสภาพทันที!

13 ก.พ.2565 - มีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของบรรดา ส.ส. กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ถูกมติกรรมการบริหารพรรคพลังประชารับ(พปชร.) ขับพ้นสมาชิกพรรคพปชร. ก่อนสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทย

ล่าสุด นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร 1 ใน 21 ส.ส.กลุ่มดังกล่าว เปิดเผยสถานที่ทำการพรรคที่ อาคาร ยูทาวเวอร์ ถนนศรีนครินทร์ แลดูกว้างขวาง มีห้องประชุมขนาดใหญ่ สามารถบรรจุคนได้เป็นพันคนเลยที่เดียว อาจใช้เปิดตัวและประชุมกรรมการบริหารพรรคฯ สมาชิกพรรคครั้งแรก

ส.ส.ไผ่ บอกว่า "ขณะนี้การเดินหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย มีความคืบหน้าไปแล้ว 80-90 เปอร์เซ็นต์ เหลือรายละเอียดปลีกย่อยที่กำลังดำเนินการเพื่อให้เสร็จสมบูรณ์ เช่น การออกแบบโลโก้พรรคให้มีความหมายที่เป็นไปตามความตั้งใจของพวกเราในเรื่องการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจปากท้องประชาชน โดยจะไม่มีการเปลี่ยนชื่อพรรค เพราะสังคมเริ่มรู้จักจำได้ติดปากแล้ว"

อย่างไรก็ตามกรณีมติกรรมการบริหารพรรคพปชร. ขับ ส.ส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พ้นจากสมาชิกพรรค เมื่อ 19 ม.ค.2565 และต้องหาพรรคใหม่สังกัดให้ได้ภายใน 30 วันคือวันที่ 18 ก.พ.2565 มิฉะนั้นจะสิ้นสภาพ ส.ส. นั้น ยังไม่ได้ข้อสรุปทางกฎหมาย เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยังไม่มีมติรับรองมติดังกล่าว โดย กกต.นัดประชุมเพื่อลงมติรับรองหรือไม่ ในวันที่ 14 ก.พ.นี้

สำหรับ ไทม์ไลน์ของเรื่องนี้ เริ่มต้น 19 ม.ค.2565 กรรมการบริหารพรรคพปชร.ลงมติขับ 21 ส.ส.กลุ่มร.อ.ธรรมนัส พ้นจากสมาชิกพรรค

ต่อมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ หัวหน้ารรค พปชร. มีหนังสือแจ้งมติพรรค ลงวันที่ 21 ม.ค. 2565 ถึง กกต. วันเดียวกันนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ประเด็นการลงมติพรรคขับ 21 ส.ส. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจเป็นเหตุให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉฉัยยุบพรรคได้

ต่อมา 25 ม.ค. 2565 ที่ประชุม กกต.มีมติรับทราบเรื่องที่พรรค พปชร. แจ้งมา และขอเวลาในการตรวจสอบความถูกต้องของมติพรรค

ขณะที่ นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือลงวันที่ 31 ม.ค.2565 สอบถาม กกต. ถึง สถานภาพการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ของ ส.ส.จำนวน 18 ราย ที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทยเมื่อ 20 ม.ค.2565 (นายเอกราช ช่างเหลา นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา ยังไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรค)

โดยสำนักงาน กกต. มีหนังสือเลขที่ ลต(ทบพ.) 0015/1546 ตอบเลขาธิการสภาฯ เมื่อ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า ส.ส.ทั้ง 18 ราย ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทยตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. 2565

1 ก.พ. 2565 นายสมัย รามัญอุดม พร้อมสมาชิกพรรคพลังประชารัฐกว่า 100 คน ยื่นคำร้อง ตามมาตรา 42 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ว่า มติของพรรคขัด พ.ร.ป.พรรคการเมืองหรือกฎหมายอื่น เพื่อให้ กกต.มีคำสั่งเพิกถอนมติการขับ ส.ส. 21 ราย

4 ก.พ. 2565 สำนักงาน กกต. แจ้งว่าที่ประชุม กกต. กำหนดให้ในวันที่ 14 ก.พ. 2565 จะพิจารณาหนังสือแจ้งมติพรรค (21 ม.ค. 2565) ควบไปกับคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา และ นายสมัย รามัญอุดม

18 ก.พ. 2565 จะครบกำหนด 30 วันที่กรรมการบริหารพรรคพปชร. มีมติขับ 21 ส.ส. ที่ต้องหาพรรคใหม่เข้าสังกัด มิฉะนั้นจะพ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(9)

มีความเห็นที่น่าสนใจจาก นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กเมื่อ 6 ก.พ.ที่ผ่านมาถึงแนวทางการวินิจฉัยของกกต.ดังนี้

1. การวินิจฉัยของ กกต.ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ออกได้ 2 ทาง คือ ทางแรก มติของพรรคที่ให้ ส.ส. ทั้ง 21 คนออกจากพรรค เป็นมติที่ชอบด้วยกฏหมายแล้วในกรณีนี้ไม่เป็นปัญหา โดย ส.ส. ทั้ง 21 คนต้องหาพรรคใหม่สังกัดใน 30 วันและ 18 คนที่สมัครเข้าพรรคเศรษฐกิจไทยตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2565 มีผลทำให้ชื่อไปอยู่พรรคใหม่โดยสมบูรณ์

2. ทางที่สองในกรณีที่ กกต. มีวินิจฉัยว่าการลงมติไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 42 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง หากพบว่ามติของพรรคขัดต่อกฎหมาย ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งเพิกถอนมติดังกล่าวได้ โดยการเพิกถอนมติ หมายถึง มติดังกล่าวไม่มีผลบังคับ นั่นหมายความถึง 21 คนยังมีสถานะเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐอยู่

3. ความยุ่งยากอยู่ที่ 18 คนได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทยแล้วเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ตามหนังสือตอบของ กกต. ที่มีต่อการสอบถามจากเลขาธิการสภาผู้แทน ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ส.ส.18 คนดังกล่าวจึงอาจมีสถานะการเป็นสมาชิกพร้อมกันสองพรรคในวันที่ กกต. วินิจฉัย (14 กุมภาพันธ์ 2565)

4. มาตรา 26 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง กำหนดว่า หากนายทะเบียน (เลขาธิการ กกต.) พบว่ามีการซ้ำซ้อนของสมาชิกพรรคการเมือง ให้แจ้งกลับหัวหน้าพรรคให้ลบชื่อผู้นั้นออกจากการเป็นสมาชิกพรรค โดยเป็นการแจ้งเมื่อพบ ซึ่งหมายความว่า ต้องแจ้งในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 หาก 18 คนนั้นมีสถานะเป็นสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทยด้วย

5. การลบชื่อสมาชิกที่ซ้ำซ้อน ทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. มิใช่การลงมติขับที่เปิดโอกาสให้หาพรรคใหม่ใน 30 วัน แปลว่า 18 คน อาจหลุดจาก ส.ส. โดยไม่เข้าเงื่อนไขถูกขับตามมาตรา 101(9) ของรัฐธรรมนูญ เป็นหลุดจากการเป็นสมาชิกซ้ำซ้อนสองพรรค

6. เกมการให้พรรคขับนั้นคมยิ่ง แต่เกมที่ให้คนร้องว่ามติไม่ชอบก็คมไม่แพ้กัน คนวางหมาก แก้หมากแต่ละฝ่ายล้วนไม่ธรรมดา เป็นคมที่เฉือนคม จึงต้องรอดูว่า การวินิจฉัยของ กกต. ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 จะเป็นอย่างไรและทางแก้ของแต่ละฝ่ายจะเป็นเช่นไร

7. ศึกธรรมนัสยังไม่จบ จึงอย่าเพิ่งนับศพใคร เพราะศพที่ระเนระนาด อาจเป็นศพที่เรี่ยราดของฝ่ายตัวเองได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุวัจน์' หวนคืนชื่อเดิม 'พรรคชาติพัฒนา' แต่งตั้ง สส.แจ้ เป็นรองหัวหน้าพรรค

พรรคชาติพัฒนากล้า เปิดการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2567 นำโดยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า , นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ,

'ชัยเกษม' ออกตัวไม่เกี่ยวปรับครม. ผู้บริหารพรรคจะใช้ให้ทำอะไรก็ได้ สบายๆ

นายชัยเกษม นิติสิริ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เดินทางมาไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่ ศาลตา ศาลยาย โดยผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า การเดินทางมาไหว้วันนี้เกี่ยวอะไรกับการปรับ ครม.หรือไม่

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

'เผ่าภูมิ' ปัดนายกฯ ส่งสัญญาณนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวได้เดินทางมารับเอกสารกรอกแบบฟอร์มตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว ว่า ตนไม่ให้คอมเมนท์ ยืนยันว่าขณะ

อดีตบิ๊กข่าวกรองเตือนสติ! อย่าหลับตาพูดลืมตาดูสถานการณ์โลกด้วย

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ