'บิ๊กตู่' ชื่นชมเอ็มโอยูไทย-ญี่ปุ่นทำวิจัยมะเร็งทางคลินิกข้ามพรมแดนครั้งแรกของโลก

นายกฯ ชื่นชมความร่วมมือกันระหว่างไทย- ญี่ปุ่น ผ่านโครงการวิจัยทางคลินิกระหว่างประเทศ ยกระดับการศึกษาวิจัย ยาโรคมะเร็งจากจีโนมิกส์ทางการแพทย์ พัฒนายาที่เหมาะสมในการรักษา

29 มิ.ย.2566 - นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีต่อการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางคลินิกสำหรับโรคมะเร็งระหว่างกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์มะเร็งแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นการทำวิจัยทางคลินิกแบบข้ามพรมแดนระหว่างประเทศครั้งแรกของโลก พร้อมส่งเสริมโครงการวิจัยทางคลินิกระหว่างประเทศ (cross-border Decentralized Clinical Trials: DCTs) เพื่อพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมในการรักษาผู้ป่วย

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์มะเร็งแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางคลินิกสำหรับโรคมะเร็ง เพื่อศึกษาวิจัยแนวทางใช้ในการรักษา ทั้งของแพทย์ไทยและญี่ปุ่น โดยจะเน้นการศึกษาวิจัยในเรื่องจีโนมิกส์ทางการแพทย์ โดยดูความเหมาะสมของตัวยากับยีน (Gene) หรือรหัสพันธุกรรม (Genetic code) เพื่อให้ทราบถึงชนิดของมะเร็ง และวางแผนในการรักษา ป้องกันความรุนแรงและการเกิดโรคซ้ำ เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคมะเร็ง 19 ล้านคน เสียชีวิตประมาณ 9.6 ล้านคน ซึ่งอาจเป็นผลสืบเนื่องจากยาและแนวทางการรักษาที่ไม่สัมพันธ์กับผู้ป่วย โดยบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ได้กำหนดขอบเขตให้ศูนย์มะเร็งแห่งชาติญี่ปุ่นจัดทำและดำเนินการวิจัยทางคลินิก ขณะที่กรมการแพทย์จะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินความร่วมมือตามบันทึกความเข้าใจฯ รวมถึงฝ่ายไทยจะออกใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะชั่วคราวให้แก่แพทย์ชาวญี่ปุ่นที่รับผิดชอบดำเนินโครงการวิจัยทางคลินิกในสองประเทศ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นการทำวิจัยทางคลินิกแบบข้ามพรมแดนระหว่างประเทศครั้งแรกของโลก

สำหรับประโยชน์ของโครงการวิจัยทางคลินิกระหว่างประเทศครั้งนี้ ได้แก่ 1.ผู้ป่วยในประเทศไทย ซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าร่วมการวิจัยทางคลินิก จะได้รับโอกาสเข้าร่วมการวิจัยทางคลินิกที่ดำเนินการในประเทศญี่ปุ่น 2.การวิจัยทางคลินิกในประเทศญี่ปุ่นอาจมีจำนวนผู้ป่วยมาเข้าร่วมในโครงการไม่เพียงพอ การวิจัยจะมีความเป็นไปได้มากขึ้นเมื่อมีผู้ป่วยจากประเทศไทยเข้าร่วมในโครงการ และ 3.การแลกเปลี่ยนข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยทางคลินิกผ่านระบบออนไลน์ จะทำให้กระบวนการติดตามการดำเนินโครงการวิจัยในประเทศไทยเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น นำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายและทรัพยากรในการทำวิจัย

“นายกฯ ชื่นชมความร่วมมือทางการแพทย์ของทั้งสองประเทศ ในการร่วมวิจัยเพื่อการหาแนวทางการรักษาโรคมะเร็งให้เกิดความเหมาะสมไปในแต่ละบุคคล นำไปสู่การทำวิจัยทางคลินิกแบบข้ามพรมแดนระหว่างประเทศครั้งแรกของโลก โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของประชาชน เชื่อมั่นว่าเมื่อประชาชนสุขภาพดี อัตราการพัฒนาประเทศจะสูงขึ้น และลดค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ ความร่วมมือกันนี้ จะเพิ่มศักยภาพของบุคคลากรไทย พัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยในอนาคต”นายอนุชากล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอชัย' โนคอมเมนต์ นายกฯ ทาบ 'จักรพล' นั่งโฆษกรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีทาบทามนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

รัฐบาลตีปี๊บ ประกวด 'ข้าวหอมมะลิไทย' ช่วยยกคุณภาพชีวิตเกษตรกร

รัฐบาลหนุนเกษตรกรและโรงสี จัดประกวดข้าวหอมมะลิไทยปี 2566 เฟ้นหาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยคุณภาพชั้นเลิศ พร้อมขยายช่องทางการจำหน่าย

'ชัย' ฟุ้งแค่ไตรมาสแรกต่างชาติลงทุนในไทยกว่า 3 หมื่นล้าน!

โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ ชื่นชมผลจากความสำเร็จรัฐบาล ไตรมาสแรกปี 2567 ต่างชาติลงทุนในไทยกว่า 3 หมื่นล้านบาท ส่งเสริมโอกาสการประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ให้คนไทย