ผลวิจัยแดนกิมจิชี้ Long COVID ส่งผลให้ 'สมองเสื่อม-ซึมเศร้า'

'หมอธีระ' อัปเดตความรู้เรื่อง Long COVID อึ้ง! ผลวิจัยแดนกิมจิเผยส่งผลในเรื่องความจำเสื่อม นอนไม่หลับและซึมเศร้า

12 ก.ค.2566 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า อัปเดตเรื่อง Long COVID 1.เสี่ยงยืดเยื้อในเรื่อง เหนื่อยล้า ความจำเสื่อม สมาธิ นอนไม่หลับ และซึมเศร้า

งานวิจัยล่าสุดจากทีมเกาหลีใต้ เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ Scientific Reports วันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมาติดตามผู้ป่วย Long COVID จำนวน 132 คน นาน 24 เดือน (2 ปี) เพื่อดูลักษณะอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกหลังจากที่ติดเชื้อ ผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Long COVID มักมีอาการผิดปกติที่พบบ่อยคือ ด้านความคิดวิเคราะห์ ความจำ ซึมเศร้า วิตกกังวล และสมาธิ

แต่หากติดตามต่อไป ณ 12 เดือนหลังจากที่ติดเชื้อ ปัญหาที่พบบ่อยใน 5 อันดับแรกคือ เรื่องความคิดวิเคราะห์ สมาธิ ความจำ เหนื่อยล้า และวิตกกังวล พอติดตามไปจนถึง 24 เดือน พบว่าอาการผิดปกติที่พบนั้นเปลี่ยนไปจากเดิม โดยพบปัญหาเหนื่อยล้า ความจำ สมาธิ นอนไม่หลับ และซึมเศร้า ในสัดส่วนที่มากขึ้น

ผลการศึกษานี้สะท้อนให้เราเห็นถึงภาวะทุพพลภาพที่เกิดขึ้น โดยลักษณะอาการผิดปกติที่พบบ่อยนั้น ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และสมรรถนะการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย และคนใกล้ชิด การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด

2.อัปเดตเรื่องกลไกการเกิด Long COVID และงานวิจัยเพื่อหาทางรักษา ทีมงานจาก Imperial College London สหราชอาณาจักร ได้ทบทวนความรู้จนถึงปัจจุบันเกี่ยวกับกลไกพยาธิสภาพ และทบทวนสถานการณ์ของงานวิจัยที่หาทางรักษา Long COVID เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ Nature Reviews Immunology เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัย และชี้ให้เห็นว่ามีกลไกพยาธิสภาพที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเกิดปัญหา Long COVID อยู่ราว 8 กลไก ได้แก่ การที่อวัยวะหรือเนื้อเยื่อถูกทำลายจากการติดเชื้อ, การมีไวรัส หรือชิ้นส่วนของไวรัสคงค้าง,การติดเชื้อนั้นทำให้เกิดการกระตุ้นไวรัสอื่นที่ติดเชื้อแฝงในร่างกายให้กำเริบขึ้นมา เช่น Ebstein-Barr virus, การติดเชื้อนั้นทำให้เกิดกระบวนการอักเสบต่อเนื่องในร่างกาย และ/หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงของการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน, เซลล์บุผนังหลอดเลือดทำงานผิดปกติ ภายหลังจากการติดเชื้อ, การกระตุ้นการทำงานของ Mast cells, การเกิดภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง และการเสียสมดุลของเชื้อโรคที่อยู่ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย

ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน มีโครงการวิจัยอย่างน้อย 37 โครงการที่กำลังหาทางรักษาภาวะ Long COVID โดยส่วนใหญ่ทำโดยทีมอเมริกา และยุโรป และมีบางโครงการทำโดยเอเชีย เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง และออสเตรเลีย
งานวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น ส่วนใหญ่มุ่งเป้าที่กระบวนการอักเสบ ปรับระบบภูมิคุ้มกัน จัดการไวรัสคงค้าง ปรับสมดุลของเชื้อโรคในอวัยวะต่างๆ และมีบางโครงการที่มุ่งเป้าไปที่กลไกอื่นๆ

...Long COVID is real และเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ

อ้างอิง
1. Long COVID prevalence and impact on quality of life 2 years after acute COVID-19. Scientific Reports. 11 July 2023.
2. The immunology of long COVID. Nature Reviews Immunology. 11 July 2023.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นิสิตเก่าจุฬาฯ' ตามบี้ 'วิทยานิพนธ์ณัฐพล' อุทธรณ์คำสั่ง ให้จุฬาฯเปิดเผยมติสอบสวน

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก

อาจารย์หมอ เตือนอากาศร้อนมาก ผู้สูงอายุ-คนมีโรคประจำตัว ระวังการออกนอกบ้าน

คนสูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังการออกไปข้างนอกบ้าน  ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศ  ใช้หมวกหรือร่มบังแดด

'ศุภณัฏฐ์' ซูเปอร์ซับ ช่วยซัดให้ 'ช้างศึก' ไล่เจ๊า 'เกาหลีใต้' 1-1 คัดบอลโลก 2026

ฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบสอง วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นการลงสนามนัดที่ 3 ในรอบแบ่งกลุ่ม "โสมขาว" ทีมชาติเกาหลีใต้ เปิดโซล เวิลด์ คัพ สเตเดียม ต้อนรับการมาเยือนของ "ช้างศึก" ทีมชาติไทย