
15 ธ.ค. 2566 – ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า องค์การอนามัยโลกระบุวัคซีนโควิด-19 เจนเนอเรชั่นล่าสุด “XBB.1.5 โมโนวาเลนต์” สามารถกระตุ้นแอนติบอดีในระดับสูงและต่อสายพันธุ์โควิดที่หลากหลาย (broad spectrum antibodies) เช่นโอมิครอนกลุ่มสายพันธุ์ XBB* (EG.5, HV.1, HK.3) และโอมิครอนกลุ่มสายพันธุ์ BA.2.86* (JN.1 และ XDD)
องค์การอนามัยโลกแถลงเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ว่า ทีมที่ปรึกษาด้านเทคนิค (WHO Technical Advisory Group on COVID-19 Vaccine Composition หรือ TAG-CO-VAC) ได้เสนอว่าองค์ประกอบของวัคซีนที่ใช้ป้องกันโควิด-19 ระหว่างปี 2566-2567 ควรใช้ต้นแบบหรือหัวเชื้อเป็นโอมิครอน XBB.1.5 เพียงสายพันธุ์เดียว (โมโนวาเลนต์) เพราะสามารถสร้างแอนติบอดีที่เข้าจับและทำลายอนุภาคไวรัสทั้งกลุ่มสายพันธุ์ XBB* ซึ่งรวมถึง EG.5, HK.3, HV.1 และกลุ่มสายพันธุ์ BA.2.86* เช่น JN.1 และ XDD (broad spectrum antibodies)
ข้อเสนอของ TAG-CO-VAC มาจากหลักฐานเชิงประจักษ์จากรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของโควิด-19 ที่มีวิวัฒนาการของสายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง และขอบเขตของการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นด้วยวัคซีน XBB.1.5 โมโนวาเลนต์ ต่อสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่หมุนเวียนอยู่ทั่วโลกในขณะนี้โดยสรุปได้เป็น 3 ประเด็นสำคัญคือ
1.ไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงเป็นสาเหตุของการติดเชื้อและก่อโรคในมนุษย์ และมีการวิวัฒนาการทางพันธุกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โปรตีนส่วนหนามของไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน
2.วัคซีนป้องกันโควิด-19 เจนเนอเรชั่นล่าสุดที่เรียกว่า “โมโนวาเลนต์ XBB.1.5” สามารถกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีที่ทำลายไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้ โดยมีการผลิตใช้ในหลายแพลตฟอร์ม รวมถึงวัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccines), วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector Vaccines), วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม หรือวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) และวัคซีนที่ทำจากโปรตีนบางส่วนของเชื้อไวรัสโควิด-19 (Protein Subunit Vaccine) วัคซีน XBB.1.5 โมโนวาเลนต์สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีที่สามารถเข้าจับและทำลายไวรัสสองกลุ่มหลัก คือ โอมิครอนกลุ่ม XBB* และลูกหลาน เช่น XBB.1.5, XBB.1.16, EG.5, HK.3 และ HV.1 และโอมิครอนกลุ่ม BA.2.86* และลูกหลานเช่น JN.1 และ XDD
3.เมื่อพิจารณาถึงวิวัฒนาการของไวรัสโคโรนา 2019 และการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน XBB.1.5 โมโนวาเลนต์ที่กระตุ้นการสร้างแอนติบอดีที่สามารถเข้าจับและทำลายอนุภาคไวรัสโอมิครอนสองกลุ่มหลักที่กล่าวข้างต้นได้เป็นอย่างดี (broad spectrum) ดังนั้นทาง TAG-CO-VAC จึงแนะนำองค์การอนามัยโลกให้คงองค์ประกอบต้นแบบหรือหัวเชื้อการผลิตวัคซีนเจนเนอเรชั่นล่าสุดเป็นโอมิครอน XBB.1.5 ชนิดโมโนวาเลนต์ (สายพันธุ์เดี่ยว) เพื่อป้องกันการระบาดรุนแรงของโควิด-19 ในช่วงปี 2566-2567
วัคซีนชนิดนี้ได้รับการแนะนำจากองค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา มาก่อนหน้าตั้งแต่ 11 กันยายน 2566 โดยกำหนดให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 เปลี่ยนไปผลิตวัคซีนสายพันธุ์ XBB แบบโมโนวาเลนต์สำหรับใช้ในปี 2566-2567 เนื่องจากโอมิครอนกลุ่ม XBB* เป็นโควิดสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดทั่วโลกในขณะนี้ โดยสามารถแพร่เชื้อได้มากกว่าและหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ระบาดมาก่อนหน้า
โปรตีนส่วนหนามของรุ่นลูก รุ่นหลานของโอมิครอนกลุ่ม XBB* เช่น EG.5, HV.1, HK.3, และรุ่นลูก รุ่นหลานของโอมิครอนในกลุ่ม BA.2.86* เช่น JN.1 และ XDD มีการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปอย่างอิสระมากกว่า 30 ตำแหน่ง แต่ก็มีบางส่วนของหนามโดยเฉพาะกรดอะมิโนตำแหน่งที่ 455 และ /หรือตำแหน่งที่ 456 ที่มีการกลายพันธุ์ที่มาบรรจบกัน (convergent evolution)
วิวัฒนาการที่มาบรรจบกัน (convergent evolution) เป็นกระบวนการที่สิ่งมีชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดพัฒนาลักษณะบางอย่าง เช่น บางส่วนของหนามของโอมิครอน XBB* และ BA.2.86* ในบางตำแหน่งมามีรูปลักษณะคล้ายกัน วิวัฒนาการมาบรรจบกันเกิดขึ้นเมื่อสิ่งมีชีวิตพยายามปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศที่คล้ายคลึงกัน ในกรณีของโควิด-19 คือการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อตามธรรมชาติทำให้เกิดการคัดเลือกโดยธรรมชาติซึ่งเป็นแรงผลักดันอันสำคัญให้เกิดวิวัฒนาการที่มาบรรจบกัน
การทดสอบวัคซีน XBB.1.5 โมโนวาเลนต์ในสัตว์ทดลอง พบว่าวัคซีนโมโนวาเลนต์ XBB.1.5 กระตุ้นให้เกิดการสร้างแอนติบอดีที่เข้าจับและทำลายโอมิครอนกลุ่มสายพันธุ์ XBB* (เช่น EG.5, HV.1, HK.3) ได้ดีกว่าโอมิครอนกลุ่มสายพันธุ์ BA.2.86* (เช่น JN.1 และ XDD) ซึ่งบ่งชี้ว่า BA.2.86* มีบางส่วนของหนาม(แอนติเจน)ที่แตกต่างไปจากกลุ่ม XBB.1.5*
ในทางตรงกันข้าม จากการทดสอบในกลุ่มคนพบว่าแอนติบอดีจากซีรัมจากผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนด้วยวัคซีน XBB.1.5 โมโนวาเลนต์ ทั้งที่เคยหรือไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน สามารถสร้างแอนติบอดีเข้าจับและทำลายอนุภาคไวรัสทั้งกลุ่มสายพันธุ์ XBB* ซึ่งรวมถึง EG.5, HK.3, HV.1 และกลุ่มสายพันธุ์ BA.2.86* เช่น JN.1 และ XDD
วัคซีน XBB.1.5 โมโนวาเลนต์ชนิดเดียวกันที่ฉีดในสัตว์ทดลองและในคน (อาสาสมัคร) พบว่าแอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นให้สร้างขึ้นกับมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน แอนติบอดีในคนจะมีประสิทธิภาพในวงกว้าง (broad spectrum antibodies) สามารถจับกับอนุภาคโอมิครอนเป้าหมายได้หลากหลายสายพันธุ์ ส่วนแอนติบอดีในสัตว์จะมีประสิทธิภาพในการจับกับโอมิครอนเป้าหมายไม่กี่สายพันธุ์ (narrow spectrum antibodies) กล่าวคือแอนติบอดีในสัตว์จะเข้าจับและทำลายโอมิครอนกลุ่มสายพันธุ์ XBB* (เช่น EG.5, HV.1, HK.3) ได้ดีกว่าโอมิครอนกลุ่มสายพันธุ์ BA.2.86* (เช่น JN.1 และ XDD) ส่วนแอนติบอดีในคนจะเข้าจับและทำลายโอมิครอนกลุ่มสายพันธุ์ XBB* ได้ใกล้เคียงกับการเข้าจับและทำลายโอมิครอนกลุ่มสายพันธุ์ BA.2.86* ซึ่งน่าจะสะท้อนถึงการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อโควิด-19 ตามธรรมชาติจนเกิดภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 สะสมในประชากรมนุษย์ซึ่งในกลุ่มสัตว์ทดลองไม่มี ดังนั้นเมื่ออาสาสมัครได้รับการฉีดวัคซีน XBB.1.5 โมโนวาเลนต์ จึงมีการกระตุ้นแอนติบอดีในระดับสูงและต่อสายพันธุ์โควิดที่หลากหลายมากกว่า (broad spectrum antibodies).
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอยง' แนะผู้ปกครองเตรียมลูกหลาน รับมือ 6 โรคทางเดินหายใจ ก่อนเปิดเทอม
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "การเตรียมลูกไปโรงเรียน ก่อนเปิดเทอม"
'ฮาร์ท' รอดคดี 112 อัยการสั่งไม่ฟ้อง ขอบคุณ 'ธนาธร' มอบทนายช่วยต่อสู้ 4 ปี
นายสุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล หรือ ฮาร์ท นักร้องชื่อดัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า 13 พ.ค. 2564 คณะทำงานตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ฟ้อง
'หมอยง' ไขข้อโต้แย้ง 'วัคซีนไข้หวัดใหญ่' กับ Hippocratic Oath
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ข้อโต้แย้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ กับ Hippocratic Oath
โลกตะลึง! ‘หมอธีวัฒน์’ เผยการเสียชีวิตจากวัคซีนโควิดที่มีการรายงานจากระบบของสหรัฐ อาจจะสูงถึง 706,480 ราย
ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์ความเป็นเลิศ ด้านการแพทย์บูรณาการและสาธารณสุข และ ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก
'หมอยง' แจงการระบาด 'โควิด' ช่วงเทศกาลสงกรานต์
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19 การระบาดในช่วงสงกรานต์