‘ภาษาไทย’มาแรงในเวียดนาม ต้นแบบความร่วมมือ 2 ประเทศ

พลังการลงทุนภาคธุรกิจไทยในเวียดนาม ซึ่งไทยเป็นนักลงทุนอันดับ 9 ของการลงทุนในเวียดนาม ผลักดันให้     ”ภาษาไทย”  ขึ้นชาร์ทที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ติด 1 ใน 5 ของภาษาที่มีคนเวียดนามเรียนและเติบโตอย่างรวดเร็ว จากรายงานของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งบุกเบิกโครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยในเวียดนาม  ระบุว่า มีมหาวิทยาลัยในเวียดนามที่ได้รับความร่วมมือจากกรมความร่วมมือฯ  5 แห่ง เปิดสอนวิชาภาษาไทยในระดับปริญญาตรี (วิชาเอกและโท) และเน้นทักษะภาษาไทยที่แตกต่างกัน มีผู้สนใจเรียนคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สังกัดมหาวิทยาลัยแห่งชาติ นครโฮจิมินห์  เปิดสอนภาษาไทยเพื่อธุรกิจ มหาวิทยาลัยดานังเปิดสอนภาษาไทยเพื่อการท่องเที่ยว  

การเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในเวียดนาม

มหาวิทยาลัยฮานอยและมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติ กรุงฮานอย เปิดสอนภาษาไทยเพื่อการปฏิบัติงานในภาครัฐ มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศ นครโฮจิมินห์   ที่มีภาควิชาภาษาไทย โดยเฉพาะที่นครโฮจิมินห์ มีคนเรียนภาษาไทยผ่านห้องเรียนมากเป็นอันดับ 1 ยังไม่รวมการเรียนภาษาไทยด้วยตนเองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์หรือการจ้างครูมาสอนส่วนตัว

การเติบโตของภาษาไทยนั้นยังมีแรงหนุนจากการแพร่หลายทางวัฒนธรรมของไทยผ่านผลงานต่างๆ ในสื่อบันเทิงทั้งซีรีส์ ละคร และเพลงของศิลปินไทยที่ได้รับความนิยมระดับสากล ทำให้การเรียนภาษาไทยฮอตในกลุ่มคนเวียดนามรุ่นใหม่

อุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือฯ เปิดนิทรรศการเผยแพร่เศรษฐกิจพอเพียงให้ น.ศ.เวียดนามเข้าชม

เป็นเวลาหลายทศวรรษที่กรมความร่วมมือระหว่างประเทศให้ความสำคัญและส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาไทยอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จของการเรียนการสอนภาษาไทยในเวียดนามตอกย้ำผ่านการสัมมนาใหญ่ ’ 3 ทศวรรษแห่งความสำเร็จของการเรียนการสอนภาษาไทยในเวียดนามและความท้าทายในอนาคต “ ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 13 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ  มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์  นครโฮจิมินห์ โดยนางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ  นางสาววีรกา มุทิตาภรณ์ กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ และ รศ.พฤทธิ์ ศุภเศรษฐศิริ  รองอธิการดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ผู้แทนฝ่ายไทย ร่วมงาน

วีรกา มุทิตาภรณ์ กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ร่วมงานสัมมนา

การสัมมนาครั้งนี้รวบรวมนักศึกษาเวียดนามทุกชั้นปีที่เรียนภาษาไทยในปัจจุบัน อาจารย์ชาวเวียดนามที่สอนภาษาไทยในมหาวิทยาลัย ทั้งนครโฮจิมินห์ กรุงฮานอย และนครดานัง ตลอดจนศิษย์เก่าที่เรียนภาษาไทยจบไปได้ทำงานที่ใช้ภาษาไทย  รวมถึงผู้แทนภาคเอกชนที่ลงทุนในเวียดนาม มาไว้ในงานเดียว หนึ่งวันเต็มของเวทีเข้มข้น ช่วยกระตุ้นการศึกษาภาษาไทยให้เป็นที่สนใจและได้รับความนิยมในกลุ่มนักศึกษาเวียดนามมากขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจไทยในเวียดนาม ที่สำคัญเกิดการต่อยอดขยายผลพัฒนาการเรียนให้เป็นที่ต้องการของตลาด

อุรีรัชต์ เจริญโต กล่าวถึงความสำเร็จของการพัฒนาภาษาไทยในเวียดนาม

นางอุรีรัชต์ เจริญโต กล่าวว่า  ครบ 3 ทศวรรษ การพัฒนาภาษาไทยในเวียดนามต้องกลับไปทบทวนและมองไปข้างหน้าจะเผชิญความท้าทายในอนาคตอย่างไร  พัฒนาให้การเรียนภาษาไทยตอบสนองกับโจทย์ในปัจจุบันทั้งมิติการศึกษา การประกอบอาชีพ  นำมาสู่การจัดสัมมนาในมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สังกัดมหาวิทยาลัยแห่งชาติ นครโฮจิมินห์  ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่มีการเรียนการสอนภาษาไทยในเวียดนาม เริ่มจากส่งผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้สอน จากนั้นการเรียนการสอนภาษาไทยได้พัฒนาจากวิชาเลือก เป็นวิชาเอก และเปิดเป็นภาควิชาไทยศึกษาในปัจจุบัน

อธิบดีกรมความร่วมมือฯ  เล่าถึงภูมิหลังว่า  รัฐบาลไทยให้ความร่วมมือทางวิชาการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยขยายไปมหาวิทยาลัยในฮานอยและดานัง โดยมีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นหน่วยงานดำเนินการ  ช่วงเริ่มต้นที่เริ่มที่นครโฮจิมินห์ เพื่อการสนับสนุนการทำงานของภาคธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในเวียดนาม สำหรับที่ดานัง เน้นการสอนภาษาไทยสำหรับการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม  ส่วนที่กรุงฮานอย เน้นการสอนภาษาไทยสำหรับราชการภาครัฐ

วงเสวนา 3 ทศวรรษแห่งความสำเร็จการเรียนการสอนภาษาไทยในเวียดนาม

อธิบดีกรมความร่วมมือฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า  กรมความร่วมมือฯ ได้ให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกแก่อาจารย์สอนภาษาไทยชาวเวียดนามศึกษาต่อในไทย เพื่อกลับไปเป็นครูผู้สอนในมหาวิทยาลัยของตนเอง  เมื่ออาจารย์ชาวเวียดนามกลับไปสอนแล้ว จึงปรับการส่งผู้เขี่ยวชาญเป็นการส่งอาสาสมัครไปเป็นครูผู้ช่วยสอนภาษาไทยแทน โดยอาจารย์ มศว. เปลี่ยนบทบาทเป็นครูนิเทศการสอนแทน   รวมทั้งยังช่วยกันพัฒนาหนังสือและสื่อการเรียนการสอนภาษาไทยสำหรับนักศึกษาเวียดนาม นอกจากนี้ ให้ทุนฝึกอบรมภาษาไทยแบบเข้มระยะสั้นแก่นักศึกษาที่เรียนภาษาไทยทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมที่ประเทศไทย

ผู้แทนภาคธุรกิจไทยชั้นนำในเวียดนามพูดคุยทิศทางการพัฒนาความรู้ภาษาไทย

การสัมมนาครั้งนี้อธิบดีกรมการความร่วมมือฯ เน้นย้ำเกิดประโยชน์มาก เพราะเชิญภาคเอกชนไทยในเวียดนาม อาทิ ซีพี เอสซีจี อมตะ บริษัทเซ็นทรัล กรุ๊ป ธนาคารกรุงเทพ ร่วมพูดถึงทิศทางความต้องการและการพัฒนาต่อยอดความรู้ภาษาไทยในตลาดแรงงานเวียดนาม ตอบคำถามน้องๆ  และให้ข้อคิดเห็นที่ดีเกี่ยวกับคุณลักษณะบัณฑิตที่ต้องการ นอกจากเก่งภาษาไทยแล้ว ต้องเสริมทักษะอื่น ๆ ด้วย เช่น ความสามารถด้านไอที  บริหารธุรกิจ เลขานุการ ล่าม เพื่อไปสู่การประกอบอาชีพต่อไป  ซึ่งนักศึกษาเวียดนามที่เรียนภาษาไทยจบแล้ว ก็อยากมีงานทำ  ในอนาคตมีแนวคิดจัดทำแบบทดสอบทักษะการใช้ภาษาไทยสำหรับนักศึกษาเวียดนามให้เป็นมาตรฐาน ซึ่งจะสอบวัดผลรูปแบบเดียวกับโทเฟล เพื่อรับประกันความสามารถการใช้ภาษาไทยเชิงวิชาการสำหรับการศึกษาต่อ สมัครงาน หรือทำงานในต่างประเทศ และใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ  

“ สำหรับความท้าทายของการสอนภาษาไทยในเวียดนาม คือ การพัฒนาให้เป็นการเรียนการสอนที่ร่วมสมัยมากขึ้น มีเนื้อหาที่สามารถนำไปใช้จริงได้ในภาคธุรกิจและการบันเทิง ไม่ใช่เฉพาะภาคธุรกิจไทยที่ต้องการคนจบภาษาไทย ยังมีภาคธุรกิจของเวียดนามที่อยู่ในเวียดนาม และบางส่วนที่เข้ามาในไทยก็ต้องการที่เรียนจบภาษาไทยด้วย ทั้งนี้ เราสนับสนุนการปรับปรุงเนื้อหาการเรียนการสอน  โดยหลักการมหาวิทยาลัยต่างๆ ปรับปรุงหลักสูตรทุก ๆ 4 ปี อยู่แล้ว” นางอุรีรัชต์ กล่าวด้วยสายตาอันมุ่งมั่น

ฟาน จองบิณห์ ผู้ดูแลภาควิชาภาษาไทย ม.ดานัง

ศิษย์เก่าต้นแบบ ฟาน จองบิณห์ หรือ “อาจารย์บินห์”  ผู้ดูแลภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยดานัง อายุ 44 ปี บินจากดานังเข้าร่วมสัมมนา เป็นหนึ่งในผลผลิตการพัฒนาภาษาไทย ขยายเมล็ดพันธุ์ผู้ใช้ภาษาไทยในดานัง  มีจำนวนคนเรียนเพิ่มขึ้น เปิดประตูให้คนดานังหันมาสนใจภาษาไทย

อาจารย์บินห์ บอกว่า  เริ่มจากสอนภาษาไทยระยะสั้นด้านการท่องเที่ยว ก่อนได้รับทุนจากรัฐบาลไทย โดยกรมความร่วมมือฯ ไปศึกษาประกาศนียบัตรบัณฑิตที่ มศว  ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์ภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยดานัง   และได้เป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาไทย ซึ่งสอดรับกับนโยบายพัฒนาเมืองดานังด้านการท่องเที่ยว  ภาควิชานี้เปิดมา 17 ปีแล้ว นักศึกษาที่เลือกภาษาไทยเป็นวิชาเอกนอกจาก 4 ทักษะ ฟัง พูด อ่าน และเขียน แล้ว  ยังต้องศึกษาวรรณกรรม โครงสร้างประโยค  ประวัติศาสตร์ไทย สำหรับหลักสูตรปริญญาตรีเน้นผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถด้านล่ามและการแปล แต่ละปีนักศึกษาเวียดนาม 20-40 คน ปัจจุบันมีนักศึกษาเวียดนามเรียน 111 คน

“ ปัจจุบันเยาวชนเวียดนามสนใจเรียนภาษาไทยมากขึ้น ตั้งใจเลือกเป็นวิชาเอก  ผลจากไทยพัฒนาการท่องเที่ยวและละครโทรทัศน์ไทยตีตลาดเวียดนาม อย่างเรื่องบุพเพสันนิวาสดังมาก ถ้าติดตามเพจรักภาษาไทยของเวียดนามมียอดผู้ติดตามกว่า 4 หมื่นคน  บางคนสนใจเรียนภาษาไทยด้วยตนเองผ่านยูทูป แฟนเพจต่างๆ รวมถึงอยากทำงานกับบริษัทไทย เรียนจบมาหางานที่โฮจิมินห์เมืองใหญ่ อีกส่วนหนึ่งทำอาชีพไกด์นำเที่ยว นักศึกษาที่เรียนได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ไปช่วยพัฒนาความร่วมมือระหว่างสองประเทศ “ อาจารย์บินห์บอกด้วยรอยยิ้ม

เหงียน ถิ เวิน จี จากอาจารย์ภาษาไทยสู่ หน.ภาควิชาภาษาฯ

การพัฒนาตำราเรียนภาษาไทยโดยอาจารย์เวียดนาม และนำไปใช้เรียนในหลักสูตร สะท้อนความเชี่ยวชาญภาษาไทย

เหงียน ถิ เวิน จี หรือ”อาจารย์ราตรี”  หัวหน้าภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติ กรุงฮานอย  วัย 42 ปี กล่าวว่า  มหาวิทยาลัยเปิดสอนภาษาไทยเป็นวิชาโทเมื่อ 22 ปีก่อน ตนเป็นนักศึกษารุ่นบุกเบิก และได้ทุนศึกษาต่อโทที่ไทย ก่อนกลับมาเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยในมหาวิทยาลัย และรับตำแหน่งหัวหน้าภาคฯ พัฒนาตำราเรียนภาษาไทยจากความรู้และประสบการณ์ เพิ่มในส่วนแบบฝึกหัดเพื่อเสริม 4 ทักษะ โดยเฉพาะการฟัง มีสื่อการเรียนการสอนรูปแบบไฟล์เสียง ส่วนการเขียนเน้นให้นักศึกษาฝึกฝนเขียนเป็นประโยค เขียนย่อหน้าและบทความ สร้างความเข้าใจและจดจำเพื่อใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง  

“ จำนวนผู้เรียนเพิ่มขึ้น เฉลี่ย  40-50 คนต่อปี  บางปีมากถึง 70 คน เนื่องจากมีบริษัทไทยลงทุนในฮานอยมากขึ้น ต้องการพนักงานและล่ามที่ใช้ภาษาไทยได้ อีกส่วนถ้าเรียนภาษาไทยมีโอกาสได้ทุนฝึกอบรมที่ประเทศไทย นักศึกษาชอบมากๆ  มหาวิทยาลัยมีแผนพัฒนาภาษาไทยจากวิชาเลือกเป็นวิชาเอกบนพื้นฐานความต้องการของตลาด อาจารย์จะแนะนำกลุ่มนักศึกษาหากรู้ภาษาไทยถือเป็นข้อได้เปรียบ สร้างโอกาสการทำงาน  รู้สึกภาคภูมิใจได้เป็นอาจารย์ นักศึกษาหลายคนเรียนจบได้อาชีพที่ใช้ภาษาไทย   “ อาจารย์ราตรีผู้มีใจรักภาษาไทย กล่าว

น้องน้ำหนึ่ง – เจิ่น หงก กาว เงียน และ เพื่อน น.ศ.ภาควิชาภาษาไทย

นักศึกษาแต่ละคนมีเหตุผลเลือกเรียนภาษาไทยต่างกัน สำหรับ เจิ่น หงก กาว เงียน หรือ “น้องน้ำหนึ่ง”  น.ศ.ชั้นปี 4 ภาควิชาไทยศึกษา คณะตะวันออกศึกษา  ม.สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์  นครโฮจิมินห์ กล่าวว่า ชอบละครและนักร้องนักแสดงไทย โดยเฉพาะพี่บี้ -สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว เป็นแรงบันดาลใจ  ตั้งใจสอบเข้าที่นี่ เพราะมีภาควิชาภาษาไทย ตอนนั้นพ่อแม่อยากให้เรียนภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาอังกฤษมากกว่า แต่ตนจริงจังกับการเรียนมาก ต้องเรียนให้เก่ง เพื่อขึ้นปี 3 จะมีโอกาสรับทุนจากกรมความร่วมมือฯ ซึ่งเป็นทุนแข่งขันที่มีการสอบคัดเลือก ไปฝึกอบรมภาษาไทยแบบเข้มระยะสั้นที่ไทย เมื่อทำสำเร็จ ครอบครัวภูมิใจ   

ปัจจุบันมีโอกาสฝึกงานที่ศูนย์ไทยในมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่แปลเอกสารสองภาษานี้ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มีคำศัพท์เฉพาะ ต้องอ่านหนังสือและสอบถามอาสาสมัครสอนภาษาไทยเพิ่ม จบการศึกษาตั้งใจจะทำงานเป็นล่ามหรืออาจารย์สอนภาษาไทยที่โฮจิมินห์  ร่วมเผยแพร่ภาษาไทยและวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยให้ชาวเวียดนาม

ภาษาไทยในเวียดนามยังคงเติบโตได้อีก  เห็นได้จากบริษัทไทยที่ขยายธุรกิจในเวียดนาม เพลงไทย อีกทั้งซีรีส์ไทยเข้าถึงคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ การพัฒนาภาษาไทยในเวียดนามยังเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศอื่นๆ ที่ต้องการผลักดันภาษาประจำชาติของตนให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง