'นอนไม่หลับ' ทำไงดี

Young Asian man sleeping and snoring loudly lying in the bed (ภาพประกอบ รพ.วิมุต)

การนอนหลับไม่สนิท หรือนอนไม่หลับ  หรือสะดุ้งตื่นกลางดึก กรนหรือหายใจติดขัดจนตื่นบ่อย ๆ ตื่นเช้ามาไม่สดชื่น ร่างกายอิดโรย   เป็นความทรมานอย่างหนึ่ง ในทางกลับกันถ้านอนหลับเต็มอิ่มถือเป็น “ยาวิเศษ” ที่ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ลดความเครียดและความเหนื่อยล้า  เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ในทางการแพทย์สำหรับคนนอนไม่หลับ หรือนอนแล้วรู้สึกไม่เต็มอิ่ม ตื่นมาอ่อนเพลีย อาจเป็นเพราะมีการ “หยุดหายใจ” ระหว่างที่หลับ อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอื่นๆตามมา  

ทางการแพทย์ยุคใหม่  จึงให้ความสำคัญกับโรคการไม่นอนหลับ เมื่อเร็วๆนี้ โรงพยาบาลเอกชน 2แห่ง เปิดแผนกรักษาโรคนอนไม่หลับ โดย โรงพยาบาลพระรามเก้า เปิด “ศูนย์นิทรารมณ์ (Sleep center)”   เพื่อรักษาอาการที่เกี่ยวกับการนอนและระบบการหายใจ   โดย ศ.นพ.ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม แพทย์หัวหน้าศูนย์นิทรารมณ์ (Sleep center) โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า ปัจจุบัน อาการนอนไม่หลับหรือภาวะคุณภาพการนอนที่ไม่ปกติ เป็นปัญหาที่พบบ่อยถึงร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด และ 1 ใน 3 เป็นการนอนไม่หลับเรื้อรัง คือ มีอาการนอนไม่หลับอย่างน้อยนาน 1 เดือน หากปล่อยให้เกิดขึ้นเป็นเวลานานอาจนำไปสู่การเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งของกลุ่มอาการภาวะหายใจผิดปกติขณะนอนหลับ อย่างเช่น มีการหยุดหายใจขณะหลับ หรือเกิดการหยุดหายใจเป็นพักๆ ตลอดทั้งคืน ทำให้อวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายขาดออกซิเจน จนเป็นสาเหตุของโรคนอนไม่หลับและอื่นๆ อีกหลายโรค ซึ่งหากปล่อยไว้เรื้อรังมีโอกาสนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพที่ร้ายแรงได้

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ที่จะเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จากการอุดกั้น(obstructive sleep apnea; OSA) ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวเกิน , ผู้ที่แพทย์สงสัยว่าอาจมีภาวะชัก ขณะนอนหลับหรือเป็นโรคลมหลับ(narcolepsy), ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับที่ยังรักษาไม่ได้ หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ เช่น หัวใจวาย ไตวาย ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น

ศ.นพ.ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม หน.ศูนย์นิทรารมณ์ รพ.พระราม 9

“การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือมากจนเกินไป ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณร้ายก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพทั้งสิ้น  รวมทั้งยังกระทบไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ สมาธิลดลง, ความจำลดลง, ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง, ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความรู้สึก เช่น หงุดหงิด เบื่อหน่าย ท้อแท้  ผลกระทบเหล่านี้ หากเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานอาจก่อให้เกิดเป็นโรคอื่น ๆ ตามมาได้ ทั้งโรคทางร่างกาย และโรคทางจิตใจ ดังนั้น หากมีอาการนอนไม่หลับและไม่สามารถกลับสู่การนอนหลับตามปกติได้ด้วยตัวเอง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก่อนที่ปัญหาการนอนจะมีผลกระทบในด้านอื่นๆ” ศ.นพ.ณัฐพงษ์ ทิ้งท้าย

เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก นวัตกรรมของรพ.พระราม 9

แพทย์ผู้รักษาโรคนอนไม่หลับอีกราย พญ. เพชรรัตน์ แสงทอง แพทย์ผู้ชำนาญการโสต ศอ นาสิก จากศูนย์หู คอ จมูก โรงพยาบาลวิมุต บอกว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ  เป็นความผิดปกติของการหายใจขณะหลับชนิดหนึ่งที่คนไทยจำนวนมากไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังเป็น สังเกตได้จากการสะดุ้งตื่นกลางดึก หลับไม่ต่อเนื่อง พอตื่นเช้ามาจะไม่สดชื่น แม้นอนนาน ๆ ก็ยังง่วงตอนกลางวัน  ซึ่งภาวะดังกล่าวส่งผลต่อการใช้ชีวิตในแบบที่หลายคนคาดไม่ถึง เพราะการนอนหลับไม่ปกติ อาจทำให้อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ จนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และหากโชคร้าย ก็อาจเกิดอาการหลับในระหว่างที่ขับขี่ยานพาหนะหรือระหว่างที่ทำงานกับเครื่องจักร จนประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตได้
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน ประเภทที่ 1) คือภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น พบได้มากถึง 80 % ของคนไข้ที่เป็นภาวะนี้ โดยเกิดจากการยุบตัวหรือหย่อนลงของอวัยวะทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ จมูก เพดานอ่อน ลิ้นไก่ โคนลิ้น และฝาปิดกล่องเสียง ซึ่งเกิดขึ้นได้ตอนที่เราหลับและส่วนต่าง ๆ ของร่างกายก็ผ่อนคลาย อวัยวะทางเดินหายใจเหล่านี้ก็อาจหย่อนลงทำให้ปิดทางเดินหายใจ จนเราหยุดหายใจตอนหลับได้ ประเภทที่ 2) คือ ภาวะหยุดหายใจจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง เกิดจากประสาทส่วนกลางสั่งการหยุดหายใจ อันนี้จะพบในกลุ่มคนไข้ที่มีอาการทางสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือ Stroke นอกจากนี้ อาจพบในกลุ่มคนที่เดินทางขึ้นที่สูงมาก ๆ หรือในผู้ที่ใช้ยาหรือสารเสพติดบางชนิด โดยเฉพาะฝิ่นหรือยาแก้ปวดกลุ่ม Opioids ซึ่งทำให้มีการกดการหายใจ หรือแม้แต่คนไข้กลุ่มที่เพิ่งเริ่มใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก ซึ่งเดี๋ยวคุณหมอจะเล่าต่อว่าเหตุใดเราจึงไม่ควรซื้อเครื่องมาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์

ในด้านการรักษายุคนี้  มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์มาช่วยในการรักษา  โดยรพ.พระราม 9   นำเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เรียกว่า ‘เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง หรือเครื่อง CPAP: Continuous Positive Airway Pressure’ มาช่วยรักษาผู้ที่มีปัญหาเรื่องการนอน  ซึ่งเป็นการรักษาที่นิยมและได้ผลดีวิธีหนึ่ง เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบนขณะหลับทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรนธรรมดา หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งมีความรุนแรงตั้งแต่ระดับน้อยถึงรุนแรง

พญ. เพชรรัตน์ แสงทอง จากรพ.วิมุต

หลักการการทำงานของ เครื่อง CPAP นี้ จะใช้แรงดันอากาศในการช่วยเปิดทางเดินหายใจให้โล่งขึ้น เพื่อช่วยให้ออกซิเจนในอากาศ ไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่ายกายได้อย่างเพียงพอ จากนั้น แพทย์จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์และแปลผลการตรวจเพื่อวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ พร้อมทั้งประเมินความรุนแรง เช่น การหยุดหายใจขณะหลับ ระดับออกซิเจนในเลือดขณะหลับ ภาวะเคลื่อนไหวและพฤติกรรมผิดปกติขณะหลับ นอนแขนขากระตุกขณะหลับ การละเมอ ภาวะนอนไม่หลับ และความผิดปกติของการนอนหลับอื่น ๆ ได้

ส่วนโรงพยาบาลวิมุต  พญ. เพชรรัตน์ เผยว่า การรักษามีหลายวิธี ทั้งแบบไม่ผ่าตัดและผ่าตัด  สำหรับแบบไม่ผ่าตัดจะเรียกว่าวิธีอนุรักษ์ อย่างแรกทำได้ด้วยตนเอง คือ การควบคุมน้ำหนัก ดัชนีมวลกายคนไทยควรน้อยกว่า 23 อีกวิธีคือการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดัน ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน  เครื่องฯ จะทำหน้าที่ดูดอากาศในห้องนอน แล้วทำเป็นแรงลมอัดอากาศ เพื่อเปิดทางเดินหายใจขณะนอนหลับ  

“คนไข้ไม่ควรซื้อเครื่องนี้มาใช้เองโดยเด็ดขาด ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการสมองสั่งให้หยุดหายใจ แทนที่จะหายอาจเกิดอันตรายได้” พญ.เพชรัตน์ กล่าว
ยังมีวิธีอีกมากมายที่ช่วยลดอาการได้ เช่น การใส่ทันตอุปกรณ์ เพื่อเปิดทางเดินหายใจส่วนบน, การปรับท่านอน ล่าสุดจะมีเครื่อง Sleep Position Trainer ที่สั่นเตือนให้เรานอนในท่าที่เหมาะสมได้ รวมถึงการฝึกกล้ามเนื้อช่องคอ, การใช้ Nasal Strip ที่ช่วยเรื่องการหายใจและลดอาการกรน หรือแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม ก็ช่วยลดอาการในคนบางกลุ่มได้ ตลอดจนการใช้ยา เช่น กลุ่มโรคอาการจมูกตัน พวกภูมิแพ้มีอาการคัดจมูก การพ่นยาเพื่อเปิดจมูกก็อาจช่วยเรื่องกรนได้

สำหรับการรักษาด้วยการผ่าตัด คุณหมอเพชรรัตน์ บอกว่าปัจจุบันนี้มีเทคนิคการผ่าตัดมากมายที่ทันสมัย ส่วนจะผ่าตัดอวัยวะทางเดินหายใจส่วนใด ขึ้นอยู่กับว่าเราตีบหรือตันตรงไหน เช่น จมูก เพดานอ่อน โคนลิ้น เป็นต้น คนที่ลองทำตามวิธีที่อธิบายไปข้างต้นแล้วไม่ได้ผล ก็อาจต้องลองวิธีผ่าตัด ท้ายที่สุดแล้ว จะใช้แนวทางการรักษารูปแบบใด ทั้งแบบผ่าหรือไม่ผ่า ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์และทำการตรวจร่างกายก่อน พร้อมการทำ Sleep Test เพื่อดูความรุนแรงของโรค

“ที่สำคัญ  อย่าปล่อยให้อาการเรื้อรัง เพราะอีกหลายโรคจะตามมา ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบต่อทุกระบบในร่างกายอย่างไม่น่าเชื่อ โดยโรคนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคความดัน ไขมัน เบาหวาน และอ้วนลงพุง นอกจากนี้ ยังเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคความจำเสื่อม มีความผิดปกติทางอารมณ์ และเป็นโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย ขอแนะนำให้ผู้มีอาการเสี่ยงพบแพทย์เพื่อรักษาอาการ ก่อนที่โรคจะรุนแรงและส่งผลต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกายในภายหลัง” พญ.เพชรรัตน์กล่าว.
————————-

เพิ่มเพื่อน