'ปอยส่างลอง' ต้องไปเห็นสักครั้ง เป็นบุญตา

ประเพณีปอยส่างลอง  มีเอกลักษณ์ที่แสนโดดเด่น งดงาม ยิ่งใหญ่อลังการ  เป็นประเพณีหนึ่งเดียว ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน  และเป็นงานบุญที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัด  อันเกิดจากความเชื่อและศรัทธาของชาวไทใหญ่ต่อพุทธศาสนาสืบทอดกันมายาวนาน งานบุญนี้จัดขึ้นเพียงปีละครั้งในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน  แต่กระจายอยู่ในทุกอำเภอของจังหวัด  คนต่างถิ่น ที่อยากเห็นความตื่นตาตื่นใจกับเครื่องแต่งกายของส่างลอง เครื่องดนตรี  และริ้วขบวนงดงาม ประซึ่งถ้าไม่มาที่แม่ฮ่องสอน  ก็จะไม่มีโอกาสได้เห็น

ขบวนแห่โคหลู่

ก่อนพาไปชมความอลังการของประเพณีปอยส่างลอง คงต้องทำความรู้จักในความหมายประเพณีนี้ก่อนว่าคืออะไร คำว่า “ปอย “หมายถึง งานหรือเหตุการณ์ ส่วนคำว่า”ส่างลอง” หมายถึง เด็กชายหรือชายหนุ่มก่อนเป็นสามเณร ซึ่งก็มีหลายตำนานคำบอกกล่าวแตกต่างกันไปตามพื้นที่ ในบันทึกจากหนังสือไทใหญ่ และการให้ข้อมูลจากแม่เฒ่าเจงหยิ่ง ทิพกนก ที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว  บอกเล่าว่า   ในสมัยพุทธกาล มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองเมืองหย่าจะโก่ยว ด้วยความตั้งใจของพระองค์  ขณะที่ พระโอรสที่อยากบวชเรียนในพระพุทธศาสนา จึงได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อศึกษาพระธรรมกับพระพุทธเจ้า  โดยในการจัดเตรียมพิธีสำหรับบรรพชาพระโอรส ได้ทรงประดับประดาพระโอรสด้วยเครื่องทรงของกษัตริย์  ซึ่งเป็นเครื่องทรงคล้ายกับกษัตริย์พม่าโบราณ  มีการแห่ และจัดเลี้ยงข้าราชบริวารนานถึง 7 วัน จากนั้นก็นำเข้าสู่พิธีบรรพชา จึงอาจกล่าวได้ว่า ปอยส่างลองเกิดขึ้นตั้งแต่ในสมัยพุทธกาลเป็นต้นมาแล้ว

วีนโกน ส่างลอง

  ส่วน”ส่างลอง”ที่เด็กชายที่บรรพชา ถือได้ว่าเป็นบุคคลศักดิ์ หรือหน่อพุทธางกูร จึงได้รับการดูแลเป็นพิเศษอย่างใกล้ชิด ยามจะไปไหนต้องขี่คอตะแป(พี่เลี้ยงส่วนตัว) เพื่อไม่ให้เท้าแตะถูกพื้นดิน ดูแลไม่ให้คลาดสายตา การที่ลูกชายได้บวชในพิธีปอยส่างลอง ถือว่าป็นบุญอันยิ่งใหญ่ของพ่อแม่ พ่อแม่ขาม(พ่อแม่อุปถัมภ์) และคนในครอบครัวที่ได้จัดงาน

จีเจ่ หรือกังสดาล ระฆังที่ก้องกังวาลบอกบุญ

งานปอยส่างลองปีนี้ ทางกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม  ร่วมกับจังหวัดเเม่ฮ่องสอน  สืบสานประเพณีปอยส่างลอง จัดงานบรรพสามเณรปอยส่างลอง เฉลิมพระเกียรติกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน 2566 โดยมีส่างลองและจางลองเข้าบรรพชา 50 องค์ ณ วัดในสอย ต.ปางหมู อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน

ผู้อาวุโสผู้หาม อุปเจ้าพารา

บ้านในสอย เป็นหมู่บ้านเล็กๆที่มีพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเมียนมา  ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่จึงจะเป็นชาวไทใหญ่ และมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆอาศัยอยู่ร่วมกัน อาทิ กระเหรี่ยงแดง ปะโอ กระเหรี่ยงคอยาว ซึ่งประเพณีปอยส่างลอง ก็จะมีจางลอง ผู้ที่บรรพชาเป็นพระภิกษุด้วย การจัดงานจะมีราวๆ 3 วัน โดยวันแรกจะเป็นวันโกนผม ส่วนในวันที่สองที่เราเดินทางมาร่วมงาน คือวันแห่โคหลู่หรือเครื่องไทยธรรมของประเพณีปอยส่างลอง เราจะได้เห็นบรรยากาศอันสนุกครึกครื้นของการตั้งขบวนแห่ที่ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งในปีนี้มีพ่อแม่ของส่างลองร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการจัดงานปอยส่างลอง ขบวนที่ทอดยาวอยู่บนถนนเส้นหลักในต.ปางหมู หน้าบ้านพ่อหลวงบ้านในสอย

ม้าเจ้าเมือง เยื้องย่างอย่างงดงาม

ในขบวนจะประกอบด้วย ผู้นำขบวนซึ่งเป็นผู้สูงอายุจะนุ่งขาวห่มขาวด้วยชุดของไทใหญ่ซึ่งจะตี จีเจ่ หรือกังสดาล ระฆังโบราณให้ดั่งก้องทั่วพื้นที่เพื่อให้ผู้คนได้ร่วมอนุโมทนา    ตีลั่นเป็นจังหวะ เคียงคู่มากับอุปเจ้าพารา ซึ่งเป็นเครื่องไทยธรรมถวายพระพุทธ ตามมาด้วยขบวนพานดอกไม้ ถัดมาจะเป็นม้าเจ้าเมือง เป็นม้าทรงของเจ้าเมือง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเชื่อว่าจะทำให้งานดำเนินไปอย่างเรียบร้อย โดยจะมีการคัดม้าที่สวย สง่า และเชื่อง มีการตกแต่งและดับดอกไม้ให้ม้า หลังท้าจะใส่อานปูด้วยผ้า ซึ่งชาวบ้านจะมีการอัญเชิญเจ้าเมืองนั่งประทับ

ต้นตะเป่ส่า

  ขบวนได้เคลื่อนๆไปอย่างช้าๆ ใต้แสงแดดยามเช้าๆที่ยังไม่ร้อนมากนัก ต่อไปก็จะขบวนของต้นตะเป่ส่า หรือตันกัลปพฤกษ์ มีความหมายในการเกิดในสวรรค์  ต้นตะเป่ส่าถวายวัดก็จะเป็นการตกแต่งด้วยถ้วยชาม จาน แก้วน้ำ หม้อ ต่อขบวนของกลองก้นยาว กลองมองเชิง ที่สร้างความสนุกสนานให้ขบวน และมีพี่น้องชาวปะโอ กะเหรี่ยงแดง กะเหรี่ยง และไทใหญ่ แต่งกายด้วยชุดชาติพันธุ์สวยงามร่วมเดินขบวน และทำการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์ให้ได้ชมด้วย ถัดไปก็จะเป็นขบวนเทียนเงิน-เทียนทอง พุ่มเงิน-พุ่มทอง กรวยหมากพลู กรวยดอกไม้ และอีกขบวนที่สำคัญคือขบวนครัวหลู่ ที่จะนำเอาเครื่องอัฐบริขารที่ใช้ในการบรรพชา และเครื่องไทยธรรมมาร่วมแห่ ซึ่งผู้หามจะเป็นคนในครอบครัวของส่างลอง ต่อที่ขบวนปุ๊กข้าวแตก เป็นการหอข้าวตอกด้วยกระดาษสา ผูกติดกับธงสามเหลี่ยมที่เรียกว่า จ๊ากจ่า ใช้แทนดอกไม้เพื่อแจกให้ผู้มาร่วมงาน

ต้นตะเป่ส่าถวายวัด

เดินชมขบวนจนมาถึงขบวนของส่างลองและจางลอง ซึ่งอยู่เกือบขบวนสุดท้าย แต่ก็ได้ยินเสียงโห่ร้องพร้อมกลองก้นยาวที่บรรเลงเป็นจังหวะสนุกสนาน ในขบวนแห่ในวันนั้นส่างลองแต่งตัวดั่งเทวดา เหมือนกับที่ชาวไทใหญ่เขาได้บอกว่าการบรรพชาครั้งเป็นงานบุญที่พ่อแม่ หรือแม้แต่คนไม่มีลูกชาย   ก็ทุ่มเทหาเงินเพื่อมาจัดงาน ให้ยิ่งใหญ่

ขบวนกลองก้นยาว บรรเลงกันอย่างครึกครื้นตลอดการเคลื่อนขบวนโคหลู่

ความงดงามของพิธีอยู่ที่ “ส่างลอง”ที่เปรียบประหนึ่งเป็นหน่อพุทธางกูร   แต่งกายด้วยเครื่องทรงเหมือนกษัตริย์ สวมมงกุฏที่ตกแต่งด้วยดอกไม้มงคล สวมถุงเท้ายาวสีขาว ใบหน้ามีการแต่งแต้มด้วยเครื่องสำอางสีสันสดใส บางก็วาดดอกไม้ หรือลวดลายต่างๆบนใบหน้าของส่างลองให้สวยดุงดั่งเทวดา และจะขึ้นขี่คอตะแป ความสนุกคือการโยกย้าย ให้อารมณ์เหมือนการแห่นาคบ้านเรา ทั้งตะแป ส่างลอง และผู้ร่วมงาน ก็ต่างโยกย้าย ร่ายรำ ตามจังหวะของดนตรีอย่างสนุกสนาน ใบหน้าของแต่ต่าฃยิ้มแย้ม ส่งเสียงประกอบจังหวะ แม้แดดจะเริ่มร้อนแต่ใบหน้าของผู้คนในงานวันนั้นได้เปื้อนความปิติที่ได้มาร่วมงานบุญปอยส่างลอง

พุ่มเงิน-พุ่มทอง ที่ถือโดยชาวกระเหรี่ยงแดง

ขบวนเดินมาจนถึงวัดที่ส่างลองจะเข้าบรรพชาที่วัดในสอย โดยก่อนจะขึ้นไปยังศาลาการเปรียญเพื่อทำการพิธีทางพุทธศาสนา จากนั้นก็จะรับประทานอาหารกลางวันและพักผ่อน โดยงานจะมีขึ้นอีกวัน เรียกว่าวันข่ามส่าง จะเป็นการนำส่างลองบรรพชาสามเณร และจางลอง บรรพชาเป็นพระภิกษุ ทำพิธีสงฆ์ตามหลักพระพุทธศนา

ใบหน้าส่างลองที่ได้รับประทินเครื่องสำอางอย่างงดงาม

 โดยในงานนี้ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม  ประธานฝ่ายฆราวาส กล่าวว่า การจัดบรรพชาสามเณรตามประเพณีปอยส่างลองในครั้งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการจัดบรรพชาสามเณรและบวชศีลจาริณีเพื่อเป็นต้นแบบมาแล้ว ทั้งในส่วนกลางที่ วัดยานนาวา และส่วนภูมิภาคที่วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี และวัดราชบุรณะ จ.ชุมพร  โดยที่จ.แม่ฮ่องสอนจะเป็นการบรรพชาตามแบบประเพณีปอยส่างลอง 2 ครั้ง จำนวนกว่า 100 องค์ ที่เกิดจากแรงศรัทธาของบิดา มารดาของคนไทใหญ่ และนับว่าเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบุพการีและผู้มีอุปการคุณอีกด้วย ซึ่งเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจะได้ศึกษาและปฏิบัติธรรม อาทิ ธรรม วินัย พุทธประวัติ เทศนา ศาสนพิธี ภาวนาและฝึกสมาธิ เป็นการพัฒนาจิตให้สงบ ทั้งยังเป็นการจรรโลงศาสนาทำให้เกิดศาสนทายาทในบวรพระพุทธศาสนาสืบไป.

จางลอง ที่จะบรรพชาเป็นพระภิกษุ
แห่ส่างลอง ร่ายรำกันอย่างสนุกสนาน
ขบวนโคหลู่ มุ่งหน้าสู่วัดในสอย
ชาวชาติพันธุ์ร่วมเดินขบวนโคหลู่


เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โค้งสุดท้าย…ชวนนักเรียน นักศึกษา ส่งผลงานเข้าประกวด ‘การประกวดละครเพลงต่อต้านการทุจริต’ ประจำปี ๒๕๖๖ ปิดรับผลงาน ๓๐ ก.ย. ๒๕๖๖

กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ มูลนิธิต่อต้านการทุจริต บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

วัดมหาธาตุฯ จัดงานสมโภชพระอารามหลวงครบ 338 ปี เฉลิมพระเกียรติในหลวง

พระพรหมวชิราธิบดี เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร เปิดเผยว่า นับตั้งแต่การก่อตั้งวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งเดิมชื่อว่าวัดสลัก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

เฮลั่น! ยูเนสโกขึ้นทะเบียน 'เมืองโบราณศรีเทพ' มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เป็นประธานแถลงข่าวการประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

วธ.คว้ารางวัล'สำเภา-นาวาทอง'

14 ก.ย.2566 - นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เข้ารับมอบรางวัล “สำเภา-นาวาทอง” ปี 2566 จากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย

ยลผ้าซิ่นงามที่พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณฝ้ายเงิน

ใครที่เคยขึ้นเหนือไปจังหวัดน่าน น่าจะมีโอกาสได้สัมผัสผ้าซิ่นตีนจกลายน้ำไหล ผ้าทอพื้นเมืองโบราณของชาวน่านที่ยังคงอัตลักษณ์โดดเด่นและมีการสืบทอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้ามาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งมีหลายชุมชนรวมตัวกันตั้งกลุ่มผ้าทอแบบโบราณเพื่อสืบสานวัฒนธรรม ตลอดจนมีพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมผ้าโบราณ

เสริมศักดิ์ชูวัฒนธรรมสร้างรายได้ ลุย’1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์'

ถือฤกษ์ดีเข้ากระทรวงวัฒนธรรมวันแรก นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช ภรรยา เดินทางเข้ากระทรวงวัฒนธรรม ถนนรัชดาภิเษก โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง หัวหน้าส่วนราชการ ให้การต้อนรับ